22 ธันวาคม 2562

#ขอ3เล่ม2019

เมื่อวานฟังรายการโปรด readery podcast มีคำท้าทายจากพี่โจ้และพี่เน็ต ให้เลือกหนังสือที่เด็ดที่สุดสามเล่ม สำหรับปี 2019
ในฐานะที่อ่านหนังสือมาพอสมควร ปีนี้น่าจะเกือบหกสิบเล่ม ผมขอเลือกหนังสือสามเล่มนี้ให้กับพวกเรา ที่ผมคิดว่าอ่านง่าย ทรงพลัง เป็นภาษาไทย และน่าจะได้อ่านกันทุกคน
1. อิคิไก ความหมายของการมีชีวิตอยู่ เขียนโดย Ken Mogi แปลไทยโดย วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ มาจากหนังสือ the little book of ikigai
หนังสือจะพูดถึงปรัชญาการทำสิ่งที่สำคัญในชีวิต ความหมายและเป้าหมายของการมีชีวิต ไม่ใช่เพื่อเงิน เพื่อตัวเอง หรือครอบครัว แต่พูดถึงแรงบันดาลใจและการหาความสุขในชีวิตจากแรงบันดาลใจนั้น
อ่านแล้วจะได้อะไร อ่านแล้วคุณจะได้ค้นหา ความสำคัญในสิ่งที่ทำอยู่ และทำมันให้ดีที่สุด เพราะเป้าหมายไม่ใช่ความฝัน แต่เป้าหมายในการมีชีวิตอยู่ คือ สิ่งที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน ไม่ใช่ความฝันในอดีตและสิ่งที่โหยหาในอนาคต ถ้าความฝันในอดีตและสิ่ที่เราโหยหาในอนาคต สามารถเชื่อมต่อกันเป็นอันเดียวกับปัจจุบันได้ ก็จะดี แต่ความเป็นจริงคือมันไม่ใช่ เราสามารถอยู่กับปัจจุบันอย่างมีความสุขและมีค่า เพื่อสร้างอนาคตที่ดี จากประสบการณ์ในอดีตต่างหาก
แล้วคุณจะมีความสุขมากขึ้น
2. หนังสือชุดของ ยูวาล โนอา แฮร์รารี่ : Sapiens, 21 lessons for 21st century, Homo deus แปลไทยโดย ดร.นำชัย ชีววิวรรธ์ ของสำนักพิมพ์ยิปซี
เรียกได้ว่าดังข้ามปี ดังทะลุโลก และดังจริง ไม่ใช่ดังแค่คำโฆษณา กับซีรี่ส์เรื่องราวความเข้าใจในสรรพสิ่งของตัวเรา ว่าตัวเราคือใคร มาจากที่ใด ตอนนี้คืออะไร และอนาคตข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร
หนังสือเซเปี้ยนส์ ได้เล่าเรื่องราวความเป็นมาของการก้าวขึ้นมาสู่จุดสูงสุดแห่งวิวัฒนาการแห่งโลก จากอดีตมาจนถึงวันนี้ ทำให้เราเข้าใจตัวเรา ต่อด้วย 21 lessons ที่บอกถึงสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ ว่ามันมีพื้นฐานมาจากแนวคิด มาจากสาเหตุใด เราจะได้รับมือได้ดี และจบด้วย deus ที่ทำนาย (แม่นด้วยนะ) ถึงสิ่งที่กำลังเกิดตอนนี้และจะไปส่งผลกับอนาคต ในอีกไม่กี่ปี
อ่านแล้วได้อะไร อ่านแล้วคุณจะเข้าใจทะลุ อดีต ปัจจุบัน อนาคต ว่าพวกเราคืออะไร ต้องยอมรับว่า แฮร์รารี่ เขียนได้ตรงประเด็น เชื่อมโยงอย่างมีเหตุผล ทำให้เรามองภาพออกชัดเขามาก เมื่อคุณอ่านแต่ละบทแล้วหลับตานึกไปเรื่อย ๆ คิดตามแฮร์รารี่ เมื่อจบแล้วผมรับรองว่า คุณจะตื่นรู้หลายประการ และเข้าใจตัวเองโดยแท้จริง เมื่อเข้าใจก็พร้อมจะเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่กระบวนการสูงสุดของวิวัฒนาการ คือ change
3. ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย โดย คริส เบเกอร์และผาสุก พงษ์ไพจิตร เขียนเป็นภาษาอังกฤษก่อนในชื่อ a history of Thailand แล้วมาแปลไทย ของสำนักพิมพ์มติชน
ในบรรดาหนังสือประวัติศาสตร์ไทยสมัยใหม่ ผมว่าไม่มีใครเขียนได้ตรงใจ สะเด็ดสะเด่า และฉีกอคติทิ้งหมดแบบนี้เลย เรียกว่า กลั้นหายใจและหายใจแรงสลับกันไปตลอดเล่ม
หนังสืออธิบายถึงความเป็นมาเป็นไปของประเทศเรา เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในทางการเมือง การปกครอง ความคิดในใจคน เศรษฐกิจ วัฒนธรรม เป็นลำดับขั้นเป็นเหตุเป็นผล ว่าสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละขั้นตอนของประวัติศาสตร์ชาติ มันไม่ได้เกิดขึ้นลอย ๆ มันที่เหตุและผล ที่บางครั้งจงใจให้เกิดก็มี ทั้งสองท่านได้เขียนออกมาตามหลักฐานและวิจารณ์ตามเหตุผล อาจไม่ตรงใจใครหลายคน แต่ถ้าอ่านแบบใจว่าง ๆ คุณจะได้เห็นและรู้หลายอย่างที่คุณคาดไม่ถึง หรือ ไม่ตรงกับที่คุณเคยทราบมา
อ่านแล้วได้อะไร อ่านแล้วคุณจะได้ความใจเย็น ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ เพียงแค่มองและได้ยิน คุณจะเริ่มเห็นและฟังมากขึ้น ได้ฝึกทักษะการเชื่อมโยง การอธิบาย และจะมองภาพสถานการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันได้ โดยอาศัยเหตุการณ์อดีตเป็นตัวนำทาง
เรียกว่า เปิดตาหลายชั้นเลย
สามเล่มที่ผมชื่นชอบในปีนี้ สามเล่ม (จริง ๆ 5 เล่ม) ที่อยากให้คุณอ่าน ปีหน้าอารมณ์ผมคงจะเปลี่ยน เราอาจจะได้แนะนำนิยาย วรรณกรรมกันมากขึ้น ทั้งไทย เอเชีย ตะวันตก
สิ้นปีนี้คงเสียตัวให้กองนิยายอีกแน่นอน ..นอนด้วยกัน กินด้วยกัน มึความสุขสุดยอดด้วยกันทุกคืน คืนละหลาย ๆ ครั้งด้วย แบบ...ไม่ต้องป้องกัน อ่านเสร็จแตกฉาน กันเลยทีเดียว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม