04 กรกฎาคม 2563

ตัดม้าม กับ การรับวัคซีน

ตัดม้าม กับ การรับวัคซีน
ม้ามเป็นอวัยวะสำคัญสำหรับต่อสู้เชื้อโรค เป็นอวัยวะที่ใหญ่ที่สุดในระบบลิมฟ์ฟาติก หรือระบบการจัดการเชื้อโรคตามต่อมน้ำเหลือง เมื่อขาดม้ามก็ต้องมีตัวช่วย ตัวช่วยก็คือ วัคซีนนั่นเอง
การรับวัคซีนในผู้ป่วยที่ไม่มีม้ามหรือกำลังจะไม่มีม้าม จะลดอัตราการติดเชื้อ หรือลดความรุนแรงของการติดเชื้อลงได้ เป็นข้อสำคัญที่ต้องทราบหากจะตัดม้าม
ประกอบด้วย
นิวโมคอคคัส (pneumococcus) ป้องกันโรคปอดอักเสบติดเชื้อ และเยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ
ฮีโมฟิลุส อินฟลูเอนซ่า ชนิดสายพันธุ์ บี (hemophilus influenzae type B) ป้องกันปอดอักเสบติดเชื้อ ไซนัสติดเชื้อ เยื่อหุ้มสมองติดเชื้อ
ไข้หวัดใหญ่ (influenza) อันนี้ไม่ตัดม้ามก็ต้องฉีด
เมนิงโกคอคซีเมีย (meningococcus)ไข้กาฬหลังแอ่น โรคติดเชื้อรุนแรงของเยื่อหุ้มสมอง
ถ้ารู้ว่าจะถูกตัดเมื่อไร (elective splenectomy) เช่น ธาลัสซีเมีย เราจะให้วัคซีนให้ครบก่อนจะตัดม้าม หรืออย่างน้อยก็ต้องได้นิวโมคอคคัสวัคซีน อย่างน้อย 14 วันก่อนผ่าตัด และแนะนำ conjugated vaccine ก่อน
แต่ถ้าต้องตัดม้ามฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ เกล็ดเลือดต่ำจากภูมิคุ้มกัน กรณีนี้เมื่อการอักเสบหรือภาวะร่างกายดีขึ้นก็ให้ฉีดหลังจากอาการป่วยโดยรวมดีขึ้น โดยทั่วไปประมาณ 14 วันหลังผ่าตัด โดย
🚩🚩 ฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิด PCV-13 และฮีโมฟิลุส และหากเมนิงโกคอคคัส เป็นชนิดโพลีแซคคาไรด์ก็ฉีดพร้อม ๆ กันได้เลย
🚩🚩 แต่ถ้าเมนิงโกคอคคัสเป็นคอนจูเกต ให้ทิ้งระยะ 4 สัปดาห์แล้วฉีดวัคซีน เมนิงโกคอคคัส (ชนิดคอนจูเกต จะมีวัคซีนคอตีบด้วย)
🚩🚩 ฉีดวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิด PPSV-23 หลังจาก PCV-13 เป็นเวลา 8 สัปดาห์
ส่วนวัคซีนอื่น ๆ ก็ฉีดตามปรกติครับ
อยากมาย้ำว่า ถ้าตัดม้าม ต้องฉีดวัคซีนนะครับ
(ข้อมูลมาจากหลักฐานระดับกลาง ๆ และคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ ไม่ได้เกิดจากการทดลองทางการแพทย์ระดับที่ดีมากครับ)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม