14 มิถุนายน 2561

ไคมีร่า ... ในวงการแพทย์

ไคมีร่า ... ในวงการแพทย์
ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์ มิสชั่น อิมพอสสิเบิ้ล ภาคสอง ที่ตอนนั้นผมยังโลดแล่นในวงการและรับบทอยู่บ้างนั้น (ฉากขี่มอเตอร์ไซค์แล้วหันหลังกลับมายิง ผู้กำกับอยากให้ใช้สแตนด์อิน ผมบอกไม่ต้อง มันไม่คือ ..!!) คงจำได้กับการสร้างไวรัสมรณะ ไคมีร่า และวางแผนจะขายยารักษา เบเลโลฟอน จนต้องแย่งชิงเบเลโลฟอนกันวุ่นวาย
ไคมีร่า เป็นสัตว์ร้ายตามนิยายกรีก พื้นฐานเป็นสิงโตก่อน กลางหัวมีหัวแพะโผล่ขึ้นมา หางเป็นงู มีปีกงอกมาบินได้ด้วยแถมสามารถพ่นไฟได้ดุจมังกรร้าย จริงๆแล้วไคมีร่าค่อนข้างสงบเสงี่ยม จะมีบางวันนึกสนุกก็บินไปพ่นไฟเผาเมืองเล่นๆ
เอาล่ะ สรุปว่าถูกวีรบุรุษเบเลโลฟอนสังหาร โดยเขาขี่ม้าเปกาซัสเซย่า และใช้ธนูอาคมจากสำนักอาจารย์คงนี่แหละ ไคมีร่า ก็เป็นที่โจษขาน ผู้คนรู้จักออกข่าวหน้าหนึ่ง ว่าตัวตนของมันมีส่วนผสมที่ไม่น่าจะลงตัวของสัตว์ต่างๆที่ไม่ได้เป็นพงศ์พันธุ์กันเลย แต่มาผสมกันได้แถมบินได้ พ่นไฟได้อีกต่างหาก ชื่อ Chimera ก็เลยมาใช้เวลาที่เรามีอะไรมาผสมเป็นหนึ่งเดียว- chimer หรือ chimeric -ทางการแพทย์
ที่ใช้ในปัจจุบันมากๆ คือ Chimeric protein ที่สังเคราะห์โมเลกุลโปรตีนออกมาให้คล้ายกับโปรตีนในร่างกายมนุษย์ ส่งผลให้โปรตีนนั้นเป็นซูเปอร์โปรตีน ออกฤทธิ์นานกว่า ทนกว่า เก่งกว่า โปรตีนของมนุษย์เรา แต่การที่จะสังเคราะห์เหมือนเป๊ะมันก็จะเหมือนธรรมชาติออกฤทธิ์ตามปกติ ไหนเลยจะมาสู้ธรรมชาติเราได้ เช่น rituximab ในการรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง
จึงต้องสังเคราะห์โมเลกุลขึ้นมา อาจจะเป็นโปรตีนกอไก่ ผสมกับ โปรตีนขอไข่ หรือมากกว่านั้น โปรตีน กอไก่ ขอไข่ คอควาย งองู หรือมากกว่านั้น เรียกว่า โปรตีนถูกทุกข้อ
หรือผสมข้ามสายพันธุ์ โปรตีนมนุษย์ข้ามไปผสมโปรตีนจากหนู หรือ กระต่าย เช่น pemtumomab
ปัจจุบันเน้นเป็นโปรตีนจากมนุษย์ เพราะเลี่ยงปฏิกิริยาข้ามสปีชี่ส์ อาจจะสังเคราะห์มาทั้งดุ้นหรือผสมแบบนี้ก็ได้ ยาหรือสารที่ใช้ในการวินิจฉัยต่างๆเหล่านี้มักลงท้ายด้วย -mab (monoclonal antibody) ใครสนใจหลักการตั้งชื่อว่า แม็บๆ ทั้งหลายต้องตั้งชื่อแบบไหนมาจากอะไรผมทำอ้างอิงมาให้ด้านล่าง
ก็เป็นเรื่องราวของเจ้าไคมีร่า ที่ยังโลดแล่นอยู่ในวงการแพทย์และวงการยา อนาคตการรักษาและยาทั้งหลายจะเป็น precision target แบบนี้หมดแล้วนะครับ
ส่วนที่ แหมบๆ ทั้งหลาย ให้ไปเสริมเอาเองนะครับ ยาอะไรก็ช่วยบ่ได้เด้อ
Parren PWHI, Carter PJ, Plückthun A. Changes to International Nonproprietary Names for antibody therapeutics 2017 and beyond: of mice, men and more. mAbs. 2017;9(6):898-906. doi:10.1080/19420862.2017.1341029.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม