19 พฤษภาคม 2563

massive plueral effusion

ภาพแสดง น้ำในเยื่อหุ้มปอดด้านซ้าย และ ดันหัวใจมาฝั่งขวา
ภาพเอ็กซเรย์จริงของผู้ป่วยรายหนึ่งมีอาการเหนื่อยมากขึ้นเรื่อย ๆ มาสามเดือน แน่นหน้าอก มีอาการไอและเจ็บหน้าอกซ้ายเวลาไอ นอนตะแคงซ้ายจึงดีขึ้น ผู้ป่วยมีประวัติสูบบุหรี่จัดมาตลอดสามสิบปี
ตรวจพบเสียงหายใจด้านซ้ายเบามาก เคาะปอดได้เสียงทึบ, vocal resonance ลดลง และท่อลม tracheal เอียงมาทางด้านขวา ชีพจร 100 ครั้งต่อนาที หายใจด้วยอัตรา 22 ครั้งต่อนาที ความดันโลหิต 110/70
เอ็กซเรย์พบน้ำอยู่เต็มทรวงอกด้านซ้าย ดันเนื้อปอดจนเหลือก้อนนิดเดียว และผลักดันหัวใจกับหลอดเลือดตรงกลางตัว (mediastinum) จนเอียงผิดตำแหน่งไปอยู่ทางด้านขวา เรียกว่า เมดิแอสตินัล ชิฟต์ (shift)
จากอาการเหนื่อย หายใจเร็ว ชีพจรเร็ว น้ำเต็มปอด ดันหัวใจไปอีกข้าง ถือเป็นภาวะที่ต้องรีบทำการตรวจและรักษา เนื่องจากพื้นที่หายใจตอนนี้เหลือเพียง 50% ในปอดขวา และการไหลเวียนโลหิตก็ไม่ดี ถูกกดเบียด เลือดดำไหลเข้าหัวใจไม่ดี เลือดแดงออกจากหัวใจไม่ดี ร่างกายพร้อมที่จะล้มเหลวตลอด เรียกว่าแขวนบนเส้นด้าย
การระบายน้ำออกจากทรวงอกเป็นสิ่งที่ต้องทำ ใส่สายหรือท่อระบาย (tube thoracostomy) โดยระบาย 1000-1500 ซีซีต่อวัน เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัว ปอดที่ถูกดันค่อย ๆ ขยายออก จะได้ไม่เกิดสารน้ำคั่งในถุงลม (re-expansion pulmonary edema) ให้ออกซิเจนและสารน้ำในเลือด หากปล่อยไว้จนหายใจไม่ไหวอาจต้องเอาน้ำออกเร็วและมาก โอกาสเสี่ยงจะสูง
ถามว่าทำไมคนไข้ทนได้ถึงสามเดือน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อย ๆ เกิด มีการปรับตัวมีการชดเชย ทำให้อาการไม่รุนแรงมาก จนกระทั่งความสามารถในการปรับตัวมันถึงที่สุด ก็จะพัง เหมือนทฤษฎีกบต้มเลย
ผลออกมาว่าผู้ป่วยเป็นมะเร็งปอดนะครับ ฝากมองกลับขึ้นไปว่า "สูบบุหรี่จัดต่อเนื่องมาสามสิบปี" ด้วยนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม