09 กรกฎาคม 2563

อกาธา คริสตี้ กับ บาร์บิทูเรต

ภาพที่เห็นคือเครื่องพิมพ์ดีด เรมิงตัน วิคเตอร์ ที เครื่องพิมพ์ดีดคู่ใจนักเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนชั้นเอกคนหนึ่งของโลก อกาธา คริสตี้
งานเขียนของอกาธา คริสตี้ เป็นอมตะและเป็นงานเขียนที่ได้รับการแปล ตีพิมพ์ เป็นอันดับสามของโลก รองจากคัมภีร์ไบเบิ้ล และงานเขียนของวิลเลี่ยม เช็คสเปียร์ (น่าจะเป็นเหตุผลที่ดีสำหรับการอ่านงานของเช็คสเปียร์) และงานเขียนที่สร้างชื่อให้เธอ เรียกว่าเปิดตัวแล้วปัง คือ ฆาตกรรมโรเจอร์ แอคครอยด์
ฆาตกรรมของโรเจอร์ แอคครอยด์ เริ่มเรื่องด้วยภรรยาวางยาพิษสามีจนเสียชีวิต เอาล่ะ เราจะไม่ลงไปที่นิยาย แต่จะมาแตกขยายเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยให้ฟัง
ในสมัยสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง ยานอนหลับที่นิยมใช้ในยุคนั้นคือ บาร์บิทูเรต ซึ่งปัจจุบันเลิกใช้ไปเกือบหมดเพราะผลข้างเคียงสูงมาก จะเหลือแต่ลูกหลานที่ได้รับการปรับปรุงให้ปลอดภัยและใช้ภายใต้การควบคุมเช่น thiopental ที่ใช้ในการดมสลบ หรือ phenobarbital ที่ใช้รักษาลมชัก
ผลของยาบาร์บิทูเรตทำให้ซึมมาก กดการหายใจจนเกิดอันตราย หรือหากกินมาอย่างต่อเนื่องแล้ว การหยุดยากะทันหันก็เกิดอาการถอนยาถึงชีวิตได้ ด้วยข้อเสียของมันมากมายจึงเลิกใช้
เกณฑ์การวินิจฉัยสมองตายข้อหนึ่งคือ ต้องไม่มีผลจากยาบาร์บิทูเรต เพราะมันกดการทำงานของสมองอย่างยาวนานมาก
อกาธา คริสตี้ ได้เข้าร่วมสงครามโลกทั้งสองครั้งในฐานะพยาบาลอาสาร่วมรบ ได้รับการอบรมและได้เรียนรู้การใช้ยาระงับปวด ยาระงับความรู้สึกหลายชนิดจากสมรภูมิรบ และได้แรงบันดาลใจเรื่องพิษของยามาเขียนนิยายจนโด่งดัง ยิ่งกับสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นสงครามเคมี เพราะมีการใช้แก๊สพิษ อาวุธเคมี ความรู้ด้านเคมีตอนนั้นกว้างขวางและสดใหม่ แต่บางทีได้รับการพัฒนาในทางสงคราม ส่วนสงครามโลกครั้งที่สองคือ สงครามฟิสิกส์ เพราะมีอันตรายจากการใช้ระเบิดโดยเฉพาะระเบิดปรมาณู
ส่วนสงครามชีวภาพ เกิดขึ้นบ่อยมาก ทั้งในเมืองแรคคูนซิติ้แห่ง resident evil, ซอมบี้ใน walking dead หรือเชื้อราสุดสยองใน the last of us และยังคงมีต่อไปเรื่อย ๆ
ส่วนยาพิษอีกหลายชนิดที่เข้าข่ายเป็นยาพิษประจำในนิยายของคริสตี้ ที่เธอหยิบประสบการณ์ในวิชาการพยาบาลและสมรภูมิรบมาเป็นพล็อตนิยาย คือ สารหนู ยาพิษขาประจำในการช่วงชิงอำนาจสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่เป็นฆาตกรไร้เงาที่น่ากลัว ส่วนอีกตัวที่ผมสงสัยคือ สารประกอบโบรไมด์ ที่สมัยก่อนเราใช้รักษาโรคลมชัก (น่าจะหยิบมาเล่าให้ฟังกันต่อไปกับเรื่อง "เรื่องราวแห่งหน้ากากมรณะ")
สุดท้าย ต้องขอนับถือ อกาธา คริสตี้ ที่สามารถหยิบเรื่องราวรอบตัวมาเรียงร้อยเป็นอาชญนิยายได้อย่างกลมกล่อมและเร้าใจ ส่วนลุงหมอก็หยิบเรื่องราวของอกาธา คริสตี้ มาแกะรอยเป็นเรื่องเล่าให้ทุกคนฟังต่อไปครับ
น่าจะมีเรื่องเล่าสนุก ๆ อีกหลายตอนนะ ช่วงนี้อ่านนิยายวันละหกชั่วโมงมาหลายวัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม