03 มีนาคม 2560

ไตเสื่อม…คำพูดที่ง่าย แต่ผลที่ตามมามันมากมาย

ไตเสื่อม…คำพูดที่ง่าย แต่ผลที่ตามมามันมากมาย
ระยะสี่ห้าเดือนมานี้ เวลาซักประวัติคนไข้จะได้ประวัติว่าเป็นไตเสื่อมเพิ่มมากขึ้น ในมุมมองของคนไข้มันน่ากลัวนะครับ และจะฝังใจไปตลอดว่าไตเสื่อมไตวาย ในมุมมองของหมอที่รับดูแลต่อเนื่อง ก็จะกังวลเพิ่มเติมว่าจะปรับยาอย่างไร มียาอะไรต้องระวัง ฉีดสีได้ไหม โภชนาการต้องจัดอย่างไร … แต่ !!! หยุดก่อนเลย..
สิ่งที่พบ ไม่ใช่ผมคนเดียว ทั้งเพื่อนร่วมงาน ในเพจ บอกเล่าให้ฟังและผมก็คิดว่า เป็นประเด็นที่ต้องพิจารณาด้วย คือ เราไม่สามารถใช้ค่า eGFR เพียงอย่างเดียวเอามาตีความว่าคนไข้ไตเสื่อมนะครับ เพราะว่า เมื่อได้ค่า creatinine ยุคสมัยนี้เอาไปใส่เครื่องอัตโนมัติ ออกมาเป็น GFR หรือ มากกในแอปมือถือกันหมด พอออกมาก็ได้ค่า GFR เอามาเทียบทันทีว่าเป็น โรคไตเสื่อม CKD ระยะเท่าไร บางแล็บทำให้อัตโนมัติทุกรายเลย …สรุปคนไข้จึงเป็นไตเสื่อมเรื้อรังกันเยอะมาก !!!!
การวินิจฉัยไตเสื่อมเรื้อรังนั้น นอกจากใช้ GFR ซึ่งต้องดูการเปลี่ยนแปลงไม่ต่ำกว่าสามเดือน แล้วยังต้องใช้หลักฐานโรคไตเรื้อรังเช่น ภาพอัลตร้าซาวนด์ หรือ โปรตีนรั่วในปัสสาวะ เจ้าค่าโปรตีนรั่วนี้ใช้ง่ายและนิยมใช้ทั่วไป จึงเอามาใช้หลัก คือ GFR ลดลงตามตาราง และ มีโปรตีนรั่วมาในปัสสาวะตามตาราง โดยมีการเสื่อมถอย ไม่ดีขึ้นอย่างน้อยสามเดือน จึงจะมาบอกว่าไตเสื่อม
และที่สำคัญกว่านั้น ก็ต้องผ่านการซักประวัติ ประเมินความเสี่ยง โรคร่วมอะไร ใช้ยาอะไร ที่จะเป็นเหตุให้ไตเสื่อม ตรวจร่างกายหาโรคร่วมและหลักฐานไตเสื่อมอื่นๆ ก่อนที่จะส่งแล็บและคำนวน แม้แต่ซักประวัติ ตรวจร่างกายแล้ว ได้ผลแล็บมาแล้วก็ยังต้องคิดก่อน ว่าผลแล็บถูกต้องหรือไม่ มีบวกปลอม ลบปลอมหรือไม่ ทำจนครบถ้วนกระบวนความแบบนี้แล้ว จึงจะบอกได้ว่า..ไตเสื่อมเรื้อรัง ..และเข้าสู่การรักษาเพื่อชะลอความเสื่อมต่อไป
เมื่อเทคโนโลยี ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เราก็ต้องใช้อย่างถูกต้องเหมาสมด้วย เข้าใจที่มา เข้าใจที่ใช้ เข้าใจข้อจำกัด
… อย่าลืม ทักษะทางคลินิก การคิดเชิงคลินิก ไม่มีอะไรมาทดแทนได้
… อย่าลืม รักษาคนที่มีจิตใจ ความรู้สึก ไม่รักษาแค่ ปัญหาหรือผลการตรวจ
…อย่าลืม ว่าเรารักษาคนไข้วันละหลายโรค แต่คนไข้เขาอยู่กับโรค ตลอดไป
ลิงค์เรื่องการวินิจฉัยไตเสื่อมเรื้อรัง
http://medicine4layman.blogspot.com/2016/…/blog-post_10.html
รักพวกคุณทุกคน
อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม