30 มกราคม 2563

แชม ยาหลอก ตัวเปรียบเทียบมาตรฐาน

แชม ยาหลอก ตัวเปรียบเทียบมาตรฐาน
สมมติว่าลุงหมอคิดค้นยาตัวหนึ่งได้ ผ่านกระบวนการค้นคว้าในหลอดทดลอง ในสัตว์ทดลอง ในอาสาสมัคร ใช้ได้หมด แล้วจะนำมาทดสอบจริง ๆ จะทำอย่างไร สมมติอีกว่าเป็นยา "ก" กินแล้วผอมอย่างแข็งแรงในเวลาสองสัปดาห์ ลุงหมอก็บอกว่าเนี่ยทดสอบมาหมดแล้วลดได้จริงนะ เกิดอีตาพ่อครัวเคมีเกิดสงสัยว่าลุงหมอขี้จุ๊ ท้าให้พิสูจน์ ลุงหมอจึงจำเป็นต้องพิสูจน์
ตอนที่หนึ่ง..ยาหลอก
ลุงหมอนำคนมาทดลอง 100 คน แต่ละคนมีลักษณะเหมือนกัน ชีวิตความเป็นอยู่เหมือนกัน ครึ่งหนึ่งกินยา "ก" อีกครึ่งกินยาหลอกเป็นเม็ดแป้งทำออกมาเหมือนยา "ก" เป๊ะเลย แล้วไปวัดผลที่สองสัปดาห์ หากพบว่าน้ำหนักลดลงมากกว่าคนที่ได้ยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ลุงหมอก็จะบอกได้ว่า เฮ้ยมันได้ผลจริงนะเว้ยเฮ้ย ไม่ได้บังเอิญ
พ่อครัวเคมีบอก อย่ามาพูด ก็ไปเทียบกับยาหลอกนี่หว่า มันก็เจ๋งกว่าสิ ปัจจุบันเขาใช้ยา "ข" กันเป็นมาตรฐานแล้ว ไปเทียบกับยาหลอกมันต่ำกว่ามาตรฐาน เอ้า...ลุงหมอก็ทนไม่ได้ ทำการทดลองใหม่ คราวนี้ครึ่งหนึ่งใช้ยา "ก" อีกครึ่งใช้ยา "ข" คราวนี้มันก็จะได้เทียบกับยาปัจจุบันเลย พ่อครัวเคมีบอกไม่พอ มันอาจจะบังเอิญลดน้ำหนักลงทั้งคู่ก็ได้
ลุงหมอบอก ก็ได้ฟระ งั้นแบ่งเป็นสามกลุ่มเลย กลุ่มละ 50 คน กลุ่มแรกกินยาหลอก กลุ่มสองกินยา "ก" กลุ่มสามกินยา "ข" เปรียบเทียบเลยว่าไม่บังเอิญและใครแน่กว่าใคร
วันรุ่งขึ้นตำรวจมาจับลุงหมอ บอกว่า คุณทำงี้ได้ไง คนที่เขาต้องได้รับยา "ข" คุณจะมาจับเขาให้ยา "ก" หรือจะมาให้เขาได้ยาหลอก เพราะมาตรฐานมันออกมาว่าควรได้รับยา "ข" ทำแบบนี้มันแหม่ง ๆ มันผิดนะคุณลุงหมอ ทำไม่ได้ ...เฮ้อ งั้นลุงหมอเอาใหม่
ตอนที่สอง..ตัวเปรียบเทียบมาตรฐาน
ลุงหมอออกแบบการทดลอง 100 คน กลุ่มแรก 50 คนเรียกว่ากลุ่มควบคุม ได้ยา "ข" อันเป็นยามาตรฐานที่ควรจะได้และเพิ่มยาหลอกด้วย ส่วนอีก 50 คนก็ได้ยา "ข" เหมือนกันแต่เพิ่มยา "ก" แทนยาหลอก เพื่อจะวัดว่ายา "ก" ดีกว่ายาหลอกนะ และถ้าให้เพิ่มไปจากยา "ข" ประสิทธิภาพมันดีกว่าเพียงไร เพราะมาตรฐานการลดความอ้วนมันใช้ยา "ข" อยู่แล้ว ถ้าใส่เพิ่มมันจะเจ๋งนะ ... โอเค คุณตำรวจก็ปล่อยตัว ไม่งั้นลุงหมอได้นอนมุ้งสายบัว
ตอนที่สาม..sham
คราวนี้อีตาพ่อครัวเคมีคิดว่าอย่ากระนั้นเลย เราตัดกระเพาะและลำไส้ออกเลย รับรองผอมแน่ พ่อครัวเคมีจึงออกแบบการทดลองว่า 50 คนแรกให้ใช้ยาเต็มที่ตามมาตรฐาน ยา "ข" อีกกลุ่มก็กินยา "ข" ด้วยและเอาไปเปิดท้องตัดกระเพาะลำไส้ออกด้วย (อย่าลืมว่าการรักษาด้วยยา "ข" เป็นการรักษามาตรฐาน เกิดไม่ทำเดี๋ยวคุณตำรวจโผล่มาอีก) ดูสิใครจะลดน้ำหนักได้ดีกว่ากัน ลุงหมอหัวเราะหึหึ...พลาดแล้วเอ็ง
ก็คนที่เขาผ่าเขาก็รู้ตัวดิ คนที่ไม่ผ่ามันก็รู้ว่าไม่ผ่า แบบเนี้ย เขาเรียกไบแอส เพราะคนที่ทำการทดลองก็รู้ คนที่ได้รับการทดลองก็รู้ มันจะไม่รู้ได้ไง ผ่ากับไม่ผ่า คนที่ผ่าเขาก็จะมีที่ออกมาเป็นแบบหนึ่งต่างจากคนที่ผ่าแน่ ๆ เพราะมันไม่เหมือนกัน !! ลุงหมอยักคิ้วข้างเดียว กวนบาทามากที่สุดในโลก
พ่อครัวเคมีก็เลยออกแบบนี้ใหม่ เอากลุ่มห้าสิบคนแรกที่ตอนแรกให้กินยาอย่างเดียวนั้น เอามาผ่าเปิดท้องด้วย เปิดแล้วก็ปิด ไม่ได้ตัดอะไรออกมา เพื่อให้คนกลุ่มนี้เห็นว่าก็ผ่าเหมือนกัน มันจะได้ตัดความแปรปรวนจากข้อมูลเอียงว่า "ฉันผ่ามาเธอไม่ผ่า" เรียกว่าผ่าเหมือนกัน คนที่ถูกทดสอบรู้แบบเดียวกัน พ่อครัวเคมีบอกว่า แบบนี้เขาเรียกการทำ "sham procedure" เพื่อตัดปัญหา
บทสรุป...
ลุงหมอก็อึ้งไป นึกในใจ แหม..ใจถึงเงินถึงนะเธอ..ลงทุนทำการศึกษาแบบนี้เลย เสร็จแล้วก็หัวเราะและเกี่ยวก้อยชวนพ่อครัวเคมีไปกินโจ๊กหมูและสุกี้กันอย่างเอร็ดอร่อย
เอาล่ะ ..คงจะเข้าใจ ยาหลอก, sham procedure และ comparator ในการศึกษาวิจัยแบบง่าย ๆ แล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม