05 มิถุนายน 2561

รู้จักศัพท์เรื่อง ชนิดยาสูดพ่นในการรักษาโรคปอด

รู้จักศัพท์เรื่อง ชนิดยาสูดพ่นในการรักษาโรคปอด
เมื่อวานทำการสังคายนาลิ้นชักห้องตรวจ เอามาจัดใหม่ก็พบว่ามีตัวอย่างยาสูดรักษาหอบหืดหลายชนิด ก็นำมาให้รู้จักกันเป็นพื้นฐานนะครับ ใครป่วยโรคนี้หรือดูแลผู้ป่วยจะได้เข้าใจ
ก่อนจะรู้จักชนิดยา เรามารู้จักชนิดอุปกรณ์ อุปกรณ์แบ่งได้เป็นสองชนิดหลักๆคือ ยาพ่นและยาสูด ยาพ่นคือยาที่มีแรงลมที่มักจะเป็นแก๊สอัดมาแล้ว เมื่อกดออกมาจะได้ขนาดยาตามที่ต้องการไม่ต้องออกแรงสูดเองแต่ต้องกะจังหวะการสูดให้เข้ากับจังหวะการกดพ่น ส่วนอีกชนิดคือยาสูดจริงๆควรใช้ชื่อยาดูดจะตรงกว่า เพราะต้องใช้แรงของเราเองสูดยาให้ผงแป้งละเอียดๆเข้าสู่ปอด ปัจจุบันมีหลายรูปแบบมาก แต่อย่างไรเราต้องสูดไหวและใช้ถูก
ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์สั้น (short-acting beta2 agonist :SABA) มักจะเป็นยาพ่นมากกว่า พวกนี้ใช้ในการแก้ไขอาการเฉียบพลันเป็นหลักนะครับ มันใช้ป้องกันการกำเริบได้ยากเพราะมันออกฤทธิ์ไวหมดฤทธิ์ไว หอบเมื่อไรค่อยพ่น หลายๆคนคิดว่ามันเป็นยาที่ดีมากเพราะมีอาการทีไร หายทุกที แต่จริงๆเราจะใช้มันน้อยมาก เพราะถ้าใช้บ่อยจะแสดงว่ายังคุมโรคได้ไม่ดี
เช่นตัวยา salbutamol หรือยาสูตรผสม salbutamol/ipratopium
ยาขยายหลอดลมชนิดออกฤทธิ์ยาว เราแบ่งออกเป็นสองพวกตามตำแหน่งการออกฤทธิ์ แต่ออกฤทธิ์ยาวเหมือนกันคือ long-acting beta2 agonist (LABA) และ long-acting muscarinic antagonist (LAMA) ยากลุ่มนี้วัตถุประสงค์เพื่อควบคุมอาการในระยะยาวคือ 12-24 ชั่วโมง ส่วนมากจะเป็นยาสูด สูดวันละหนึ่งถึงสองครั้ง สะดวกและไม่ลืม เกือบทั้งหมดเป็นยาสูด
สมัยก่อนเราจะไม่มียาสูตรนี้เดี่ยวๆ มียาสูตร LABA ผสมกับยาสูดสเตียรอยด์ด้วยสาเหตุที่ประสิทธิภาพสูงกว่ายาเดี่ยวและราคาถูกกว่า แต่ปัจจุบันข้อมูลการใช้ยาเดี่ยวในการรักษาถุงลมโป่งพองมีมากขึ้น ในท้องตลาดจึงมีจำหน่ายยาเดี่ยวมากขึ้น และยังมียาผสม LABA/LAMA อีกด้วย
ยาสูดพวกนี้ใข้เวลาหลายนาทีจนถึงชั่วโมงกว่าจะออกฤทธิ์ยกเว้นแต่ยาสูด Formoterol ที่สามารถเริ่มออกฤทธิ์ได้เร็ว สามารถใช้เป็นยาสูดแก้ไขอาการร่วมด้วย ยิ่งถ้าใช้ร่วมกับยาสูดสเตียรอยด์ก็จะลดอาการกำเริบซ้ำได้ดีขึ้น (SMART concepts)
ยา LABA ได้แก่ indacaterol, vilanterol, olodaterol, salmeterol, formoterol ยา LAMA ได้แก่ tiotopium, aclidinium, glycopyrronium,
หรือยาสูตรผสม formoterol/glycopyrronium, vilanterol/umeclididium
ยาสูดพ่นสเตียรอยด์ (inhaled corticosteroid : ICS) คือสารสเตียรอยด์แบบต่างๆที่ใช้ควบคุมอาการ ลดการอักเสบหลอดลม ลดโอกาสกำเริบ ป้องกันไม่ให้หลอดลมหนาตัว ถือเป็นยาหลักในการรักษาโรคหืดแต่เป็นยาเสริมในผู้ป่วยอาการไม่ดีของโรคถุงลมโป่งพอง ในผู้ป่วยโรคหืดควรได้ยานี้ทุกรายและได้ไปตลอด (มีบางรายที่นานๆกำเริบทีก็ไม่ต้องใช้ เช่นเวลาลิเวอร์พูลได้แชมป์หืดจะกำเริบ คือต้องนานขนาดนี้)
รูปแบบยาเดี่ยวๆมีน้อยลงมาก เพราะการรักษาปัจจุบันการใช้ยาสูตรผสม LABA/ICS หรือ เหมาๆ LABA/LAMA/ICS ได้ผลดีกว่ายาเดี่ยวๆ แถมเมื่อนำยามาผสมรวมกันประสิทธิภาพดีขึ้นใช้ง่ายและราคาถูกลงกว่ายาเดี่ยว จึงเป็นรูปแบบยาสูดแบบรวมเสียส่วนมาก ใช้ได้เหมือนกัน รูปแบบยาพ่นเดี่ยวๆน้อยมากๆ ยาสูดเดี่ยวๆก็น้อย
ยาพ่นเดี่ยวๆเช่น budesonide, หรือยาสูดเดี่ยว budesonide แต่ส่วนใหญ่เป็นยาสูตรผสมเช่น formoterol/budesonide, vilanterol/fluticasone, salmeterol/fluticasone
ไหนๆก็ไหนๆแล้วนะ เพิ่มอีกหน่อย ยากินที่ยังใช้อยู่คือ ยาต้านการอักเสบ (leukotrienes inhibitor) ได้แก่ ยาขยายหลอดลมกลุ่ม xanthines ที่ยังมีที่ใช้ในกลุ่มถุงลมโป่งพอง คือ theophylline และ doxophylline
ส่วนยากินสเตียรอยด์แทบไม่ใช้นะครับ ผลเสียต่อระบบอื่นๆของสเตียรอยด์มันสูงมาก ยากินขยายหลอดลมแบบออกฤทธิ์สั้น ก็มีผลข้างเคียงมาก ควรใช้ยาสูดดีกว่า ยา phosphodiesterase-4 inhibitor ชื่อ roflumilast ก็มีที่ใช้บ้างในกรณีโรคคุมไม่ได้
ยากลุ่มที่จะมาเป็นความหวังในอนาคตคือยาที่จะไปจับและดัดแปลงภูมิคุ้มกันของเราเอง เพราะกุญแจหลักในการเกิดหอบหืด (ไม่ใช่ถุงลมโป่งพองนะ) คือการอักเสบของร่างกาย ยาฉีดเหล่านี้จะตรงเป้าไปจัดการโมเลกุลต่างๆเหล่านี้ เช่น anti-interleukin 5, tumor necrotic factor ปัจจุบันเราใช้ในแง่โรคหืดคุมไม่ได้จริงๆ เพราะยาราคาแพงและผลข้างเคียงพอสมควร
จะค่อยๆทยอยลงเรื่องราวของแนวทางการรักษาถุงลมโป่งพองและหอบหืด 2018 ที่น่ารู้สำหรับประชาชนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม