28 มิถุนายน 2561

Auschwitz

ค่ายนรกเอ๊าชวิทช์ 

อย่างแรกการเดินทางมาที่นี่ ถ้าไม่ได้ซื้อทัวร์มาก็จะต้องมาลงทะเบียนเข้าเป็นกลุ่ม กลุ่มละไม่เกินสามสิบคน บังคับมีมัคคุเทศก์นำไป เดินเข้าไปเองไม่ได้นะครับ ยกเว้นมาก่อน 09.00 น หรือหลัง 15.00 น ที่จะเดินได้เอง ตามlonely planet เขียนไว้อย่างนั้นแต่ผมก็เห็นต้องลงทะเบียนทุกคน ทำไมต้องลงทะเบียนและจำกัดคนด้วย

  เพราะค่ายเอ๊าชวิทช์หนึ่ง ไม่ได้กว้างขวางอะไร นิทรรศการก็อยู่ในอาคารเป็นหลักถ้าไม่จัดกลุ่มคงวุ่นวาย แต่ละกลุ่มจะมีไกด์ที่พูดภาษาต่างๆกัน ดัตช์ โปล ฝรั่งเศส อังกฤษ ฯลฯ … เราเข้าใจภาษาไหนเราก็เลือกกลุ่มนั้น ไกด์จะพาเราเข้าชม คอยจัดลำดับแต่ละกลุ่มไม่ให้สับสนและมากเกินไปในแต่ละอาคาร รวมทั้งควบคุมเวลาด้วย เสียค่าไกด์ 450 บาท ได้รับแจกหูฟังที่รับสัญญาณจากไมโครโฟนของไกด์เรา เพราะเวลาเข้าไปชมนั้นที่มันจะแคบมาก ถ้าเข้าสักสองสามกลุ่ม สามภาษาเสียงดังๆ คงตีกันยุ่งพิลึก

  ผมไปอยู่ในกลุ่มดัตช์ แน่นอนฟังไม่ออกหรอกแต่เวลามันบังคับ ไกด์เขาก็เดินมาถามว่า คุณเป็นชาวดัตช์หรือ (ถามเป็นภาษาอังกฤษ) ผมก็บอกว่าไม่ใช่และฟังดัตช์ไม่ได้ด้วย แต่ผมก็จะเดินตามคุณไปและทำตามกฎของที่นี่ เขาก็ถามกลับ แล้วคุณจะรู้เรื่องหรือ ผมนึกในใจ…ให้ผมพาเดินก็ได้นะ … แต่ตอบไปแบบพระเอกๆว่า ผมอ่านมาบ้างและขอรับรู้ด้วยใจ  มีเสียงตบมือด้วย คนอเมริกันอีกสองคนและคนอาร์เจนตินาอีกคนบอกว่า เขาก็ฟังดัตช์ไม่ออกเหมือนกัน …มีคนแบบกรูด้วยแฮะ
  เราชำระค่าไกด์ (ชำระและเลือกกลุ่มแบบออนไลน์ได้ที่ auschwjtz.org) เขาจะพาเราไปที่ค่ายเอ๊าชวิทช์ก่อนใช้เวลาประมาณ เกือบๆสองชั่วโมง หลังจากนั้นก็จะนั่งรถบัสฟรี เชื่อมต่อค่ายเอ๊าชวิทชสอง หรือค่ายเบียคาเนา (ภาษาโปล) จริงๆแล้วค่ายกักกันเอ๊าชวิทช์นั้น มีค่ายหลักสามค่ายคือค่ายเอ๊าชวิทช์หนึ่งที่จัดนิทรรศการ ค่ายเอ๊าชวิทช์สองที่ทั่วโลกเคยเห็นภาพคนลงมาจากรถไฟมากๆนั่นแหละครับ เรียกว่าค่ายเอ๊าชวิทช์-เบียคาเนา และค่ายเอ๊าชวิทช์สาม หรือที่เรียกปัจจุบันว่า โมโนวิทช์ และยังรายล้อมด้วยค่ายเล็กๆ ขนาดไม่ถึงพันคนที่เรียกว่า sub-camp คือ sub – concentration camp กระจัดกระจายรอบๆอีกเป็นสิบๆ เพื่อสะดวกในการขนผู้คนไปโรงงาน เรียกทั้งหมดว่า Auschwitz Complex

   ภายในค่ายเอ๊าชวิทช์หนึ่ง พื้นที่ไม่ได้กว้างขวาง เดิมทีเป็นหน่วยตรวจคนเข้าเมืองและแรงงานต่างด้าวสมัยที่โปแลนด์อยู่ภายใต้การควบคุมของอาณาจักรออสเตรีย (ออสเตรีย-ฮังการี ในสมัยก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง) หลังจากนั้นก็เป็นโรงงานยาสูบ หลังสุดเป็นที่ฝึกทหารและตำรวจโปแลนด์ พื้นที่รอบๆนี้ก็เป็นที่อยู่ของชาวบ้าน ตอนต้นปี 1939 ก็เริ่มไล่คนออกจากพื้นที่ให้ไปอยู่ในสลัมแทน แล้วเกณฑ์แรงงานมาสร้างค่ายและโรงงาน

  แรกเริ่มเดิมทีเป็นทางกองทัพนาซีที่เป็นคนเริ่มสร้างค่ายกักกันนี้เพื่อคุมขังนักเคลื่อนไหว นักโทษการเมือง ผู้มีอิทธิพลทางความคิดของโปแลนด์ เพราะตอนนั้นประชาชนชาวโปแลนด์ลุกฮือขึ้นบ่อยครั้งในการบุกยึดโปแลนด์ของนาซีเยอรมัน  นักโทษการเมืองจากทั้งโปแลนด์และประเทศข้างเคียงถูกส่งมาที่นี่
  เมื่อเปิดทำการจนกระทั่งขยายค่ายจะมีนักโทษอยู่ราวๆ 20,000 คน แต่นี่คือยอดสุทธิในแต่ละวัน ทุกวันจะมีเข้าและออกเสมอ..ออกคือ…เสียชีวิต  ส่วนค่ายเอ๊าชวิตช์-เบียคาเนาจะมีคนอยู่ประมาณ 100,000 คน ส่วนเอ๊าชวิตช์สาม หรือ โมโนวิตช์จะรับได้ 10,000 คน ทั้งสามค่ายมีความหนาแน่นและแออัดมาก

  ในปี 1942 ทางนาซีได้กำหนดให้ค่ายเอ๊าชวิตช์เป็นจุดสังหารชาวยิวที่รวบรวมมาได้จากทั่วยุโรป ตั้งแต่นี้จึงมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในค่าย มีการสร้างห้องรมแก๊สและเตาเผา โดยเฉพาะที่ค่ายเบียคาเนามีการออกแบบสร้างเตาเผาเป็นอาคารพิเศษเลย ให้สามารถสังหารและเผาทำลายได้ครั้งละมากๆ ความหนาแน่นของประชากรเดิมที่หนาแน่นอยู่แล้วยิ่งหนาแน่นขึ้น นอกเหนือจากสังหารแล้ว รอบๆ เอ๊าชวิตช์ยังสร้างเป็นโรงงานผลิตวัสดุอุปกรณ์เพื่อส่งให้ส่วนต่างๆของอาณาจักรไรซ์ ทางรถไฟรางคู่ขนส่งสินค้าออกไป พร้อมกับรับคนกลับมา….สังหาร ทุกวันๆ

     เมื่อเข้ามาจะถูกแยกไปอยู่บล็อกต่างๆ อาคารอิฐก่อทึบมีหน้าต่างห้องละ 2-3 บาน ปล่องไฟและอุปกรณ์สร้างความอบอุ่นมีห้องละอัน อย่าลืมว่าที่นี่ฤดูหนาวจะหนาวจัด กระทั่งนักท่องเที่ยวยังไม่ค่อยมา แต่ว่าคุณไกด์บอกว่าการเข้ามาชมในฤดูหนาวจะดูทรงพลังมาก เพราะได้รับทราบความรู้สึกของนักโทษเลย หนาวจัด และนักโทษไม่มีเสื้อคลุมมีแต่ชุดนักโทษบางๆ กับเตาผิงเล็กๆประจำห้องเท่านั้น
  ตื่นเช้ามาก็ต้องเก็บเครื่องนอนโดยเร็ว ออกมานับจำนวน ใครตายก็ต้องเอาออกมานับด้วย เพราะถ้าไม่ครบไม่ว่าด้วยกรณีใดๆ ได้รับโทษหนัก หนักสุดคือตายกันหมด เมื่อเสร็จแล้วก็กินอาหาร เข้าห้องน้ำ ที่นี่เข้าส้วมได้ครั้งละ 3-5 นาที ถ้าไม่ออกมาก็ถูกทำโทษ และแค่ไม่ออกมาจากห้องน้ำให้เร็วพอก็อาจเป็นสาเหตุให้ถูกยิงตายได้ แล้วเดินแถวไปทำงาน  ทำถนน สร้างรางรถไฟ ทำโรงงาน ขุดเหมือง บรรยากาศเหมือนคุณดูเรื่อง Schindler’s List เลยทีเดียว ทำงานไม่มีหยุด ไม่มีพัก ห้ามขาด ห้ามลา ห้ามป่วย ห้ามสาย ถ้าอยากหยุดต้องหมดลมหายใจ

  หากตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่เพื่อนๆต้องแบกศพกลับมาด้วยเป็นหลักฐานว่าตายจริง เวลานับแถวตอนเย็นจะได้ครบ หากไม่ครบโทษหนักหรืออาจตายตกตามกัน  

  ที่นี่ทุกคนจะใส่ชุดนักโทษที่ดูคล้ายๆชุดนอน มีหมายเลขประจำตัวแทนชื่อ หมายเลขประจำตัวนี้จะไม่มีวันลืมเพราะนาซีสักเลขไว้ที่ร่างกายเลย การรวมตัวของเหยื่อผู้รอดชีวิตในค่ายกักกันในโอกาสครบรอบ 50 ปี ทุกคนเดินมาโชว์รอยสักที่ยังเป็นบาดแผลทั้งใจและกายมาถึงทุกวันนี้   ที่อกซ้ายจะมีเครื่องหมายแยกชนิดนักโทษ ยิว, นักโทษการเมือง, ยิปซี, เชลยศึกโซเวียต, นักโทษแรงงาน, นักโทษเด็ดขาดฝากขังของเกสตาโป, อาชญากรชาวเยอรมัน คนกลุ่มนี้มักจะได้รับเลือกเป็นผู้ช่วยผู้คุม, นักบวชและผู้เคร่งครัดศาสนา, โฮโมเซ็กช่วล

  ทุกคนมีรายชื่อละเอียด ที่มาที่ไป และ…ที่ตาย
   หลังจากปี 1942 นักโทษหลั่งไหลมาที่เอ๊าชวิตช์มากขึ้น เพราะถูกส่งมาสังหาร เราจะมาเล่าเรื่องของ walking to the death

นักโทษที่ได้รับการคัดเลือกให้เข้าสู่ห้องรมแก๊สในค่านเอ๊าชวิตช์หนึ่งก็จะต้องถอดเสื้อผ้าออก (ในกรณีคนที่อยู่มาสักพักแล้วจะถูกตัดผมออกไป หรืออาจตัดก่อนเข้าห้อง) แล้วเดินเรียงกันเข้าไปในห้อง พวกนักโทษไม่ทราบว่าจะไปไหนยกเว้นนักโทษผู้ช่วยที่คอยคุมแถวเท่านั้น ไม่ทราบด้วยว่าจะไปอาบน้ำเพราะการให้ถูกถอดเสื้อเดินเป็นเรื่องปรกติของที่นี่ แน่นอนไม่มีคำถามได้แต่ทำตามเท่านั้น

  เมื่อเข้าไปในห้องรมแก๊ส เป็นห้องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างประมาณ 3เมตร ยาวเกือบ 20 เมตร ประตูเหล็กถูกปิด ด้านบนหลังคามีช่องเปิดอยู่สองช่องมีบานประตูปิดอยู่ สาร zyklon b ที่ทางค่ายเอ๊าชวิตช์สั่งมาหลายตันก็จะถูกใช้ ทำให้เกิดแก๊สไซยาไนด์เข้ามาในห้องรมแก๊สนี้ เดิม zyklon b ออกแบบมาเป็นสารฆ่าแมลงแต่ก็ได้นำมาใช้รมแก๊สในทุกๆค่ายกักกัน  ระยะแรกๆใช้ในห้องใต้ดินของบล็อก 11  ต่อมาย้ายมาที่ห้องนี้ เพราะติดกับเตาเผาศพ
   ผู้ควบคุมจะใส่หน้ากากคอยตรวจสอบว่าตายหรือยัง เมื่อเสียชีวิตหมดก็เปิดฝาหลังคา เปิดประตูและนำศพไปเผาทำลาย ที่ค่ายเอ๊าชวิตช์หนึ่งยังพอเผาทำลายได้ทันเพราะห้องรมแก๊สไม่ได้ใหญ่มาก  หลังจากที่ค่ายเบียคาเนาสร้างห้องรมแก๊สและเตาเผาเสร็จ การรมแก๊สส่วนมากก็เกิดที่นั่น

  ที่ค่ายเบียคาเนามีห้องรมแก๊สขนาดใหญ่ห้องแรก “the Red House” และห้องที่สอง “the White House” ที่ปัจจุบันถูกทำลายเหลือแต่ฐานอาคาร เพราะนาซีทำลายก่อนทิ้งค่ายเพื่อทำลายหลักฐาน
   เตาเผาศพนั้นที่ค่ายเอ๊าชวิตช์หนึ่งจะมีเตาเผาขนาดไม่ใหญ่มาก ติดกับห้องรมแก๊ส แต่ว่าที่ค่ายเอ๊าชวิตช์สองนั้นมีการออกแบบและสร้างเตาเผาแบบจริงจัง วางแผนที่จะสังหารอย่างแท้จริง เตาเผาที่สร้างสำเร็จสามเตาเผาได้ครั้งละ 30-40 คนต่อเตาเผา แต่ว่าขนาดนี้ก็ยังไม่พอ ต้องนำศพผู้เสียชีวิตออกไปเผากลางแจ้งซึ่งเสี่ยงต่อการถูกพบเห็นและก็ถูกพบเห็นและแอบบันทึกภาพโดยทหารหน่วย SS เช่นกัน

   หลังจากนาซีเพลี่ยงพล้ำในสงคราม กองทัพแดงในโซเวียตเข้าถึงค่าย ทหารนาซีระเบิดค่ายและทำลายห้องบ่มแก๊สเพื่อทำลายหลักฐาน ที่ค่ายเอ๊าชวิตช์สองนี้เตาเผาหมายเลขหนึ่งและหมายเลขสองถูกทำลาย เศษซากบางส่วนทางการโปแลนด์นำมาทำเป็นอนุเสาวรีย์แห่งค่ายเอ๊าชวิตช์ แผ่นจารึกแปดภาษารายเรียงให้คนแต่ละเชื้อชาติมาทำความเคารพ
  ในค่ายเอ๊าชวิตช์สองถูกทำลายมากกว่า เหลือแค่เศษซาก ที่นี่นักท่องเที่ยวชาวยิวและชาวอิสราเอลจะมาสวดทำพิธีอยู่บ่อยๆ เพื่อรำลึกถึงอดีตบรรพบุรุษชาวยิวกว่าล้านคนที่ถูกทำร้ายอย่างเหี้ยมโหดที่นี่

ในแง่ชีวิตและความเป็นอยู่ เหล่านักโทษที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ต่อ ไม่ต้องเข้าห้องรมแก๊สจะได้รับการจัดสรรให้อยู่ในห้องพัก แยกผู้หญิงและเด็ก ผู้ชาย ยิปซี แต่ไม่ว่าจะแยกแบบใดความเป็นอยู่ก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก

  สภาพความแออัดถือว่าแออัดมาก พื้นที่โรงนอนเท่าสนามบาสเก็ตบอลสองสนาม มีแคร่นอนสามชั้นทำจากปูนบ้าง ทำจากไม้บ้าง นอนอัดกันแต่ละชั้นห้าถึงแปดคน แคร่นอนเรียงจนแน่นโรงนอน ไม่มีที่ว่างตรงกลาง มีเพียงเตาผิงเล็กๆให้ความอบอุ่นหนึ่งถึงสองเตาต่อโรงนอน ช่องระบายอากาศเล็กๆ หนึ่งถึงสองช่องด้านบนเพดาน บางโรงนอนโชคดีที่มีหน้าต่าง  ส่วนที่เอ๊าชวิตช์หนึ่งจะเป็นอาคารที่มีสุขอนามัยดีกว่า มีหน้าต่าง มีการระบายอากาศ
  แต่ถ้าถามเรื่องความหนาแน่นประชากรต่อหน่วยพื้นที่ก็ต้องถือว่าพอๆกัน ด้วยสภาพแบบนี้สุขภาพย่อมไม่ดี โรคระบาดทางเดินหายใจ วัณโรค ถ่ายเหลวติดเชื้อ ในค่ายเอ๊าชวิตช์หนึ่งที่ต้องนอนพื้นสลับหัวสลับเท้าแออัด ไม่มีห้องน้ำเพียงพอ บางทีก็ต้องจมกองอึกองฉี่ทั้งคนดีและคนป่วย โรคระบาดที่คร่าชีวิตนักโทษมากที่สุดคือ ไข้รากสาดใหญ่ (typhus) ถึงขนาดว่าเจ้าหน้าที่ SS ต้องขอให้นักโทษช่วยกำจัดหมัดทีเดียว

   อาหารนั้นไม่พอแน่ๆ อย่างที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ สภาพทุกคนคือหนังหุ้มกระดูก ไม่มีกล้ามเนื้อ ไม่ต้องพูดถึงกลไกและฮอร์โมนในร่างกาย ผิดปกติหมดแน่ๆ

   สภาพจิตใจที่ไม่มีทางรู้ว่าจะมีอิสรภาพเมื่อใด แต่ถ้าอยู่แบบซังกะตาย ไม่ทำงานรับรองโดยทำร้าย โดนสังหาร โดนฆ่าแน่นอน ความอึดอัด เคียดแค้น ทุกข์ เศร้า ทำให้สุขภาพจิตนักโทษเสียไปอย่างสิ้นเชิง คำสัมภาษณ์ของนักโทษที่รอดมาเธอยังหวาดผวาเวลานอนต่อไปอีกหลายปี

   สภาพสังคมที่ไม่รู้เรื่องโลกภายนอก พ่อแม่พี่น้องจะเป็นตายร้ายดีอย่างไร ส่วนมากไม่พบญาติอีกเลย ตอนที่มาถึงที่นี่ก่อนจะถูกคัดเลือกคัดแยกจะเป็นวินาทีสุดท้ายที่ได้เห็นกัน หลายคนที่รอดออกไปคือเริ่มชีวิตใหม่จากศูนย์ ไม่มีปัจจัยสี่ ไม่มีญาติ ไม่มีเพื่อน ไม่มีแม้แต่ตัวตน

  ทุกวันเมื่อมีคนตายจะมีการถ่ายเทสมบัติไปสู่คนอื่น ผ้าพันคอ เสื้อ ผ้าห่ม แก้วน้ำ รองเท้า ถุงเท้า ไม่มีการฆ่าเชื้อ อย่าว่าแต่ฆ่าเชื้อเลย บางทีต้องใช้น้ำที่ขังอยู่ตามพื้นหลังฝนตกซักล้างเสื้อหรือล้างแก้ว
  ใครอยากได้อะไร ให้ไปเรียกร้องที่ทหาร SS สิ่งที่ได้กลับมาคือลูกปืนเสมอๆ
ประมาณการณ์คนยิวที่ถูกสังหารทั้งหมดทุกค่ายประมาณ 6 ล้านคน โดยสังหารและเผาที่นี่มากที่สุด 1.5 ล้านคน ยังไม่นับเชลยสงคราม ยิปซี นักโทษการเมือง โสเภณีและชาวรักร่วมเพศ เป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่มากมายและยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์

การดำเนินงานของค่ายนรก ดำเนินไปอย่างรัดกุมเงียบเชียบเป็นความลับ แต่ความลับไม่มีในโลก ข้อมูลจากค่ายกักกันต่างๆออกสู่โลกภายนอกมากขึ้นโลกภายนอกทราบแค่มีค่ายกักกันเชลย แรงงาน นักโทษ และชาวยิว แต่เรื่องการรมแก๊สและการเผาร่างยังไม่มีหลักฐานที่ชัดเจน สถานีวิทยุบีบีซีรายงานเกี่ยวกับค่ายกักกันในกลางปี 1942 เต่อมาครื่องบินลาดตระเวณของโซเวียตและสัมพันธมิตรบินถ่ายภาพค่ายเอ๊าชวิตช์ได้ ถ่ายภาพเห็นปล่องไฟและควันที่ตอนนั้นยังคิดว่าเป็นโรงงานอุตสาหกรรม ทางสัมพันธมิตรเรียกบริเวณค่ายเอ๊าชวิตช์ว่า  “the Factory”

  กลางปี 1944 นาซีเริ่มประสบปัญหาการจัดการประเทศ สัมพันธมิตรเริ่มชิงดินแดนคืนได้ กองทัพโซเวียตรุกเข้ามาทางตะวันออกใกล้เข้ามาเรื่อยๆ งบประมาณเกี่ยวกับค่ายกักกันและการสังหารถูกลดความสำคัญลง นักโทษถูกส่งเข้ามาน้อยลง (สังหารไปเกือบหมดแล้ว) ตอนต้นปี 1945 การดำเนินการสังหารด้วยการมแก๊สหยุดลง จำนวนศพที่ต้องเผามีไม่มากนัก

   17 มกราคม 1945 นาซีเริ่มเผาทำลายเอกสารเรื่องการสังหารเผ่าพันธุ์ ทำลายโรงเผาศพและห้องรมแก๊สที่ค่ายเอ๊าชวิตช์สอง ถมศพที่ไม่ได้รับการเผาเพื่อทำลายหลักฐาน หลังจากนั้นนาซีได้ให้ทางเลือกนักโทษว่าจะเดินเข้าไปลึกในฝั่งตะวันตก ลึกเข้าไปในดินแดนไรซ์ หลอกว่าเดินไปสักพักจะมีรถมารับ แล้วจะปลอดภัยกว่า มีน้ำ มีอาหาร ซึ่งจริงๆไม่มี หรือจะอยู่ที่ค่ายนี้ต่อไปโดยไม่มีอาหาร น้ำ เผชิญกับความหนาวเย็น แต่ไม่ได้บอกนะว่าสัมพันธมิตรจะมาปลดปล่อย บอกแค่กองทหารศัตรูกำลังเข้ามา
   บางคนเลือกจะอยู่ต่อ บางคนเลือกที่จะไปในที่ที่ดีกว่า โดยเดินฝ่าหิมะลึกกว่าเมตรในฤดูหนาวอันแสนทรมานของโปแลนด์ ไปที่ค่าย Wodzislaw และ Slaski ระหว่างทางหากทนไม่ไหวก็จะถูกยิงตาย กว่าครึ่งเสียชีวิตระหว่างทาง เรียกการเคลื่อนย้ายนักโทษกว่า 60,000 คนนี้ว่า the Death March  ค่ายกักกันอื่นๆเมื่อถูกปลดปล่อยจากทหารอังกฤษและอเมริกา จะทราบว่านี่เป็นนักโทษจากเอ๊าชวิตช์เพราะเขามีรอยสักนั่นเอง

    27 มกราคม 1945 กองทัพบกแห่งโซเวียตเข้ามาถึงค่ายเอ๊าชวิตช์หนึ่ง สอง และสาม คุณไกด์เล่าว่าขนาดทหารโซเวียตยังร้องไห้กับภาพที่เห็น นักโทษที่เหลือประมาณ 7,000 คนและซากศพเกลื่อนกลาดที่ทำลายไม่ทันหรือคาอยู่ที่ต่างๆ หรือแม้แต่คาเตาเผาที่ค่ายเอ๊าชวิตช์หนึ่ง  ทั้งหมดถูกปลดปล่อย ได้รับการช่วยเหลือจากหมอชาวโซเวียตและชาวบ้านใกล้เคียง (ตอนนาซีอยู่ใครลักลอบมาช่วยเหลือคือตาย) และหลังจากนั้นหนึ่งสัปดาห์ กาชาดโปแลนด์จึงเข้ามาถึง ผู้เจ็บป่วยได้รับการลำเลียงไปโรงพยาบาล หลังจากนั่นโซเวียตก็ให้นักโทษหาทางกลับบ้านเอง (ที่ค่ายฝั่งตะวันตก อเมริกาจัดรถไฟให้) นับว่าวันที่ 27 มกราคม วันปลดปล่อยค่ายถือเป็นวัน International Holocaust Remembrance Day

   ค่ายถูกใช้คุมขังเชลยศึกนาซีอยู่หนึ่งปี และได้รับการปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ เปิดทำการเมื่อ 14 มิถุนายน 1947 และได้รัยการยกย่องเป็นมรดกโลกในปีต่อมา

  จบด้วยคำพูดของมัคคุเทศก์หนุ่มชาวโปล “สุดท้ายนี้ ผมอยากให้ทุกคนส่งข่าวสารนี้ไปบอกคนรุ่นหลัง ผมได้รับคำถ่ายทอดมาจากปู่ ผู้รอดชีวิตจากค่ายกักกันนรกนี้” จบประโยคนี้ผมถึงกับอึ้งไปเลย มิน่าเล่าเขาถึงได้เล่าเรื่องราวได้กินใจ มากกว่าเรื่องราวที่ผมอ่านมาตลอดชีวิต มองลึกลงไปในสายตาเขา เขาไม่ได้พูดแค่หน้าที่ แต่พูดออกมาจากใจ

  “คนเราอยู่ด้วยกันได้เสมอ ไม่ว่าเชื้อชาติ ศาสนา การเมืองใด สิ่งที่เกิดในค่ายกักกัน คนจากทั่วยุโรปที่แตกต่างกันก็ยังมาอยู่ด้วยกันได้ ทุกข์ทรมานร่วมกันได้ สุขด้วยกันได้ เหมือนกับท่านทั้งหลายที่มาอยู่ตรงนี้ มาจากหลากชาติหลายศาสนาแต่เราก็มาอยู่ร่วมกันที่นี่ เข้าใจความรู้สึกของเขาที่นี่ด้วยกัน มีผู้คนจากทั่วโลกมาที่นี่เพื่อบอกว่า ต่อไปนี้สิ่งที่เกิดขึ้นที่นี่ในอดีต จะเกิดขึ้นอีกครั้งแต่ไม่ใช่จากสงคราม ไม่ใช่การสังหาร แต่เป็นความศรัทธาที่ทุกคนมีให้กัน”

  จบประโยคนี้ ไม่มีเสียงปรบมือ ทุกคนก้มหน้า ถอดหมวก ขอบคุณมัคคุเทศก์คนนั้น ขอบคุณจากใจจริงที่ทำให้พวกเราได้เข้าใจสิ่งที่เกิดในอดีตมากขึ้น
  ครับ โอกาสหน้า ผมจะพาท่านไปท่องเที่ยวย้อนเวลาที่ใดอีกโปรดติดตามครับ
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2012651629050860
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2012654035717286
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2012655785717111
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2012657889050234
https://www.facebook.com/medicine4layman/posts/2012659229050100
 
 
 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม