19 กรกฎาคม 2563

death mask .. หน้ากากแห่งความตาย

death mask .. หน้ากากแห่งความตาย
วันอาทิตย์ว่าง ๆ แบบนี้ขอเชิญทุกท่านไปชงกาแฟร้อน กลิ่นกรุ่น ครัวซองต์อบ หอมเนย มานั่งเสพสารคดีเรื่องยาวบนโซฟานุ่ม ๆ กันนะครับ
-ใครที่เคยอ่านนิยายของแดน บราวน์ เรื่อง inferno คงจะรู้ว่าการดำเนินเรื่องและปริศนาแรกอยู่ที่หน้ากากแห่งความตาย
-ใครที่เคยอ่านเรื่องราวการระบาดของกาฬโรค คงจะเคยเห็นหน้ากากจงอยปากนก ในการจัดการศพผู้เสียชีวิต
-ใครที่เคยอ่านการ์ตูนเซนต์เซย่า คงจะรู้จัก แคนเซอร์ เดธมาสค์ นักรบจักรราศี โกลด์เซนต์แห่งราศีกรกฏ ที่ทำหน้ากากคนที่เขาเคยสังหาร ประดับปราสาทของเขา
ในสมัยกลาง นิยมทำหน้ากากปูนปั้นหลังจากที่คนนั้นเสียชีวิต แต่ไม่ใช่สำหรับทุกคน มีแต่ผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเท่านั้น เมื่อทำเสร็จก็เก็บรักษาอย่างดีเหมือนเป็นตัวแทนของผู้วายชนม์ ความนิยมการทำหน้ากากลดลงมาเรื่อย จนหายไปตั้งแต่หลังยุคเรอเนสซองต์ เมื่อความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายไม่ได้รับความนิยมอีกต่อไป
บุคคลที่มีหน้ากากเช่น ฟาโรห์ตุตันคามุน กษัตริย์อากาเมมนอนผู้ชนะที่กรุงทรอย พระเจ้าเฮนรี่ที่ 7, ลุดวิก แวน เบโธเฟ่น, ไอแซค นิวตัน และหน้ากากที่เราเห็นกันบ่อยมากคือ Resusci Anne หน้ากากที่สัปเหร่อปารีส ได้ทำการหล่อหน้ากากเธอ สาววัย 16 ปีที่จมแม่น้ำ Saine เสียชีวิตในกรุงปารีส ปี 1880 เป็นต้นแบบใบหน้าของหุ่นที่มาฝึกทำ CPR ในยุคปัจจุบัน
แต่เมื่อไม่นานมานี้มีการตีพิมพ์งานวิจัยทางการแพทย์อ้างอิงถึงหน้ากากมรณะของคนหนึ่ง และสามารถตีความออกมาเป็นการบอกเล่าเรื่องราวสาเหตุการตายของเขาได้ คนนั้นคือ Gustave Flaubert นักเขียนนิยายชื่อดังของฝรั่งเศส
ทำไม Flaubert จึงมีหน้ากากล่ะ อันที่จริงผมก็ไม่ได้ถนัดวรรณกรรมฝรั่งเศส อ่านบ้างคือแปลไทยเช่น แฟนธอมออฟดิโอเปรา, สามทหารเสือ แต่เมื่อไปค้นมาก็พบว่าเขาเป็นคนที่เขียนและวางโครงสร้างนิยายแนวใหม่ ไม่มีความน่าเกลียด ไม่มีความสวยงาม ข้ามผ่านนิยายที่แยกออกเป็นพระเอกนางเอก ความดีความชั่ว และนิยายที่ถือเป็นต้นแบบคือ Madame Bovary
Flaubert เป็นขบถนักเขียนหรือ ก็อาจจะใช่ แต่ในบันทึกหลายฉบับกล่าวถึงนักเขียนคนนี้ว่า เขามีอารมณ์แปรปรวนอย่างมาก และที่สำคัญมีบันทึกหลายฉบับเขียนตรงกันรวมถึงบันทึกของตัวเขาเอง ก็บันทึกไว้ว่า ตัวเขาเป็นโรคลมชัก (epilepsy) หรือความแปรปรวนนี้มาจากโรคลมชัก
ตัวเขาได้บันทึกเกี่ยวกับอาการชักครั้งแรกในปี 1844 ว่าอยู่ดี ๆ ก็ล้มพับลงกับพื้น รู้สึกเหมือนมีฟ้าผ่า และความจำช่วงนั้นก็หายไป เขาบันทึกว่าเขามีอาการแบบนี้หลายครั้งและยุคนั้นยังไม่มีวิธีรักษา เขาได้ลองการรักษาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายเลือด การใช้โลหะปรอท การใช้สารประกอบโบรไมด์ ในยุคนั้นไม่มีการทดลองในคน ไม่มีเรื่องความปลอดภัยใด ๆ
Flaubert บันทึกไว้ว่าเขาต้องทรมานกับการรักษาอย่างมาก และหลังจากนั้นรูปแบบงานเขียนเขาเริ่มเปลี่ยนไป !!!
เริ่มมีความเป็นขบถ เริ่มมีความเกรี้ยวกราด เริ่มมีบทเขียนที่แปรปรวนในอารมณ์อย่างมาก แต่ว่ามีความลึกซึ้งแหลมคมในงานเขียน เฉียบคมและซับซ้อนมากขึ้น ทั้ง ๆ ที่ตัวเขาเองและเพื่อนฝูงบอกว่างานเขียนเขาเฉียบคมทั้งที่โรคลมชักเขาเป็นมากขึ้น ๆ คนอื่น ๆ หากเป็นโรคลมชักและควบคุมไม่ได้นี้สติปัญญาจะอ่อนด้อยลงมาก ต่างสิ้นเชิงกับ Gustave Flaubert
เขาตายอย่างเฉียบพลันในปี 1880 ขณะอายุ 58 ปี ด้วยความโด่งดังของเขา เขาได้รับการทำ death mask เช่นกัน ผ่านไปเกือบ 150 ปี ได้มีการนำหน้ากากมรณะของเขามาวิเคราะห์ถึงสาเหตุการตายและทบทวนชนิดของโรคลมชักที่เขาเป็น
พบว่าหน้ากากที่หล่อขึ้นจากใบหน้าเขานั้น
- แสดงให้เห็นรอยปูดบนใบหน้าอันน่าจะเกิดจากการล้มกระแทก (มีบันทึกว่าพบศพเขาข้างอ่างน้ำและใบหน้าฟกช้ำ)
- แสดงให้เห็นดั้งจมูกบิดเบี้ยว ที่อาจน่าเป็นอุบัติเหตุจากการล้มกระแทกหลายครั้ง
- แสดงให้เห็นรอยขีดพับที่ติ่งหูทั้งสองข้าง ที่เรียกว่า Frank's Sign เป็นอาการแสดงที่บ่งชี้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน
เมื่อนำมารวมกับประวัติโรคลมชักที่ควบคุมไม่ได้ของเขาแล้ว (น่าจะเป็น temporal lobe epilepsy เพราะมีอารมณ์แปรปรวนเด่นมาก) มีข้อสันนิษฐานการตายว่าเขาอาจเสียชีวิตจากภาวะ SUDEP (sudden unexpected death in epilepsy)
SUDEP เป็นอันตรายรุนแรงจากโรคลมชักไม่แพ้ภาวะชักต่อเนื่อง (status epilepticus) ที่หากไม่เสียชีวิตก็พิการได้เลย เป็นสาเหตุการตายสำคัญในโรคลมชัก อุบัติการณ์ที่ 4/ 1000 ผู้ป่วยลมชัก เกิดจากกระแสไฟฟ้าที่ผิดปกติที่ปล่อยออกมาเป็นพายุไฟฟ้า ทั้งคลื่นไฟฟ้าสมองและคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
หมายถึงมีอาการชักรุนแรงต่อเนื่องจนเสียชีวิตฉับพลัน เกิดได้พร้อมกับมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจมารบกวนการทำงานของหัวใจอย่างมากมาย เป็น electrical strom คลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติแบบรุนแรงจนเสียชีวิต โดยปัจจัยที่จะเกิด SUDEP คือ โรคลมชักที่เป็นมาตั้งแต่เด็ก, ควบคุมโรคไม่ได้, ชักกำเริบแต่ละครั้งกินเวลานาน, ความถี่ของอาการชักเกิดบ่อยมาก
ทุกอย่างก็ตรงกับ Gustave Flaubert แถมเขายังมี Frank's Sign รอยบากบนติ่งหูแบบสมบูรณ์และสองข้างอีกด้วย โอกาสเป็นโรคหัวใจเฉียบพลันจนเสียชีวิตก็สูงมากเช่นกัน
หน้ากากมรณะของเขา ได้ไขปริศนาการตายและงานเขียนที่สุดโต่งกราดเกรี้ยว จนกลายเป็นแบบอย่างของงานเขียนยุคใหม่ เป็นแรงบันดาลใจให้นักเขียนรุ่นหลังหลายคนเช่น ฟร้านซ์ คาฟคา
ครับ หลังจากอ่านเรื่องราวย้อนอดีตมามากมาย ก็จะสรุปเป็นข้อสอนใจทางการแพทย์ได้หนึ่งอย่างคือ "ควรควบคุมโรคลมชักให้ดี รักษาอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง" ปัจจุบันเรามียาและการผ่าตัดมากมายเพื่อรักษาลมชักครับ
"ลมชักต้องซ่อมแซม ลมแชมป์ต้องแห่ที่แอนฟิลด์"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม