08 พฤษภาคม 2561

บุหรี่ราคาถูก กับ ภาษีราคาแพง

ต่อกันเรื่องบุหรี่อีกสักหน่อย ปีนี้องค์การอนามัยโลกรณรงค์เรื่องบุหรี่กับโรคหัวใจ หลายปีที่ผ่านมาเราสนใจแต่ว่าบุหรี่ทำให้เกิดโรคปอดเรื้อรัง โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งช่องปาก แต่ความจริงแล้วโรคหลอดเลือดแดงทั้งหลายทั้งหลอดเลือดหัวใจตีบ หลอดเลือดสมองตีบ หลอดเลือดที่แขนขาตีบ มีความเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ชัดเจน
หนึ่งในมาตรการการควบคุมบุหรี่ขององค์การอนามัยโลกที่ออกมาตั้งแต่สองสามปีก่อนคือ การขึ้นภาษีบุหรี่ ซึ่งจะไปส่งผลถึงราคาค้าปลีกบุหรี่ที่เพิ่มขึ้น หวังผลลดปริมาณการสูบของประชากรโลก เมื่อสองสามวันก่อนมีการศึกษาจากประเทศอังกฤษโดยหน่วยงานที่ควบคุมยาสูบและคิงส์ คอลเลจ ตีพิมพ์ผลงานเรื่องผลกระทบจากการขึ้นภาษีบุหรี่ต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่ราคาถูกกว่า ลงในวารสาร Nicotine&Tobacco Research ของอ๊อกฟอร์ด
ประเทศอังกฤษเป็นประเทศที่มีการควบคุมยาสูบที่เคร่งครัดมากมีกฎหมายและมาตรการต่างๆที่จะลดการสูบบุหรี่มากมายและประสบความสำเร็จ มาตรการการใช้ภาษีทำให้ราคาบุหรี่ของอังกฤษสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการผลักดันให้มีการใบ้ยาสูบแบบอื่นๆที่ราคาถูกลง คือยาเส้นมวนเอง (Roll Your Own) และบุหรี่เถื่อน บุหรี่ราคาถูก (ทั้งจากโรงงานที่ผลิตบุหรี่แพงมาตั้งยี่ห้อใหม่ที่ราคาไม่แพงเท่า royal brand ของตนและโรงงานย่อยอื่นๆ) หรือซื้อจากแหล่งอื่นที่ไม่ต้องเสียภาษีแพงๆ
เป็นการเก็บข้อมูลในชุด International Tobacco Control Project เขาได้ติดตามข้อมูลของผู้สูบในช่วงเวลาต่างๆต่อเนื่องกันนับสิบปี สำหรับในเรื่องบุหรี่ราคาถูกนี้ ได้นำข้อมูลกว่า 10 กลุ่ม วิเคราะห์ข้อมูลจาก 6169 ราย พบว่า
ภาษีบุหรี่ที่เก็บมากขึ้นโดยเฉพาะหลังปี 2010 จะเก็บสูงขึ้นจาก 10% ไปเป็น 20% และบวกอัตราเงินเฟ้ออีกสองเปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้รายได้จากภาษีมากขึ้น
ในช่วงแรกๆของการเก็บภาษีนั้น การบริโภคบุหรี่ลดลง แต่ว่าผู้บริโภคก็มีการปรับตัวเช่นกัน ในห้าปีหลังนี้กลับพบว่าตัวเลขการบริโภคเริ่มกลับมาสูงอีกทั้งๆที่ภาษีเพิ่ม เพราะอะไร
สำหรับบุหรี่มวนที่มีการเสียภาษีถูกต้องตามกฎหมาย แน่นอนราคาแพงขึ้นการบริโภคส่วนนี้ลดลง แต่ไปเพิ่มในส่วนบุหรี่มวนเอง (RYO) เหมือนยาเส้นยาฉุนบ้านเรา ที่อัตราค่าภาษีต่ำกว่ามาก (เหมือนบ้านเราเช่นกัน) ทำให้ทั้งอัตราการบริโภคและมูลค่าการตลาดส่วนนี้เพิ่มมาก แต่ฐานภาษีไม่มากเท่าไรนัก รัฐจัดเก็บภาษีส่วนนี้ได้น้อยแต่ประชาชนกำลังหันไปในทางนี้ที่กฎหมายภาษีไม่สามารถควบคุมได้
ถ้าผมจำไม่ผิดบ้านเราจะเสียภาษีไม่เกิน 5%
บุหรี่ที่ไม่ได้ถูกกฎหมายการเสียภาษี เช่น การซื้อในร้านปลอดภาษี การซื้อผ่านช่องทางอื่นๆ (ก็คือบุหรี่เถื่อนคล้ายๆบ้านเรา) มีอัตราการบริโภคที่สูงขึ้นเช่นกัน แน่นอนบุหรี่กลุ่มนี้ไม่ได้เสียภาษีตามกฎหมายดังนั้นรัฐจัดเก็บไม่ได้คนสูบสามารถหามาสูบได้โดยราคาลดลง หรือการแบ่งขาย แบ่งซองให้เล็กลง ราคาต่อหน่วยจะถูกลง ซึ่งกฎหมายได้ห้ามการแบ่งขายเพราะจะได้ ไม่มีตัวเลือกการซื้อบุหรี่ที่ไม่ต้องเสียเงินมาก แต่ถ้าเราพิจารณาจริงๆ บุหรี่แบ่งขายจะมีราคาต่อมวนสูงกว่าเสียอีก
พฤติกรรมการซื้อก็เปลี่ยน อันนี้จะนับพฤติกรรมการซื้อบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงานมาตรฐาน มีการเสียภาษีและจัดเก็บราคาที่ชัดเจน คือ ผู้ซื้อจะหันไปซื้อจากซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่มีการลดราคาได้มากกว่าจะซื้อกับผู้ค้าปลีกหรือร้านสะดวกซื้อ ต้องบอกก่อนว่าแม้ปริมาณการซื้อตรงนี้จะลดลง แต่เนื่องจากขนาดการซื้อมันมากมายจริงๆ การขยับลดลงจึงไม่ได้กระทบเท่าไร (แต่มีนัยสำคัญทางสถิตินะ)
และการซื้อจะซื้อบุหรี่เป็น carton มากกว่าเป็นซอง หลายๆท่านยังไม่รู้จัก carton มันคือบุหรี่แบบแพ็ก 10 ซองที่วางจำหน่ายตามร้านปลอดภาษีสนามบินไงครับ ถ้าซื้อแบบนี้ราคาต่อหน่วยจะถูกลง
สำหรับศุลกากรประเทศไทยห้ามนำเข้าเกิน 1 carton หากมากกว่านี้ต้องสำแดงสินค้าที่ศุลกากรนะครับ
จะเห็นว่าสำหรับสินค้าที่เป็นสารเสพติดนั้นการใช้มาตรการราคาอย่างเดียว อาจจะไม่ประสบผลสำเร็จในการควบคุมการเสพทั้งหมด ต้องอาศัยหลายๆมาตรการ สำหรับประเทศอังกฤษนั้นสัดส่วนของบุหรี่เถื่อนมีไม่เกิน 20% เพราะมาตรการการควบคุมเขาดีมาก เรียกว่าควบคุมการบริโภคยาสูบของประชากรได้ดีทีเดียว
แต่ว่าขนาดนี้เขาก็ยังประสบปัญหาเรื่องการซื้อบุหรี่ที่ราคาถูกกว่า ของเถื่อน และยาเส้นมวนเองที่เพิ่มขึ้น ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการควบคุมยาสูบ ยังไม่นับยาสูบและผลิตภัณฑ์นิโคตินแบบอื่นๆ
การศึกษาที่ทำในวัยรุ่นอเมริกา ลงตีพิมพ์พร้อมกันพบว่า แนวโน้มการสูบบุหรี่มวนลดลงอย่างมาก แต่การสูบนิโคตินในรูปแบบอื่นเพิ่มขึ้นอย่างมากมาย
จะเห็นว่าภาษีที่ปรับเพิ่มอย่างเดียวอาจไม่ได้ผลในการลดการสูบบุหรี่ครับ ไม่ได้หมายความว่าการเพิ่มภาษีไม่ดีนะ แต่ต้องทำมาตรการอื่นๆคู่กันไปด้วย
ใครสนใจสามารถไปอ่านต่อได้ที่ฉบับเต็ม เพราะผมไม่ได้พูดเรื่องตัวเลขต่างๆเลย ใใครสนใจก็ทำลิงก์มาให้แล้ว

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม