20 มีนาคม 2560

ตรวจหัวใจด้วยการเดินสายพาน

หมอนัดไปเดินสายพาน..ทำอะไร แล้วเพื่ออะไร

การตรวจการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ขณะที่หัวใจทำงานสบายๆ กับ ขณะที่หัวใจต้องรีดเค้นสมรรถนะ มันต่างกัน หรือการตรวจหัวใจในขณะขาดเลือดเฉียบพลันก็ต่างกันออกไป วันนี้เราลองมาดูการตรวจด้วยการเดินสายพานกัน ซึ่งถือว่าเป็นการตรวจที่ไม่อันตรายและราคาไม่แพง

การเดินสายพาน..คือการตรวจการทำงานของหัวใจโดยใส่ตัวกระตุ้นการทำงานเข้าไป เพื่อดูว่าในขณะต้องการการทำงานของหัวใจมากๆ หัวใจจะยังปกติดีหรือเปล่า จะขาดเลือดไหม เราจึงใช้การตรวจนี้เพื่อประเมินและพยากรณ์โรค (เรื่องการพยากรณ์นี่ยากไปหน่อย เอาแค่การตรวจวินิจฉัยแล้วกัน) เพื่อหาหลักฐานของหัวใจขาดเลือดขณะที่กล้ามเนื้อต้องทำงานหนัก
เราใช้การเดินสายพาน ก็เป็นสายพานวิ่งเรานี่แหละครับ (treadmil machine) แต่ว่าเราเดินเอานะ ไม่ต้องวิ่ง เครื่องสายพานจะเชื่อมต่อเครื่องกับคอมพิวเตอร์เพื่อควบคุมให้ได้...สูตร..หรือ โปรโตคอล ที่เราคิดกันมาแล้วว่าเดินด้วยวิธีนี้แหละจะสามารถประเมินได้ เมื่อเราเริ่มเดิน เครื่องจะเริ่มปรับความเร็วทีละน้อย ปรับความชันทีละน้อย เรียกว่าทำให้เหนื่อยขึ้นนั่นแหละครับ เพื่อดูว่าหัวใจจะตอบสนองอย่างไร (ที่ใช้บ่อยๆก็ Bruce หรือ modified Bruce Protocol) บันทึกค่าความดัน ชีพจร และคลื่นไฟฟ้าตลอดเวลา

แล้วจะตรวจวัดอะไรล่ะ..ในอดีตเราจะใช้อาการเจ็บแน่นหน้าอก เป็นตัวบอกว่าหัวใจเริ่มผิดปกติแล้วนะในขณะที่เดินๆไป แต่ว่ามันดูไม่เป็นรูปธรรมเลยอาจจะเกิดจากหลายสาเหตุ ปัจจุบันจึงใช้การเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจแทน ถ้าเดินๆไปแล้วเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงของคลื่นไฟฟ้าหัวใจก็บอกได้ว่ามีความผิดปกติ ยิ่งถ้ามีอาการเจ็บอกด้วย ยิ่งมั่นใจ
(อย่างน้อย 3 beats ในlead ติดกันอย่างน้อย 2 leads โดยมี ST segment ถูกกดลงไม่น้อยกว่า 1 มิลลิเมตร .. ผมจำ 3-2-1)

แต่ว่าที่ว่าจะบอกได้นั้น ก็ต้องเดินจนถึงระดับที่หัวใจเหนื่อยเพียงพอ ในอดีตจะวัดการใช้ออกซิเจน ที่ต้องใส่ตัววัดในปากด้วย เรียกว่า ต้องออกแรงจนให้ได้การใช้ออกซิเจนสูงสุด (maximum oxygen consumption) จึงจะเรียกได้ว่า โอเค ทดสอบได้ดีนะ หัวใจทำงานมากพอแล้ว จะเกิดเหตุหรือไม่ จะแปลผลได้
มันก็ยุ่งยาก...ปัจจุบันใช้ค่า 85% ของอัตราการการเต้นสูงสุดของหัวใจแทนเพราะสะดวกกว่า เรียกว่าต้องเดินจนให้ถึงขนาดที่หัวใจเต้น 85% จึงแปลผลการทดสอบนี้ได้ดี (อัตราสูงสุด เครื่องจะคำนวนมาให้ครับ ) มีการทดสอบแล้วว่าพอๆกับที่ระดับการใช้ออกซิเจนสูงสุด ในกรณีต้องยุติก่อน เราก็จะเรียกว่าทดสอบได้ไม่สมบูรณ์ (submaximal HR)

เราก็เดินไป โดยมีอุปกรณ์ต่างๆติดที่อก จนครบตามสูตร ตามเวลาที่กำหนด หรือจนกว่ามีการเปลี่ยนแปลงคลื่นไฟฟ้าที่มีความสำคัญ (ไม่ต้องกังวลตรงนี้มีคุณหมอหรือนักเทคนิคการเดินสายพานเข่จ้องมองอยู่ครับ) หรือเดินไม่ไหว
ก็จะได้กระดาษรายงานผลมาหนึ่งแผ่น เอามาแปลผลต่อไป ..การแปลผลไม่ได้กล่าวถึงนะครับ..น้องๆแพทย์สามารถหาอ่านได้ไม่ยาก ที่เพจ 1412 cardiology ผมอ่านมาหลายที่แล้ว ที่นี่แหละ คมชัดลึก ที่สุดแล้ว

ถ้าผลการทดสอบออกมาว่ามีการขาดเลือด เราก็ต้องไปตรวจต่อไปครับ อาจจะฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ ถ่ายภาพซีที ทำอัลตร้าซาวนด์หัวใจ ก็ว่ากันไป
การตรวจนี้มีข้อห้ามที่ชัดเจน คือ โรคหัวใจที่ยังคุมไม่ได้..รายละเอียดใน AHA/ACC 2002..สำหรับคุณหมอนะครับ ต้องพิจารณาก่อนที่จะลงมือทำ น้องๆเรซิเด้นท์และเฟลโล่ ต้องทราบ ต้องรู้ ผมทำลิงค์มาให้แล้ว

http://circ.ahajournals.org/content/96/1/345

ที่อยากฝากไว้คือ กินยาอะไรอยู่ให้บอกคุณหมอที่จะทดสอบให้ดูยาทุกตัว ยาบางตัวต้องหยุด ยาบางตัวต้องกินต่อ สำคัญนะครับ อาจทำให้การแปลผลผิดได้เลย
ผู้ทดสอบก็ต้องฟิตพอ คือเดินได้ ต้องงดอาหารมาก่อนทดสอบ และเดินได้นานพอ ถ้าไม่ไหว เราอาจใช้การปั่นจักรยานแทนการเดิน (ปั่นแนวราบ) หรือใช้การหยดยากระตุ้นหัวใจแทนการกระตุ้นด้วยการเดินสายพาน แล้ววัดคลื่นไฟฟ้าและอัลตร้าซาวนด์หัวใจเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงแทนวิธีปกติ ...แต่แพงกว่า ยุ่งยากกว่านะครับ

ไม่แนะนำให้ทดสอบโดยที่ไม่มีอาการ ไม่มีข้อบ่งชี้ ห้ามคิดว่าไปเดินสายพานทดสอบดูอย่างเด็ดขาดนะครับทั้งๆที่เราปกติดี เสี่ยงต่ำ เพราะการทดสอบนี้ไม่ไว ไม่จำเพาะ จะใช้ได้คือต้องมีความน่าจะเป็นโรคมาก่อนที่จะเข้ารับการทดสอบพอสมควร การทดสอบจึงเชื่อถือได้...ไม่อยากให้เสียเงิน เสียเวลา โดยไม่จำเป็นครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม