19 พฤษภาคม 2561

ไขมันทรานส์ : trans-fat free in 2023

ไขมันทรานส์ : trans-fat free in 2023

  องค์การอนามัยโลกได้ออกมารณรงค์ให้ลด-ละ-เลิก การใช้ไขมันทรานส์เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของโรคหลอดเลือดหัวใจ เชื่อว่าจะลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคหัวใจได้ 500,000 รายต่อปี
  ไขมันทรานส์ เป็นไขมันไม่อิ่มตัวที่ไปผ่านกระบวนการทางอุตสาหกรรมด้วยความดันและความร้อน ทำให้ไขมันไม่อิ่มตัวนั้นถูกยัด "ไฮโดรเจน" เข้าไปในโครงสร้างและทำให้โครงสร้างบิดเบี้ยวไปคล้ายไขมันอิ่มตัว

  คำถามคือ ทำไมจะต้องกำจัดไขมันทรานส์ด้วย คำตอบคือ ไขมันทรานส์พบมีความสัมพันธ์ชัดเจนกับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและการลดไขมันทรานส์ก็ช่วยลดการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตเช่นกัน ไขมันที่ถือว่าเป็นไขมันอันตรายคือไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ ไขมันทั้งสองนี้เพิ่มการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

  อาหารทุกชนิดในโลกมีไขมันปะปนกันหมดไม่ว่าจะเป็นไขมันอิ่มตัวหรือไม่อิ่มตัว การรับประทานอาหารให้หลากหลายครบหมู่จะได้รับไขมันครบทุกอย่างและจำเป็นต้องได้ด้วยนะครับ เพราะไขมันหลายอย่างร่างกายสร้างเองไม่ได้จำเป็นต้องได้ไขมันจำเป็นเข้าไป ไขมันจำเป็นก็มีอยู่ในไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว
  ดังนั้นอาหารแต่ละอย่างจะมีไขมันทุกชนิดผสมผสานกัน ไม่มีอาหารใดมีแต่ไขมันดีอย่างเดียวและในทางตรงข้ามก็ไม่มีไขมันเลวอย่างเดียวเช่นกัน เพียงแต่สัดส่วนของไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัวจะต่างกัน ในปัจจุบันเราพิสูจน์แล้วว่าไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์นั้นก่อโรค อาหารที่แนะนำในปัจจุบันจึงเป็นอาหารที่มีสัดส่วนไขมันไม่อิ่มตัวมากกว่าครับ

   ไขมันอิ่มตัวจะมีมากในไขมันจากสัตว์ น้ำมันสัตว์ ไขมันสัตว์ หนังสัตว์ น้ำมันมะพร้าว ส่วนไขมันทรานส์ที่เกิดเองตามธรรมชาตินั้นน้อยมาก ส่วนใหญ่เกิดจากกระบวนการผลิตทางอุตสาหกรรมอาหาร ท่านจะเห็นได้จากฉลากโภชนาการว่ามีไขมันทรานส์เท่าไร

  แนวทางการกินอาหารยุคปัจจุบันแนะนำไขมันอิ่มตัวรวมไขมันทรานส์ไม่เกิน 10% ของพลังงานที่ควรได้ ปกติเราใช้พลังงานจากไขมันประมาณ 30-35% ของพลังงานที่ได้ ในส่วนที่จะลดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์นั้นเราชดเชยด้วยไขมันไม่อิ่มตัวครับ
  ตอนนี้แนะนำไขมันทรานส์ไม่เกิน 1% หรือ 2.2 กรัมต่อพลังงาน 2000 กิโลแคลอรี่

  ...ไขมันในอาหารส่งผลต่อระดับไขมันในเลือดและ LDL,HDL ไม่มากนะครับ โดยมากไม่เกิน 10-15% เพราะไขมันในเลือดจะได้จากการสังเคราะห์ใหม่มากกว่าดูดซึมไปใข้หรือเก็บโดยตรง...

   องค์การอนามัยโลกต้องการ zero trans fat หลายๆองค์กรก็ทำตามนี้ ความจริงการทำเป็นศูนย์ทำยากมากจึงกำหนดให้ถ้าไขมันในอาหารชนิดนั้นน้อยกว่า 1% จะใช้คำว่า trans fat free ได้ครับ ต่อไปนี้หลายที่ หลายองค์กรคงออกมารณรงค์จะจัดแบบนี้ ถามว่าอาหารที่มีไขมันทรานส์มากคืออะไร เช่น มาร์การีน เนยเทียม ขนมขบเคี้ยว เบเกอรี่ อาหารทอดซ้ำๆ ฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย ดังนั้นการจัดการหลักจึงลงไปที่ผู้ผลิตอาหารอุตสาหกรรมครับ
  จากรายงานองค์การอนามัยโลก ประเทศเดนมาร์ก ใช้มาตรการนี้มาตั้งแต่ 2004 พบว่าอัตราการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลง 3.2% เมื่อเทียบกับประเทศที่ไม่ควบคุม ที่รัฐนิวยอร์กหลังใช้มาตรการนี้ อัตราการเข้ารับการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจในโรงพยาบาลลดลง 7.8% เทียบกับตอนที่ยังไม่ได้ใช้มาตรการ

  ตอนนี้มี 45 ชาติที่ลงนามร่วมมือ ส่วนมากเป็นประเทศที่มีสตางค์เพราะการใช้ไขมันอื่นมาแทนไขมันทรานส์จะมีราคาแพงขึ้น ย่อมทำให้ราคาสินค้าเพิ่มหรือรสชาติเปลี่ยน ประเทศที่สตางค์น้อยยังใช้ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวอีกมาก จึงต้องค่อยๆรณรงค์ไปจนถึงปี 2023 ในอีก 5 ปีข้างหน้าและหากขอความร่วมมือไม่สำเร็จอาจต้องบังคับใช้กฎหมาย

  มาตรการนี้เราเรียกว่า REPLACE

RE -- review คือทบทวนการใช้ทรัพยากรไขมันและการหาทางทดแทนไขมันในแต่ละพื้นที่

P -- promote ส่งเสริมให้เปลี่ยนการใช้ไขมันในภาคอุตสาหกรรม

L -- legislate  ออกกฎหมายบังคับ

A -- assess มีการตรวจสอบไขมันในอาหารที่ออกมาสู่ประชาชน

C -- concern ให้ความรู้ต่อประชานว่าไขมันทรานส์มันอันตราย รวมถึงให้ความรู้ผู้ผลิต ผู้กำหนดนโยบายด้วย

E -- enforce บังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

  ต่อไปก่อนซื้ออาหารพลิกดูฉลากโภชนาการกันสักนิดนะครับ

ที่มา WHO, LANCET ฉบับเมื่อวาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม