14 กรกฎาคม 2563

การศึกษาเรื่องการให้ยา Baloxavir เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่

การศึกษาเรื่องการให้ยา Baloxavir เพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้หวัดใหญ่ ในกรณีมีคนในบ้านติดเชื้อ
: อ่านไป คิดไป เขียนไป ตามความเห็นของลุงหมอนะ พยายามเรียบเรียงให้ทุกคนอ่านตามได้รู้เรื่อง มีศัพท์การแพทย์เล็กน้อยพอตามได้ ค่อย ๆ อ่านไป รับรองตามทันแน่นอน เราจะได้ทราบข้อมูลการแพทย์ ที่มาของความรู้จากวิธีวิจัย และอย่าไปเชื่อแต่พาดหัวครับ
ก่อนหน้านี้การให้ยา antivirus เพื่อลดการแพร่กระจายและการเป็นโรคหลังสัมผัสโรคไข้หวัดใหญ่ จะทำในบางกรณีคือในสถานพยาบาลที่พบว่ามีการระบาดในโรงพยาบาลเท่านั้น และผู้ที่จะรับยาคือผู้ที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อน คำแนะนำเรื่องการให้ยาหลังสัมผัสเชื้อยังไม่หนักแน่นในปัจจุบัน
***ดังนั้นการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่จึงสำคัญมาก โดยเฉพาะกับบุคลากรทางการแพทย์ ***
มีการศึกษาการใช้ยา baloxavir ที่ใช้ในการรักษาไข้หวัดใหญ่ เพื่อมาให้ป้องกันการเกิดโรคในคนที่สัมผัสเชื้อแต่ยังไม่ป่วย การศึกษานี้เก็บกลุ่มตัวอย่างและทำที่ญี่ปุ่น ในฤดูกาลระบาด 2018-2019 ในสมมุติฐานที่ว่า หากมีผู้ป่วยติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ในบ้าน และเรานำคนที่บ้านมาให้ยา baloxavir ได้เร็ว จะช่วยลดโอกาสป่วย ลดโอกาสตรวจพบเชื้อ (การตรวจพบเชื้ออาจจะไม่ป่วย แต่อาจแพร่กระจายเชื้อได้) ได้มากกว่าการให้ยาหลอก คือ ไม่ทำอะไรเลย
🤔🤔คำถามคือ ทำไมเป็นยา baloxavir
คำตอบข้อแรกง่ายมาก เพราะการศึกษานี้ได้รับทุนวิจัยจากผู้ผลิตและจำหน่ายยา ดังนั้นการอ่านจะต้องเพิ่มความระมัดระวังอีกระดับหนึ่ง
คำตอบที่สองคือ เพราะยา baloxavir เป็นยากลุ่มใหม่ที่ใช้ง่าย (polymerase acidic protein endonuclease inhibitor) แนะนำใช้ภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังมีอาการ และให้ยาแค่ครั้งเดียวเท่านั้น หากจะต้องให้ยาป้องกันในคนที่ไม่มีอาการแต่เลือกใช้ยาที่ต้องกิน 5 วันและผลข้างเคียงมากหรือยาพ่นที่ใช้ยาก คงไม่มีใครใช้
😉😉*** แต่ข้อจำกัดคือ ยา baloxavir รับรองให้ใช้ในกรณีผู้ป่วยนอกที่อาการไม่รุนแรงเท่านั้น ***
เรามาดูการศึกษากัน ทางผู้วิจัยเขาคำนวณเรื่องสถิติมาว่า การใช้ยาน่าจะลดการติดเชื้อลงอย่างน้อย 40% ในสถานการณ์ที่ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย "ในครัวเรือนเดียวกัน" จะติดเชื้อประมาณ 10% นำมาออกแบบการศึกษาให้ผู้ที่พักอาศัยบ้านเดียวกับผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ที่ยืนยันผล (ที่ยังไม่ป่วยนะ) มาแบ่งออกเป็นสองกลุ่มคือได้รับยา baloxavir หรือยาหลอก ให้เร็วที่สุดหลังจากที่ยอมรับการทดลองและได้รับการตรวจไวรัสเรียบร้อย แล้วมาติดตามผลว่า จะป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ไหม จะมีการติดเชื้อโดยไม่ป่วยไหม ผลข้างเคียงจากการให้ยามีไหม แถมมีการตรวจไวรัสซ้ำอีก 5 วัน และ11 วัน ทั้งการตรวจกวาดจมูกและตรวจเลือด
** และอีกประเด็นสำคัญแต่ทำน้อยพูดน้อย คือ ถ้าแจกยาไปมาก ๆ แบบนี้ไวรัสจะดื้อยาหรือไม่ แม้จะมีการตรวจ PA substitution ที่เป็นการกลายพันธุ์ของไวรัสอันจะทำให้ดื้อยา baloxavir อยู่บ้าง แต่ไม่สมบูรณ์และแปลผลไม่ได้ ... ควรทำการศึกษาต่อไป **
ผลออกมาว่า 375 คนที่ได้รับยาหลอก ติดเชื้อ 13.6% ส่วน 374 คนที่ได้รับ baloxavir ติดเชื้อแค่ 1.9% อัตราส่วนลดลงไปถึง 0.14 จากที่คิดไว้ 0.4 และมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยที่ผลข้างเคียงของยาไม่ต่างจากยาหลอก (ผลข้างคียงของยามันน้อยอยู่แล้ว ถ้าเกิดเมื่อไรนี่สิ ...น่าคิด) ส่วนการกลายพันธุ์นั้น ตรวจพบการส่งต่อยีนกลายพันธุ์ที่อาจดื้อยา baloxavir ได้ในกลุ่มที่ได้รับยา baloxavir 15 คน ส่วนยาหลอก พบแค่ 2 คน
😞😞ดูตามวิถีทางวิทยาศาสตร์และสถิติ ก็ถือว่า น่าสนใจดี คราวนี้เรามาลองดูเพิ่ม
พบว่ากลุ่มคนที่เข้าร่วมการศึกษา อายุเฉลี่ยที่ 33 ปี และไม่มีโรคประจำตัวอันจะทำให้เกิดไข้หวัดใหญ่รุนแรง และคนที่สัมผัสเชื้อแล้วหลังจากนั้นป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ (ไม่ว่ากลุ่มได้ยาหรือยาหลอกก็ตาม) เป็นการป่วยแบบไม่รุนแรงทั้งสิ้น ... หมายความว่า ยาอาจจะมีผลปกป้องจริง แต่ถ้ามองถึงภาพใหญ่คือ ป่วยจนต้องเข้ารพ. ป่วยจนอันตราย หรือ สูญเสียการงาน มันมีน้อยมาก ก็ยังไม่กระทบวงกว้างหรือมูลค่าเท่าไร
แล้วถ้าเรามามองว่า ถึงแม้ "ความรุนแรง" จากการป่วยจะไม่ได้ลดลงจนน่าสนใจ แต่มันลดปริมาณผู้ติดเชื้อ ลดการแพร่กระจายได้นะ อันนี้คงบอกว่าแปลได้เฉพาะการศึกษานี้ เพราะตัวเลขผู้ได้รับวัคซีนในการศึกษานี้มีแค่ 31% เท่านั้น ไม่รู้ว่าผลจะเกิดจากการได้รับวัคซีนน้อยไปหรือไม่และการศึกษาไม่ได้คิดกลุ่มย่อยตรงนี้
เชื้อไวรัสที่ติด เกือบ 90% คือ influenza A สายพันธุ์ pdmH1N1 และ H3N2 เราก็ไม่รู้ว่าสายพันธุ์อื่นจะปกป้องได้ดีไหมหรือ หากมีการระบาดของ influenza B เยอะมากจะทำอย่างไร
📛📛และประเด็นสำคัญคือมันพบการส่งต่อการกลายพันธุ์ของยีนที่อาจจะดื้อยา baloxavir ได้จริง และควรศึกษาต่อในวงกว้าง เพราะหากเราใช้ยากันพร่ำเพรื่อ เราจะไม่มียารักษา อย่าลืมว่า การป้องกันหลัก ๆ ของไข้หวัดใหญ่ไม่ใช่การกินยาหลังสัมผัสเชื้อ แต่คือ ** การรักษาอนามัยบุคคลและการรับวัคซีน ** และผู้ป่วยส่วนมากของไข้หวัดใหญ่สามารถหายเองได้โดยไม่ต้องใช้ยา มีแค่บางส่วนเท่านั้นที่ใช้ยาเพื่อลดโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนของโรค
ถ้าเราใช้ยาพร่ำเพรื่อ แม้การศึกษาจะออกมาดี แต่ต้องระวัง collateral damage ที่อาจจะเกิดตามมาได้ด้วย
สรุปว่า ตอนนี้ ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่กันทุกคนนะครับ ล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากเวลาป่วย ไอจามปิดปาก ยังเป็นการป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ดีที่สุด ยังไม่แนะนำกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันหลังสัมผัสโรค (ในกรณีทั่วไป)
อันนี้ลิงค์ไปการศึกษา ไม่ฟรี ใครอ่านแล้วมาแลกเปลี่ยนความรู้กัน
https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1915341
ปล. ลุงหมอขายหนังสือมือสอง จนได้เงินพอค่าสมัครสมาชิก NEJM แล้ว จะได้มีแหล่งข้อมูลมาเล่าให้คุณ ๆ ฟังอย่างเพลิดเพลินต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม