18 สิงหาคม 2563

สรุปการศึกษาเพื่อการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

 วันนี้เราจะมาอ่านและวิเคราะห์วิจารณ์ "สรุปการศึกษาเพื่อการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือดสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน" ลงตีพิมพ์ใน Journal of American Colleges of Cardiology โหลดฟรี อ่านฟรี

แต่ขอบอกก่อนมันไม่ใช่ Guidelines ไม่มีคำแนะนำให้ต้องทำหรือควรทำ ไม่มีระดับความน่าเชื่อถือ เพราะไม่ได้มาจากคำถามทางคลินิก (clinical questions) เป็นผู้เชี่ยวชาญจาก ACC และ ADA มาสรุปรวมกัน (มี overseas comittee คนไทยด้วยนะคือ Chayakrit Kittanayong)

ผมจะไล่เรียงสรุปเป็นข้อ ๆ เพื่อให้เข้าใจและอ้างอิงข้อได้ ขอย้ำว่าเป็นภาษาทั่วไปสำหรับประชาชน ไม่ได้เป็นการแปล แต่เป็นการเล่าเรื่องที่หากคุณอ่าน ก็จะเกิดคำถามแบบที่ผมคิด ผมก็จะถามและตอบไปในตัว พร้อมนะ ... ไปกัน กับตอนแรก แนวความคิดเรื่องการป้องกันความเสี่ยง

1. ทำไมจะต้องมาลดความเสี่ยงด้วย เพราะว่าโรคเบาหวานนั้นทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสูงมาก และอัตราการเสียชีวิตอันดับหนึ่งของโรคเบาหวานคือโรคหัวใจ รองมาคือโรคไต หากเราตั้งเป้าแต่จะควบคุมน้ำตาลให้ดี โดยไม่ได้ลดความเสี่ยงนี้แล้วล่ะก็ .. แม้จะควบคุมน้ำตาลได้ดี การรักษาจะไม่บรรลุเป้าหมาย คือ โรคหัวใจและหลอดเลือดไม่ลดลงเท่าที่ควร

1.1 ด้วยข้อกำหนดนี้ องค์การอาหารและยาสหรัฐ "บังคับ" ให้ยาเบาหวานจะต้องมีการศึกษาเพื่อพิสูจน์ว่าไม่ทำให้โรคหัวใจเพิ่มขึ้น หรือถ้าจะให้ดีน่าจะลดโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย แม้ไม่ได้กำหนดว่าจะเป็นการศึกษาแบบใด แต่ยุคนี้ผู้ผลิตยาใช้การศึกษาทดลองทางคลินิก ร่วมกับการติดตามจากการรักษาจริงทั้งสิ้น

1.2 การลดความเสี่ยงนี้ บางส่วนเกิดจากระดับน้ำตาลที่ควบคุมได้ดี บางส่วนก็เกิดจากยา เพราะผลจากการศึกษาออกมาว่า ความเสี่ยงนั้นลดลงในกลุ่มที่รักษาให้ยาเพิ่ม โดยที่ไม่ขึ้นกับระดับน้ำตาลที่ลดลง

2. อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบมาตรฐานโดยไม่ใช้ยา คือ การควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย ตรวจตาตรวจเท้า ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะใช้ยาหรือไม่ก็ตาม การรักษาแบบไม่ใช้ยา นอกจากจะลดน้ำตาลในเลือดได้ ยังทำให้ร่างกายโดยรวมแข็งแรง ลดการเกิดโรคและความรุนแรงของโรคได้ โดยไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ

3. ในอดีต เรามีการศึกษาว่าระหว่างควบคุมอาหารอย่างเดียว กับ ควบคุมอาหารด้วยพร้อมใช้ยาด้วย มันจะลดอัตราการเสียชีวิต อัตราการเกิดโรคหัวใจลงไหม มีหลายการศึกษาที่ออกมาและบอกว่า การรักษาด้วยยาจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนได้มากกว่า นั่นคือ มันมีปัจจัยอื่นที่มาเกี่ยวข้อง ไม่ใช่แค่ลดน้ำตาล ยกตัวอย่างคือ การใช้ยา metformin โดยเฉพาะในการศึกษา UKPDS

4. ผ่านไปหลายสิบปี หลายการศึกษาและหลายแนวทาง ได้ข้อสรุปชัดเจนออกมาว่า การรักษาเบาหวานประกอบด้วย การควบคุมระดับน้ำตาล และการลดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด และแปลออกมาเป็นการรักษาสองแบบคือรักษาแบบไม่ใช้ยาเสมอ และใช้ยาลดน้ำตาล หากเป็นยาที่ลดน้ำตาลก็ได้ ลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจก็ได้ด้วย ก็จะยิ่งมีประโยชน์ ในอดีตมียาที่ทำได้คือ metformin

5. จากข้อมูลการศึกษา ณ ปัจจุบัน เรามียาอีกสองตัวที่สามารถ ลดน้ำตาล + ลดความเสี่ยงโรคหัวใจ คือ ยา SGLT2i ยากลุ่ม Gliflozin และ ยา GLP1a ยากลุ่ม -glutide (ยากลุ่ม GLP1a มีอีกกลุ่มคือ -natide ที่ข้อมูลสนับสนุนเรื่องลดความเสี่ยงน้อยกว่า -glutide) คำแนะนำอันนี้จะใช้ยาสองชนิดนี้เป็นหลักครับ

อย่าลืมติดตามตอนต่อไปนะครับ เกี่ยวกับการลดโอกาสการเกิดโรคหัวใจโดยยาสองตัวนี้

ในภาพอาจจะมี ข้อความพูดว่า "เบาหวาน new normal"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม