08 มีนาคม 2560

การตรวจเชิงกราน USPSTF 207

วันนี้วันสตรีสากล อายุรแพทย์จึงต้องขอนอกเรื่องสักหน่อย..กับเรื่องผู้หญิงๆ
  เมื่อวานนี้ United States Preventive Services TaskForce ได้ออกคำแนะนำเรื่องนี้ก่อนวันสตรีสากลหนึ่งวันพอดี คงเจตนาแหละครับ .. เข้ากับเทศกาล คำแนะนำนั้นคือ แนะนำว่าสุภาพสตรีที่ไม่มีอาการใดๆและไม่ได้ตั้งครรภ์ ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในเพื่อคัดกรองความผิดปกติทางระบบนรีเวช เนื่องจากไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าได้ประโยชน์หรือเกิดโทษที่ชัดเจน  เรามาดูรายละเอียดกัน
    ต้องเข้าใจก่อนว่าการตรวจเชิงกรานนั้น ก็อย่างที่ทราบครับ ขึ้นขาหยั่ง ตรวจอวัยวะเพศภายนอก ใช้เครื่องมือสอดช่องคลอดตรวจดูอวัยวะเพศและช่องคลอด ปากมดลูก ใช้มือคลำช่องคลอด ปากมดลูก มดลูก กดทางหน้าท้องด้วย พื้นที่บริเวณข้างมดลูก แอ่งหลังมดลูก และต้องใช้นิ้วตรวจทางทวารหนักพร้อมกับตรวจทางช่องคลอดในเวลาเดียวกัน ในกรณีพบความผิดปกติก็จะตรวจเพิ่มเติม
   การตรวจมะเร็งปากมดลูกโดยใช้อุปกรณ์เก็บเซล ที่เรียกว่า แปบสเมียร์ นั่นเป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งคำแนะนำที่ออกมาใหม่นี้ไม่ได้รวมการตรวจแปบสเมียร์ ซึ่งไม่ได้มากขั้นตอน และไม่ต้องคลำมากมายเหมือนการตรวจเชิงกรานครับ
   การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในคนปกติทั่วไปก็ให้ทำตามปกติ ดีแล้ว ...หรือคนที่มีอาการทางช่องคลอดมดลูก เช่น ตกขาว เลือดออก คลำก้อนได้ อันนั้นต้องตรวจเพื่อวินิจฉัยอยู่แล้ว คนที่มีข้อบ่งชี้อื่นๆเช่น ใส่ห่วงคุมกำเนิด เคยเป็นก้อน อันนั้นตรวจเพื่อติดตามเหมาะสมแล้ว   แล้วคนที่ปกติดีๆล่ะ ไม่มีโรคหรือภาวะใดๆ ต้องไปคลึง ไปคลำ ไปนวดมดลูกไหม ..คือคำแนะนำอันนี้ครับ
    การศึกษารวบรวมบอกว่า โอกาสจะตรวจเจอความผิดปกติมีไม่มาก โอกาสจะเจอผลบวกปลอม คือ ไปตรวจเจอทั้งๆที่มันก็ไม่เป็นอะไร หรือผลลบปลอมคือ ตรวจไม่เจอทั้งๆที่มันมีโรคอยู่ โอกาสเจอของปลอมมากเท่าๆกับเจอของจริง..ย้ำว่านี่คือข้อมูลในคนที่ไม่มีอาการหรือข้อบ่งชี้ใดๆนะครับ .. จึงยังไม่แนะนำให้ตรวจเป็นการทั่วไปทุกคน เพราะข้อมูลไม่ดีพอครับ บางทีไปเจอภาวะที่แปลกจากทั่วไปแต่ไม่ได้เป็นโรค อาจไปตีความว่าผิดปกติ นำพาไปสู่ความเครียด การตรวจเพิ่มเติมหรือการรักษาโดยไม่จำเป็นได้ เช่น อัลตร้าซาวนด์ เจาะตรวจต่างๆ
   ก่อนหน้านี้ สมาคมสูตินรีแพทย์อเมริกาเคยออกคำแนะนำว่า อายุเกิน 21 ตรวจเชิงกรานทุกคนทุกปี แต่ต่อมาข้อมูลเรื่องโอกาสพบโรคในคนที่เสี่ยงน้อย และ อาจต้องไปทำการตรวจที่เจ็บและแพงมาก เริ่มออกมามาก จึงให้คุยกับคนไข้เป็นรายๆไป ไม่ได้ทำทุกคน
  จนเมื่อ ปี 2013 the Well Woman Taskforce โดยสมาคมสูตินรีแพทย์อเมริกาเองก็ปรับเปลี่ยนว่า ควรคุยกับคนไข้เป็นรายๆไป ไม่ได้ทำทุกคนเหมือนเดิม และ พิจารณาทำถ้ามีข้อบ่งชี้เฉพาะ
*** การตรวจเชิงกรานแบบครบ..กับ..การคัดกรองมะเร็งปากมดลูก..คนละอย่างกันนะครับ ***
   ใครอยากอ่านฉบับเต็มไปที่ www.uspreveniveservicestaskforce.org มีให้โหลดไปอ่านฟรีครับ รายละเอียดค่อนข้างดี และค่ายนี้ไม่สุดโต่งเรื่องวิชาการ เขาคิดถึงความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ และ จิตใจคนด้วย
   หันไปอ่านชื่อเพจอีกทีซิ อายุรศาสตร์ หรือ สูติ-นรีเวช กันแน่
เครดิตภาพ : www.februarycalendars.evleniyor.net

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม