29 พฤษภาคม 2561

ต่อมใต้สมอง

รู้จัก ต่อมใต้สมอง (pituitary gland)

  ในร่างกายมนุษย์เรานั้นมีศูนย์การควบคุมอยู่หลายจุด หนึ่งในการควบคุมฮอร์โมนในร่างกายที่สำคัญมาก เกือบ 80% ของฮอร์โมนจะถูกควบคุมที่นี่ ส่วนที่อยู่ลึกสุดของสมอง ... ต่อมใต้สมอง
  ชื่อก็บอกอยู่แล้ว มันจะวางตัวอยู่ที่ฐานกระโหลก สมองมนุษย์จะคล้ายๆพุ่มดอกไม้วางบนพาน พานนั้นคือฐานกระโหลกเป็นรูเปิดติดต่อสมองกับหลอดเลือดเบื้องล่าง และเป็นทางส่งกระแสประสาทผ่านเส้นประสาทต่างๆ ใต้กว่าพื้นฐานกระโหลกก็คือจมูกและเพดานปาก ดังนั้นจุดใต้กระโหลกจึงแทบจะเป็นจุดที่ลึกที่สุดของสมองเลยทีเดียว

  ในสมัยที่เรายังอยู่ในท้องแม่ ส่วนหนึ่งของเยื่อด้านนอกของตัวอ่อนที่เรียกว่า ectoderm ก่อตัวขึ้นสูงเป็นเจดีย์ พุ่งขึ้นไปบรรจบกับส่วนหนึ่งของสมองที่ยื่นสมองที่ยื่นลงมาเพื่อร่วมกันก่อเกิดเป็นศูนย์ควบคุมฮอร์โมนของร่างกายมนุษย์
  เนื้อเยื่อส่วนที่ยื่นขึ้นไปพัฒนาไปเป็นเซลสร้างและหลั่งฮอร์โมน อยู่ด้านหน้าของต่อมนี้ ส่วนเซลประสาทที่ยืดลงมาจากสมองส่วนไฮโปทาลามัส จะหมุนไปอยู่ด้านหลังทำให้ต่อมใต้สมองด้านหลังนี้ไม่ได้หลั่งฮอร์โมนเอง แต่รับเอาฮอร์โมนจากสมองมาเก็บและส่งออกเมื่อต้องการ  ด้วยความที่ต่อมทั้งส่วนหน้าและส่วนหลังมันชิดสมอง การควบคุมการหลั่งก็ถูกควบคุมจากสมองอีกทอดหนึ่งด้วย

  ความเป็นจริงแล้วสัตว์มีกระดูกสันหลังจะมีต่อมใต้สมองทั้งสิ้น และมีสามส่วนด้วย เอ๊ะ..ส่วนที่สามคืออะไร เป็นส่วนตรงกลางที่ชื่อว่า intermediate lobe เชื่อว่าหน้าที่ในการสร้างเซลเม็ดสีที่ผิวหนัง ในมนุษย์ส่วนกลางนี้จะฝ่อไป (ไม่อย่างนั้นเราคงเป็น "มิสทีค" กันหมด)
  จึงสรุปว่าเมื่อโตเต็มวัยเราจะมีต่อมใต้สมองสองกลีบหน้าหลัง ขนาดเท่าถั่วเหลือง อยู่ในส่วนลึกที่สุดของสมอง ใกล้กับเส้นประสาทสมองคู่ที่สองหรือเส้นประสาทตา ส่วนกลีบกลางฝ่อไปหมด

  ต่อมใต้สมองควบคุมฮอร์โมนอะไรบ้าง

ขอกล่าวที่ต่อมใต้สมองส่วนหลังก่อน

1. ฮอร์โมนออกซิโตซิน (oxytocin) ฮอร์โมนที่ใช้ในการบีบตัวของกล้ามเนื้อเรียบที่มดลูกเวลาคลอดบุตร (หลายๆคนในเพจเรา ไม่มีโอกาสได้ใช้ฮอร์โมนนี้) เราก็จะเห็นว่าบางครั้งสูตินรีแพทย์ก็ให้ฮอร์โมนสังเคราะห์ตัวนี้เวลาจะคลอดหรือหลังคลอดเพื่อกระตุ้นการบีบตัวมดลูก   และอีกหน้าที่คือ บีบตัวท่อน้ำนมเวลาเด็กดูดนม ยิ่งดูดยิ่งไหลออก จึงให้เด็กดูดนมบ่อยๆเพื่อกระตุ้นการสร้างและการบีบตัวนี่เอง (ยืนยันอีกครั้ง หลายคนในเพจเราก็ไม่ได้ใช้ฮอร์โมนนี้)

2. ฮอร์โมนเอดีเอช (ADH : antidiuretic hormone) ฮอร์โมนที่ใช้ดูดน้ำเข้ามาคืนร่างกายที่ท่อไต ถ้าร่างกายขาดน้ำ เลือดเข้มข้นและแรงดันตก หน่วยรับสัมผัสจะส่งสัญญาณไปให้ปล่อยฮอร์โมนตัวนี้ไปดูดน้ำที่ท่อไตเพิ่ม ในกรณีขาดฮอร์โมนตัวนี้ร่างกายก็ไม่ดูดน้ำกลับ ปัสสาวะก็จะมากล้นใสปิ๊ง เรียก โรคเบาจืด นั่นเอง

มาที่ต่อมด้านหน้า ต่อมด้านหน้านี้เป็นตัวสร้างและหลั่งฮอร์โมน โดยคำสั่งจากสมอง

3. ฮอร์โมนโกรธ … โกร๊ท(Growth) แล้วกันนะ อย่าโกรธกันเลย เป็นฮอร์โมนสำคัญที่ใช้ในการเจริญเติบโตในเด็กครับ จะเป็นเด็กแคระหรือเด็กยักษ์ก็ขึ้นกับฮอร์โมนนี้ และเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วฮอร์โมนนี้จะคอยควบคุมกลไกการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย และถ้ามีมากเกินไปจะไม่สูงด้านบนแล้วนะ แต่จะออกด้านข้างเรียกว่า acromegaly

4. ฮอร์โมนกระตุ้นไทรอยด์ (Thyroid Stimulating Hormone) ฮอร์โมนตัวนี้จะคอยสั่งการต่อมไทรอยด์ทำงานมากขึ้นหรือลดลง ถ้าฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ คำสั่งของ TSH จะมากคือค่าสูง  ส่วนถ้าฮอร์โมนไทรอยด์สูง คำสั่ง TSH จะลดลงคือค่าจะต่ำ แต่ความผิดปกติบางอย่างผิดที่จุดสั่งการเลยก็มี TSH ผิดปกติเองเลยเช่น เนื้องอกของส่วนที่ผลิต TSH

5. ฮอร์โมนควบคุมต่อมหมวกไต (AdrenoCorticoTropic Hormone) ส่งคำสั่งไปควบคุมการสร้างฮอร์โมนสเตียรอยด์ที่ต่อมหมวกไต เวลาพบผู้ป่วยที่กินยาสเตียรอยด์มากจนต่อมหมวกไตถูกกดการทำงาน เราจะใช้ฮอร์โมนตัวนี้ฉีดเข้าไปเพื่อกระตุ้นดูว่า ต่อมหมวกไตตอบสนองดีหรือไม่  เรียกว่า ACTH Stimulation Test

6. ฮอร์โมนควบคุมเพศ ชื่อว่าฮอร์โมน Gonadotropin- Releasing Hormone(GnRH) เพื่อไปควบคุมการเจริญเติบโตและการทำงานของต่อมเพศคือรังไข่และอัณฑะ เพื่อให้สร้างฮอร์โมนเพศและสร้างเซลสืบพันธุ์ ควบคุมการตกไข่  ถ้าขาดไปก็จะเข้าสู่ความเป็นหนุ่มสาวช้า หรือไม่เข้าสู่วัยหนุ่มสาว...ใครเอ่ย..ปีเตอร์แพน ไง

7. ฮอร์โมนควบคุมการสร้างน้ำนมชื่อว่าฮอร์โมน Prolactin ที่มักจะสร้างตอนให้นมบุตร หากมาสร้างเวลาอื่นจะทำให้มีน้ำนมไหลผิดปกติทั้งชายและหญิง
  ข้อพิเศษคือ ฮอร์โมนอื่นๆจะมีสัญญาณจากสมองมากระตุ้นการสร้าง แต่ฮอร์โมนตัวนี้จะมีสารจากสมองคือ dopamine มายับยั้งการสร้าง ดังนั้นถ้ากินยายับยั้งโดปามีนเช่น ยากันอาเจียน metoclopramide ก็มีนมไหลได้  หรือมีก้อนไปกดเบียดจะทำให้การยับยั้งทำไม่ได้ ฮอร์โมนจะเกินน้ำนมจะไหล  ส่วนฮอร์โมนตัวอื่นๆถ้ามีก้อนมากดเบียดฮอร์โมนจะขาดตกบกพร่องไป 
   เป็นโรคของต่อมใต้สมองที่สามารถใช้ยารักษาได้ดี ยานั้นคือ bromocriptine ที่ไปออกฤทธิ์ที่ตัวรับโดปามีน เหมือนการเพิ่มสัญญาณยับยั้งให้กลับมาปรกตินั่นเอง

   จะเห็นว่าต่อมใต้สมองควบคุมการหลั่งฮอร์โมนเกือบทั้งหมดของร่างกาย ถ้ามีโรคของต่อมใต้สมองเช่นเป็นก้อน หรือมีก้อนจากอวัยวะข้างเคียงมากดเบียดจะทำให้มีความผิดปกติมาก เช่น ต่อมใต้สมองขาดเลือดเวลาตกเลือดหลังคลอด มีก้อนซีสต์อันเกิดจากความผิดปกติของการสร้างต่อมใต้สมองตั้งแต่แรกเกิด
  การตรวจการรักษาจึงซับซ้อนและมักจะถูกนำไปออกข้อสอบเป็นประจำ การผ่าตัดรักษาก็จะยากเพราะต้องผ่าตัดผ่านเข้าไปทางด้านหลังโพรงจมูก ที่เป็นช่องเล็กๆเท่านั้น

  เห็นเป็นต่อมเล็กๆแต่สำคัญยิ่ง เป็นคอมมานด์เซ็นเตอร์ ราบ 11ของต่อมในร่างกายเลยนะครับ  (อุ๊บสส)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม