20 มิถุนายน 2561

คุณหมอโจเซฟ แมงเกเล่ ..Angel of Death

หมอ ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่อุทิศชีวิตเพื่อช่วยคน แต่วันนี้เรามารู้จักหมออีกคนกัน คุณหมอโจเซฟ แมงเกเล่ ..Angel of Death
คุณหมอแมงเกเล่เกิดในปี 1911 เป็นชาวเยอรมันโดยแท้เกิดที่แคว้นบาวาเรีย ฐานะค่อนข้างดีคุณหมอเรียนจบปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยา และจบแพทย์จากมหาวิทยาลัยแฟรงค์เฟิร์ตในปี 1937 จะสังเกตว่าชั่วชีวิตวัยรุ่นของคุณหมอ เติบโตมาด้วยความทุกข์จากการแพ้สงครามโลกครั้งที่หนึ่งและลัทธิชาตินิยม หนึ่งในสาเหตุที่คุณหมอเลือกเรียนมานุษยวิทยาก็เพื่อศึกษาเรื่องของความแตกต่างกันของเชื้อชาติ คุณหมอสนใจและทำวิจัยเรื่องความแตกต่างกันของกระดูกกรามล่างในเชื้อชาติต่างๆ และสนใจศึกษาเรื่องของฝาแฝดอย่างมาก
ปี 1937 หลังจากที่จบแพทย์คุณหมอได้เลือกเข้าพรรคนาซีของฮิตเลอร์ที่กำลังก้าวมามีอำนาจ คุณหมอเคยเข้ารบในแนวหน้าที่ชายแดนรัสเซียแต่ได้รับบาดเจ็บและกลับมาทำงานที่ตัวเองชอบ คือเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์ของหน่วย SS หน่วยพิทักษ์ชาติของนาซี
ในช่วงนั้นเยอรมันเริ่มเข้าสู่สงครามโลก ลัทธิชาตินิยม แบ่งแยกเชื้อชาติเป็นอีกนโยบายหนึ่งของพรรคนาซีที่ต้องการให้ชนชาติเยอรมันเท่านั้นที่จะอยู่ได้ เชื้อชาติยิว ยิปซีต้องถูกสังหาร
ด้วยความที่เขาสนใจศึกษาเรื่องพวกนี้เป็นทุนเดิม เขาจึงได้รับการติดต่อจาก ไฮน์ริช ฮิมเลอร์ ผบ.สูงสุดของหน่วย SS เพื่อให้ไปเป็นหัวหน้าหน่วยแพทย์ในการ "คัดเลือก" เผ่าพันธุ์ที่ค่ายกักกันเอ๊าชวิตช์-เบียคาเนา ในปี 1942
ที่นั่นคุณหมอแมงเกเล่และพรรคพวกอีกสามคน ได้กระทำการเลวร้ายที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์การแพทย์ การคัดเลือกคนและการทดลองกับคน !!
การคัดเลือกคนของคุณหมอแมงเกเล่และทีม คือ คัดเลือกนักโทษที่เข้ามาสู่ค่ายกักกันว่าใคร จะอยู่ต่อไปเพื่อใช้แรงงาน ใครไร้ประโยชน์และต้องเข้าสู่ห้องรมแก๊สและเผาทิ้ง ถามว่าใช้อะไรตัดสิน ก็ต้องตอบว่า แล้วแต่วิจารณญาณของคุณหมอแมงเกเล่ หรือ "เรื่องของกู" นั่นเอง
แล้วแต่ จะชี้ใครไปตายก็ได้เพียงกระดิกนิ้ว พลังทำลายมากกว่ากระสุนปืนหลายเท่า ทำตั้งแต่ลงจากรถไฟมาค่ายกักกัน หรือระหว่างอยู่ในค่าย เด็ก ผู้สูงวัย ผู้เจ็บป่วย เกือบล้านคนที่ถูกตัดสินโดยทีมหมอแมงเกเล่ให้เดินทางสู่ความตายเพียงแค่ "เลือก" ด้วยหางตา
การทดลองในคนของคุณหมอแมงเกเล่และทีม ไม่ได้อยู่ภายใต้กฎแห่งมนุษยธรรมใดๆทั้งสิ้น เช่น อยากรู้ว่าเวลามีแผลแล้วถ้าใช้เศษแก้วเผาไฟใส่ฆ่าเชื้อโรคได้ไหม ก็ทำให้นักโทษเกิดแผลแล้วทุบแก้วลนไฟใส่เข้าไปสดๆ ไร้ยาสลบ ไร้ปฏิกิริยาต่อการวิงวอน
ทดลองฉีดเชื้อโรคเข้าไปในตัวคน ว่าปฏิกิริยาจะเป็นอย่างไร ทดลองฉีดฟีนอลโดยตรงเข้าไปที่หัวใจว่าจะตายไหม ทดลองว่าภายใต้อุณหภูมิเย็นมากๆการตอบสนองร่างกายเป็นอย่างไร ก็จับคนมาแช่น้ำแข็ง
ทั้งหมดจะทำจนเหยื่อเสียชีวิตไปต่อหน้า หรือ เสียชีวิตภายหลัง หยิบใครมาทดลองก็ได้ ยิ่งโดยเฉพาะฝาแฝดแล้ว คุณหมอแมงเกเล่ชอบเป็นพิเศษในการศึกษาว่าต่างกันอย่างไร อยากรู้กายวิภาคก็ไปพาฝาแฝดมา (ส่วนมากก็ยิวหรือยิปซี) มาสังหารแล้วชำแหละดู
หรืออยากรู้ว่าคนพี่เจ็บ คนน้องเจ็บด้วยไหม ก็เอาแฝดมาทรมานแล้วดูปฏิกิริยาอีกคน นักโทษที่เป็นแพทย์และต้องจำใจช่วยแมงเกเล่บอกว่า เขาได้ข้อมูลเกี่ยวกับเชื้อชาติเป็นเล่มโตๆ หลายเล่มเลย และเอาบางส่วนติดตัวไปขณะที่หลบหนีไปถึงอาร์เจนตินา
ในกระบวนการต่างๆฉากหน้านั้น แมงเกเล่จะดูเป็นหมอใจดี พาคนไปรักษา (พาไปรมแก๊สและทดลอง) นำขนมและเสื้อผ้ามาให้เด็ก เป็นลุงหมอผู้แสนใจดีของเด็กๆในค่ายกักกันและพาเด็กคนนั้นไปตลอดกาล
ที่เลวร้ายที่สุดคือใช้รถและป้ายสัญลักษณ์กาชาดหลอกให้คนตายใจว่าจะมาช่วย แล้วก็พาไปสังหาร พาไปเข้าห้องล้างเผ่าพันธุ์
ที่เอ๊าชวิตช์...ที่นี่คือ..นรกบนดิน อย่างชัดเจน
ความโหดเหี้ย..ม.. ของแมงเกเล่นั้น ในการพิจารณาคดีสงครามที่นูเร็มเบิร์กได้มีการสืบถึงเรื่องราวที่เกิดในค่ายเอ๊าชวิตช์เรื่องการทดลองในคนอย่างไร้มนุษยธรรม ทำให้เกิดข้อตกลงเรื่องการศึกษาวิจัยในคนอีกมากมาย โดยเฉพาะการทดลองในคน Declaration of Helsingi
เรื่องราวของแมงเกเล่ได้รับการบอกเล่าจากเหยื่อที่รอดชีวิต จากเจ้าหน้าที่หน่วย SS เพราะหลักฐานเกือบทั้งหมดเขาทำลายหรือนำติดตัวไปถึงอาร์เจนตินา
แมงเกเล่เป็นหนึ่งในผู้มีอำนาจสูงสุดในการควบคุมห้องรมแก๊สและการจัดการศพ การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ มีความผิดมากมาย แต่เขาก็เล็ดรอดการจับกุมมาได้ ท้ายสุดไปใช้ชีวิตเกษตรกร แต่งงานใหม่ ย้ายไปในหลายๆประเทศขออเมริกาใต้ ทั้งอาร์เจนตินา ปารากวัย อุรุกวัย และท้ายสุดที่บราซิล ใช้ชื่อหลายชื่อและชื่อท้ายสุดคือ โฮเซ่ มังเกิล ที่เซาเปาโล บราซิล กับครอบครัวที่ภักดีนาซีคือ โวลฟกัง เกฮาร์ด
ท้ายสุดบันทึกไว้ว่าเขาเป็นอัมพาตเฉียบพลันขณะว่ายน้ำและจมน้ำเสียชีวิต การพิสูจน์ดีเอ็นเอภายหลังพบว่าหลุมศพหนึ่งของตระกูลเกฮาร์ด คือ โจเซฟ แมงเกล่าอย่างชัดเจน
ความรู้สึกที่ได้ไปยืนอยู่ในอดีตสถานที่ที่แมงเกเล่ทำการทดลองทางการแพทย์ที่ไร้มนุษยธรรมนั้นมันโศกสลดอย่างสุดใจ มองผ่านหน้าต่างบานนั้น เมื่อ 80 ปีที่แล้ว...เขาคนนั้นจะรู้สึกอย่างไร...มันช่างยากนักที่จะบรรยายออกมาเป็นคำพูดได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม