02 กรกฎาคม 2561

ข้อเตือนใจ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงวัย

ข้อเตือนใจ สำหรับผู้ดูแลผู้สูงวัย
ภาพนี้กราฟนี้ เราดูแบบบ้านๆกันเลย แกนนอนในแต่ละแท่งจากซ้ายไปขวาคือจำนวนคนในแต่ละปี 10 ปีติดกัน 2007-2016
ความสูงของแต่ละแท่งคือจำนวนผู้เสียชีวิตอันเกิดจากหกล้มในแต่ละปี เริ่มตั้งแต่ 18,000 รายและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตามปี จนถึง 30,000 คน ในปีที่สิบ ...จะมีคำถามว่าเพราะเป็นสังคมผู้สูงวัยหรือเปล่า คนสูงอายุมากขึ้นกระมัง เมื่อคนสูงอายุมากขึ้น อัตราการเสียชีวิตมันก็ต้องมากขึ้นไหม เราต้องมาดูเส้นกราฟที่ลอยอยู่เหนือแท่งนั้น
เส้นกราฟคืออัตราการเกิดการหกล้ม ต่อแสนประชากร เป็นการคิดเทียบกับประชากรที่เท่ากัน แถมปรับอายุให้เฉลี่ยเท่าๆกันด้วย พบว่าอัตราการหกล้มมันสูงขึ้นจริงๆ ประมาณ 48 ไปเป็น 62 ต่อแสนประชากรในสิบปี
กราฟนี้บอกเราว่า ผู้สูงวัยเรามีมากขึ้นและอายุมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีการรักษาที่ หลบความตาย หลายอย่างแต่ไม่สามารถ หลบความชราได้ ผู้สูงวัยมากขึ้นแต่อัตราการหกล้มไม่ได้ลดลงเลย นั่นคือ เทคโนโลยีการรักษายังไม่สามารถลออัตราการล้มได้ แถมยังเป็นการล้มที่ตายอีกด้วย อัตราการล้มไปทางเดียวกับอัตราการตาย
จะเห็นว่าปัญหาหกล้มในผู้สูงวัยยังเป็นปัญหาหลักและเป็นสาเหตุการตายหลักอีกด้วย ถึงจะรอดมาจากโรคต่างๆแต่สุดท้ายการหกล้มก็ยังสำคัญมาก หกล้มศีรษะกระแทกเลือดออกในกระโหลกก็ดี หกล้มแล้วสะโพกหักก็ดี หกล้มแล้วซี่โครงกระแทกหักก็ดี หกล้มแล้วข้อมือยันพื้นหักก็ดี
สาเหตุเหล่านี้ทำให้ผู้สูงวัยทรุดลงมากๆได้ จนทำให้การรักษาโรคอื่นๆที่เพียรทำมา ดูไม่มีค่าทันที
ดูแลที่ทางเดินให้โล่ง ไฟฟ้าสว่างพอโดยเฉพาะทางไปห้องน้ำกลางคืน อุปกรณ์ช่วยเดิน อุปกรณ์จับยึดในห้องน้ำ อุปกรณ์วัสดุกันลื่นในห้องน้ำ แว่นสายตาและปัญหาการมองเห็นของผู้สูงวัย คนช่วยดูแลคนช่วยพยุง
ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยลดอัตราการล้ม และน่าจะลดอัตราการเสียชีวิตจากการหกล้มได้ครับ
"fall คือล้มแสนระทมกระดูกหัก
fall in รัก ถ้าอกหักแสนโศกเศร้า
fall in love ต้องดูใจกันยาวยาว
รอบแรกเล่า fall ก่อนเขา ชาวเยอรมัน"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม