27 ธันวาคม 2562

endometriosis

ภาพน่าสนใจ จาก วารสาร New England Journal of Medicine : bladder endometriosis
บอกเล่าเรื่องราวก่อน เรื่องราวของหญิงอายุ 38 ปี เคยผ่าตัดคลอดบุตร 6 ปีก่อนหลังจากนั้นเคยผ่าตัดมดลูกออกเพราะเนื้องอกมดลูก เมื่อ 1 ปีก่อน
ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะปนเลือด ปวดท้องน้อย ปวดเวลาถ่ายปัสสาวะ มีอาการเรื้อรังมา 6 เดือน ตรวจร่างกายปรกติดี ภาพอัลตร้าซาวนด์และเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์พบก้อนที่ยอดกระเพาะปัสสาวะ เมื่อส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะพบ ก้อนขยุกขยุย หลาย ๆ เม็ดดันเนื้อเยื่อกระเพาะปัสสาวะออกมาดังรูป คุณหมอตัดชิ้นเนื้อไปตรวจพบเป็น endometriosis เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ endometriosis เชื่อว่าเกิดจากการที่เลือดประจำเดือนไหลย้อนกลับออกไปทางท่อนำไข่ หลุดไปอยู่ในช่องท้อง เลือดประจำเดือนของสุภาพสตรีนั้นนอกจากเลือดแล้วยังมีเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกตัวออกมาด้วย เมื่อเยื่อบุมดลูกหลุดลอกออกมา บางครั้งสามารถไปเจริญเติบโต (seeding) ในตำแหน่งต่าง ๆ ของช่องท้องได้ จึงเป็นการวินิจฉัยแยกโรคอันหนึ่งของอาการปวดท้องเรื้อรังในสตรี หาสาเหตุใด ๆ ทางอายุรกรรมแล้วไม่พบ
เช่นกัน เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ยังตอบสนองต่อรอบฮอร์โมนของสตรี ผู้ป่วยจึงยังมีอาการปวดท้องได้ตามรอบเดือน และหากมันหลุดฝ่อก็จะเป็นเลือดอยู่ในช่องท้อง ในอุ้งเชิงกราน เลือดที่รวมตัวกัน เก่าบ้างใหม่บ้าง สีจะออกน้ำตาลคล้ำ ๆ เหมือนช็อกโกแลต จึงเรียกถุงเลือดจากเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกนี้ว่า ช็อกโกแลตซีสต์ นั่นเอง
อาการของ endometriosis มีหลายหลายมาก ปวดได้ทุกที่ที่มันไปอยู่ ตั้งแต่เชิงกรานไปจนถึงกระบังลม แต่อาการที่พบบ่อย ๆ คือ ปวดท้องตามรอบประจำเดือน รวมถึงปวดประจำเดือนรุนแรง มีอาการเจ็บลึก ๆ ในช่องท้องเวลามีเพศสัมพันธ์ และมีบุตรยากจากพังผืดในระบบสืบพันธุ์สตรี การวินิจฉัยใช้อาการเป็นหลัก ประกอบกับการส่องกล้อง แต่จะยืนยันคงต้องตัดชิ้นเนื้อไปตรวจ
การรักษาจะต้องควบคุมฮอร์โมน ต้านการทำงานฮอร์โมน เพื่อให้ร่างกายไม่มีการตกไข่ประมาณ 6-9 เดือน ส่วนมากผมจะส่งให้สูตินรีแพทย์จัดการต่อ เราจะต้องดูผลข้างเคียงของการให้ฮอร์โมน ไม่ว่าฮอร์โมนรวมหรือฮอร์โมนแยก หรือ GnRH analogues, androgen hormone, aromatase inhibitor และถ้าอาการจากก้อนมีผลเสียรุนแรงก็ต้องผ่าตัดเอาก้อนออก สิ่งที่จะต้องคิดเสมอในการรักษาคือ ป้องกันการมีลูกยากในอนาคต
สำหรับผู้ป่วยรายนี้ (จากเกาชิง ไต้หวัน) ได้รับการผ่าตัดรักษาและไม่กลับมากำเริบอีก ส่วนตัวก็ไม่เคยเจอครับ ที่เคยวินิจฉัยได้คือปวดท้องเรื้อรัง และซักประวัติได้ว่าสัมพันธ์กับรอบประจำเดือน แต่ที่ผมเคยพบก็ไม่ได้มีบุตรยาก และถามเรื่องเจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ก็ไม่มีอาการนี้
แต่สำหรับสาว ๆ ในนี้ สาเหตุของการมีบุตรยากไม่ใช่จาก endometriosis นะครับ น่าจะเกิดจากการขาดพ่อพันธุ์เสียเป็นส่วนใหญ่
N Engl J Med 2019; 381:e43 วารสารแจกฟรี สามารถนำภาพมาใช้ได้นะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม