12 พฤษภาคม 2561

ซีพีอาร์ CPR ตอนที่ 3 : Kiss of Life

ซีพีอาร์ CPR ตอนที่ 3 : Kiss of Life
แม้ว่าการพัฒนาการช่วยชีวิตจะมีมากว่า 150 ปีก่อนหน้านี้ แต่ว่าอัตราการรอดก็ยังไม่สูงมากนักเพราะตลอดในอดีตจนมาถึงปี 1950 การช่วยหายใจยังไม่พัฒนา ยังใช้ Slivester's Manuever อยู่เลย ยกเว้นรายที่อยู่ในห้องผ่าตัดนั่นแหละที่จะได้ช่วยหายใจ มีออกซิเจนที่ดี
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โลกสงบสุข งานค้นคว้าวิจัยก็พัฒนาขึ้น เป็นจุดกำเนิดบิดาแห่งการช่วยเหลือชีวิตในยุคปัจจุบัน วิสัญญีแพทย์ คุณหมอ James Elam คุณหมออีแลมสนใจเรื่องสรีรวิทยาของการหายใจโดยเฉพาะเรื่องแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ และการช่วยหายใจ ก่อนหน้านี้มีการช่วยบ้างในเด็กแรกเกิดที่ไม่หายใจอยู่บ้าง โดยเป่าลมหายใจเข้าปอดเด็กแต่ในผู้ใหญ่จะทำได้จริงหรือ คำถามนั้นคือ ลมหายใจผู้ใหญ่ที่เป่าเข้าปากเด็กทารกแล้วทารกรอด มันจะใช้ได้จริงๆหรือไม่
คุณหมออีแลมเคยทำการทดสอบเล็กๆว่าลมหายใจออกของมนุษย์เราก็มีออกซิเจนพอสมควร !! เอ๊ะ..ยังไง มาฟังสักนิด ลมหายใจที่เราหายใจเข้าไปนั้น ส่วนนึงลงไปแลกเปลี่ยนเอาแก๊สภายนอกเข้าร่างกายและนำแก๊สภายในออกมาทิ้ง โดยอาศัยหลักการแพร่สารเคมีและแรงดันแก๊สตามวิชาเคมี แต่ก็จะมีอากาศบางส่วนเข้าแล้วก็ออกโดยที่ไม่ได้แลกเปลี่ยน อาจจะเพราะเข้าไปไม่ถึงตรงที่แลกเปลี่ยนหรือค้างอยู่ตั้งแต่การหายใจก่อนหน้านี้ เราเรียกส่วนของแก๊สนี้ว่า dead space
เวลาเราคิดสรีรวิทยาของการหายใจ เราต้องคิดว่ามีบางส่วนของอากาศที่ไม่ได้นำไปใช้งาน หรือเวลาดูแลเครื่องช่วยหายใจ เราก็ต้องคิดถึง dead space ตรงนี้เพิ่มจากลมในปอดด้วย
คุณหมออีแลมก็คิดว่า ลมหายใจออกที่เอาแก๊สออกมา ซึ่งก็ยังมีออกซิเจนเหลืออยู่ บวกกับลมที่อยู่ใน dead space น่าจะมีออกซิเจนพอในการกู้ชีวิตได้ แต่จะมีพอได้นั้น ต้องสูดหายใจลึกๆเป่าออกแรงๆ เพื่อใช้งาน dead space ให้เต็มที่
ช่วงปี 1954-1956 คุณหมออีแลมไปพบเพื่อนร่วมงานในงานประชุมวิชาการและสนใจเรื่องนี้เช่นกันคือ คุณหมอ Peter Parker เอ้ย..ไม่ใช่ๆ Peter Safer วิสัญญีแพทย์จากแคนซัส บันทึกว่าเขาคุยเรื่องการพิสูจน์แนวคิดเรื่องออกซิเจนและการช่วยชีวิตจากลมหายใจออกของมนุษย์ ระหว่างทางจากแคนซัสไปบัลติมอร์ (ที่ทำงานของอีแลม) คุยกันตลอดทาง ..สองพันกว่ากิโลนะครับ พอๆกับระยะทางเชียงใหม่ไปสงขลาเลย
ปี 1957 เขาทั้งคู่ก็ร่วมกันทำการศึกษาในอาสาสมัครในมนุษย์ที่ดมยาสลบ คือ หายใจเองไม่ได้จากการใช้ยาหย่อนกล้ามเนื้อ กระบังลมไม่ทำงาน และใช้ลมหายใจออกจากมนุษย์นี่แหละเป็นลมที่อาสาสมัครใช้หายใจ แทนที่อากาศปรกติ อาสาสมัคร 32 คน เป็นบุคลากรทางการแพทย์ทั้งสิ้น พบว่าลมหายใจออกนั้นเพียงพอในสถานการณ์การกู้ชีพ มีแก๊สต่างๆเพียงพอ ลงพิมพ์ในวารสาร JAMA เดือนมีนาคม 1958
ใช่แล้ว ปี 1958 ปีเดียวกับที่ Kouwenhoven ประสบความสำเร็จในการศึกษาการกดนวดหัวใจ
เดือนกันยายน ปี 1960 ในงานประชุม Annual Maryland Medical Society Meeting เป็นการพบกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกของ คุณหมออีแลม คุณหมอเซเฟอร์ และ คุณหมอคูเวนโฮวึ่น และได้มีการร่วมมืองานวิจัยพัฒนาการช่วยชีวิตยุคใหม่ ที่ประกอบไปด้วย การดูแลทางเดินหายใจให้โล่ง การเป่าปากช่วยหายใจด้วยลมหายใจออกของผู้ที่ช่วยแบบปากถึงปาก และการกดหน้าอกจากภายนอกด้วยความเร็ว 60-80 ครั้งต่อนาที เป็นการประสานงานกันของเลือดลม ประสานงานกันของลมหายใจและเลือดจากใจ ครับ..ใช่แล้ว คือ CPR ในยุคใหม่นั่นเอง
หลังจากนั้นก็ได้มีการคิดประดิษฐ์..ตุ๊กตายาง ใช่แล้วอ่านไม่ผิดครับ แต่เป็นตุ๊กตายางที่ออกแบบมาให้กดได้ เม้าท์ทูเม้าท์ได้ เพื่อใช้ในการสอนซีพีอาร์หุ่นต้นแบบและออกมาใช้งานจริงผลงานการออกแบบของคุณหมออีแลมและนักประดิษฐ์ Asmund Laerdal ชาวนอร์เวย์ หุ่นตัวแรกนี้มีชื่อเรียกว่า Resusci Anne บรรพบุรุษของหุ่นคุณสมชายแห่ง CPR ในสวน นั่นเองครับ
และทีมคุณหมอก็ได้จัดทำวิดีโอสอนซีพีอาร์ ความยาว 27 นาทีชื่อ "The Pulse of Life" ที่มีการทำ ABC ช่วยหายใจและกดอกอัตราส่วน 15:2 ในปี 1968 สามารถหาบางส่วนของวิดีโอแรกเริ่มการสอนการกู้ชีพได้จากยูทูปนะครับ
หลังจากนั้นก็มีรายงานการช่วยชีวิตแบบนวดหัวใจจากภายนอกและเป่าปากช่วยหายใจประสบความสำเร็จ ทางหน่วยทหารก็ได้นำไปสอนนำไปใช้
จนเมื่อปี 1960 สมาคมแพทย์โรคหัวใจอเมริกาก็ได้มีคำแนะนำออกมาอย่างชัดเจนและให้มีการสอนอย่างแพร่หลาย พัฒนาจนมีการจัดตั้ง The International Liaison Committee on Resuscitation (ILCOR) องค์กรที่ศึกษาวิจัยและออกแนวทางการซีพีอาร์ทุกๆ 5 ปี ก่อตั้งในปี 1992 นี่เองครับ
แต่ยังไม่หมด...เพราะการซีพีอาร์ที่กล่าวมายังขาดองค์ประกอบอีกหนึ่งอย่าง...การช็อคหัวใจด้วยไฟฟ้า (defibrillation)
ติดตามตอนต่อไปนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม