18 ธันวาคม 2562

วินิจฉัยทางคลินิก (clinical diagnosis)

สิ่งนี้บันทึกไว้เพื่อเตือนใจพวกเราทุกคนว่า ผลการตรวจทุกอย่างจะต้องนำมาคิดและอธิบายอาการทางคลินิกเสมอ ตัวเลขคือสิ่งที่เห็นแต่เรารักษาสิ่งที่ "เป็นจริง"
มีญาติผู้ป่วยรายหนึ่ง พาผู้ป่วยที่สภาพร่างกายอ่อนแอและสูงวัย มาปรึกษาเรื่องตัวเลขระดับโปตัสเซียมในเลือดเท่ากับ 3.5 มิลลิโมลต่อลิตร ค่าปรกติของห้องปฏิบัติการตามแผ่นนั้นคือ 3.5 - 5.0 ญาติผู้ป่วยรายนี้ไปสืบหาข้อมูลว่าระดับโปตัสเซียมในเลือดของคนปรกติควรอยู่ที่ประมาณ 4.0
ญาติได้พาผู้ป่วยไปพบแพทย์หลายที่ เนื่องจากกังวลว่าค่าโปตัสเซียมที่ตรวจพบมันต่ำและอาจเกิดโรคที่ซ่อนเร้นอยู่ และไปพบแพทย์มาแล้ว 3 ที่
ความกังวลเป็นสิ่งที่ดี และการเห็นค่าการตรวจที่ผิดปกติ ควรตระหนักแต่ไม่ควรตระหนก
ประวัติของผู้ป่วยนั้นแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัวและไม่ใช้ยาใด ไม่มีอาการถ่ายเหลว ระยะหลังกินอาหารได้น้อยเพราะรู้สึกไม่อร่อย ญาติกังวลจึงพามาตรวจสุขภาพและพบค่าระดับโปตัสเซียมในเลือดต่ำ ตรวจร่างกายความดันโลหิตปรกติ ไม่มีกล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่มีสีผิวผิดปกติ ไม่เคยเป็นนิ่ว ส่งวัดระดับโปตัสเซียมในเลือดได้ 3.9 มิลลิโมลต่อลิตร ระดับโปตัสเซียมในปัสสาวะไม่สูงและไม่ต่ำ
เมื่อซักประวัติและประเมินแล้ว ยังไม่เห็นข้อมูลใด ๆ ที่จะบ่งชี้ว่ามีโรคหรือภาวะที่อธิบายเกลือแร่ในเลือดต่ำ และต่ำไม่มากด้วย การเดินหน้าสืบค้นต่อไปไม่ว่าจะเป็นการวัดการขับโปตัสเซียมในปัสสาวะตลอด 24 ชั่วโมง การตรวจวัดระดับฮอร์โมน การทำการทดสอบต่าง ๆ ดูจะเกินความจำเป็น
ดังนั้นค่าโปตัสเซียมในเลือดที่ต่ำตรงนี้ คงมีไว้ติดตามและตระหนัก ไม่ใช่เอาไว้วินิจฉัยทันที
เมื่อติดตามและแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารมากขึ้น ออกแรงมากขึ้น พัก (และไม่ตระเวนไปปรึกษาเรื่องโปตัสเซียมในเลือดอีก) พร้อมนัดติดตามผล พบว่าทุกอย่างก็ยังปรกติ ระดับโปตัสเซียมในเลือดเพิ่มจาก 3.9 เป็น 4.2 โดยที่ไม่ได้ใช้ยาใด ๆ และไม่ได้ไปปรึกษารักษาใด ๆ อีก
การยึดถือผลการตรวจเป็นหลักโดยไม่คำนึงถึง ความน่าจะเป็นก่อนส่งตรวจ (pretest probability) แม้ผลตรวจจะมีความไวหรือความจำเพาะเพียงใด มันจะทำให้การแปลผลสุดท้าย (posttest probability and predictive value) คลาดเคลื่อนได้ นำพาไปสู่การวินิจฉัยที่ผิดพลาดหรือการสืบค้นต่อไปที่ไม่จำเป็นได้
ผมไม่รู้ว่าโลกยุคหลังของผมนั้น ปัญญาประดิษฐ์จะเรียนรู้ clinical decision making ได้มากน้อยเพียงใด หรือจะสามารถใช้เหตุผล (clinical reasoning) ได้ขนาดไหน
แต่ ณ ตอนนี้ปัจจุบันนี้ การซักประวัติและการตรวจร่างกายเพื่อทำการวินิจฉัยทางคลินิก (clinical diagnosis) เพื่อเลือกวิธีรักษาและติดตามอย่างเหมาะสม ยังมีความสำคัญอันดับต้นในวิชาแพทย์และการรักษา
มีใครทราบบ้างว่าคนในภาพประกอบนี้คือใคร และเหตุใดผมจึงเลือกมาประกอบบทความนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม