17 กรกฎาคม 2561

ค่าความดันโลหิต blood pressure

ค่าความดันโลหิต blood pressure ไม่ได้มีค่าแค่ตัวบนตัวล่างเท่านั้น ยังมีเต็ง มีโต๊ดอีกด้วย
ตัวเลขความดันโลหิตที่เรารู้จักกันดีสองตัวคือความดันซีสโตลิก ความดันขณะหัวใจบีบตัว และความดันไดแอสโตลิก ความดันขณะหัวใจคลายตัว เป็นค่าความดันที่เราวัดจากวิธีไม่รุกล้ำ ใช้แรงบีบและวัดแรงสั่นสะเทือนของหลอดเลือดจากการกระแทกของเลือดตามจังหวะการบีบตัวของหัวใจ
แต่ในการศึกษาเรื่องความดันโลหิตจริงๆแล้วนั้นเราจะใช้การวัดด้วยวิธีที่รุกล้ำร่างกาย นั่นคือวิธีการใส่สายสวนหลอดเลือดแล้ววัดความดันที่จุดต่างๆ ตั้งแต่ที่หัวใจห้องบนขวา หัวใจห้องบนซ้าย หัวใจห้องล่างซ้าย หลอดเลือดแดงเอออร์ต้า หลอดเลือดส่วนปลายที่แขนหรือที่ขา และค่าความดันที่เราศึกษาได้นั้นจะเป็นค่าที่ได้จากการวัดทางเรขาคณิตจากกราฟความดันเทียบกับเวลา ผ่านสมการแคลคูลัส
เรานำค่าต่างๆที่วัดโดยตรงมาสร้างความสัมพันธ์ทางคณิตศาสตร์ ว่ามีความถูกต้องใกล้เคียงกับสมการถดถอยที่ไม่ต้องคำนวณและวัดอย่างยุ่งยากได้ เราจึงใช้การวัดแบบไม่รุกล้ำและใช้สูตรคำนวณง่ายๆ เพื่อแปลผลต่างๆทางการแพทย์
ในสถานการณ์ทั่วไปเราไม่ได้ใช้การใส่สายสวนหลอดเลือดแดงวัดความดัน จะต้องมีภาวะบางอย่างที่ระบบไหลเวียนโลหิตไม่ตรงไปตรงมา ทำให้ค่าที่วัดจากกราฟโดยใช้วิธีทางเรขาคณิตและแคลคูลัส ไม่ตรงกับค่าที่วัดจากเครื่องวัดปรกติแล้วมาเข้าสมการทางคณิตศาสตร์ปกติ เช่นภาวะช็อกรุนแรง ชีพจรเต้นเร็วมากหรือช้ามาก สถานการณ์แบบนี้อาจจะต้องใส่สายสวนหลอดเลือดแดงเพื่อวัดความดันออกมาเป็นกราฟ และต่อเข้าเครื่องคำนวณที่คิดค่าทางเรขาคณิตออกมาเป็นตัวเลขต่างๆให้เรา จะใช้การรักษาแบบนี้ในไอซียูเท่านั้น
ค่าที่ผมมานำเสนอนี้จะเป็นค่าง่ายๆ และการแปลผลง่ายๆ ให้ได้รู้จักกัน รายละเอียดและข้อจำกัดต่างๆยังมีอีกมาก ใครที่สนใจให้ไปอ่านหนังสือเกี่ยวกับ cardiovascular physiology จะได้เข้าใจลึกซึ้งนะครับ
1. Systolic Blood Pressure (SBP) ค่าความดันตัวบน โดยทั่วไปที่วัดจากแขนก็จะใกล้เคียงกับค่า Systolic Arterial Pressure ที่ได้จากการสวนสายสวนหลอดเลือด (สังเกตความแตกต่างระหว่าง Blood กับ Arterial) บอกถึงความดันสูงสุดขณะหัวใจห้องล่างซ้ายบีบตัวส่งผ่านมายังหลอดเลือดแดง
2. Diastolic Blood Pressure (DBP) ค่าความดันตัวล่าง บอกถึงความดันต่ำสุดเมื่อหัวใจคลายตัว ความดันขณะที่เลือดเข้ามาเติมในห้องหัวใจก่อนจะบีบตัวออกไป มันจะบ่งบอกถึงแรงดันในระบบขณะไม่มีแรงบีบ โดยทั่วไปคือแรงต้านทานของหลอดเลือดโดยรวมในระบบ
ค่าความดันทั้งสองตัวนี้ใช้ในการกำหนดเกณฑ์ต่างๆ แต่ไม่ได้หมายความว่าร่างกายจะแย่ตามตัวเลขเหล่านั้น เช่นเราเฝ้าระวังอาการช็อกเมื่อค่า SBP น้อยกว่าเก้าสิบ หรือค่า DBP น้อยกว่าหกสิบ ไม่ได้หมายความว่าหากค่าเป็น 90/60 แล้วจะเป็นอันตราย และไม่มีค่าที่เรียกว่าโรคความดันโลหิตต่ำนะครับ มีแต่ค่าที่บอกว่าความดันโลหิตสูง
3. Mean Arterial Pressure (MAP) ใครที่เอามือจับจมูกตัวเองอยู่ให้ปล่อยออกได้แล้วนะ พื้นฐานแล้วการศึกษาความดันโลหิตต่างๆจะใช้ค่านี้ และค่านี้จะเป็นค่าที่บอกถึงแรงดันเลือดที่จะส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ (perfusion pressure) เช่นเวลาช็อกเราจะต้องการค่าแหมบที่อย่างน้อย 65 มิลลิเมตรปรอทเพราะที่ความดันเท่านี้สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆได้
สามารถคำนวณได้จาก diastolic pressure + (systolic-diastolic)/3
(เพราะค่าจริงๆมันมาจากการวัดจากหลอดเลือด) ขอย้ำว่าไม่ใช่เอาตัวบนบวกตัวล่างและนำมาหารสองนะครับ
4. Pulse Pressure คือค่าความแตกต่างกันของความดันซีสโตลิกและไดแอสโตลิก เอามาลบกันตรงๆนี่เอง แสดงคร่าวๆให้เห็นถึงเลือดที่ออกจากหัวใจ และความแข็งของหลอดเลือด มีการแปลผลได้หลากหลาย ที่เราใช้บ่อยๆเวลาเฝ้าระวังช็อกคือค่า pulse pressure ที่ไม่มากนักจะต้องเริ่มระวังอันตราย หรือความแปรปรวนของ pulse pressure (pulse pressure variation ที่บอกถึงการตอบสนองการให้สารน้ำในภาวะช็อก
และควรท่องจำภาวะที่มีค่า pulse pressure มากๆคือ athero-heartblock-thyrotox-regur-hypertension-สำคัญanemia-อ่อนเพลียberiberi-3pทีเด็ด-เบ็ดเสร็จaneurysm-อย่าลืมAVfistula
สี่ข้อที่ผ่านมาคือวัดจากหลอดเลือดแดง ยังมีความดันอีกหลายชนิดเช่น วัดจากหลอดเลือดดำ Central Venous Pressure, วัดจากหัวใจห้องล่างซ้ายเช่น Left Ventricular End Diastolic Pressure, วัดทางอ้อมถึงหัวใจห้องบนซ้าย Pulmonary Artery Occlusion Pressure
ปัจจุบันมีการวัดและคำนวณค่าต่างๆออกมาแบบวัดจากกราฟด้วยสูตรทางเรขาคณิตและแคลคูลัส ออกมาอย่างเที่ยงตรงและเป็นค่าปัจจุบันขณะนั้นทันที เพียงแค่ใส่สายวัดความดันหลอดเลือดแดงสายเดียวเท่านั้น
ความดันโลหิตถือเป็นสาขาย่อยอันหนึ่งของอายุรศาสตร์เลยนะครับ สาขาวิชาอายุรศาสตร์อนุสาขาโรคความดันโลหิตสูง ถือว่าละเอียดอ่อนและสำคัญมากในโลกยุคนี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม