วารสารนี้ ผมได้มาจากความกรุณาของท่านเลขาฯ สมาคมแพทย์โรคหัวใจฯ ท่านอาจารย์ระพีพล กุญชร ณ อยุธยา Rapeephon Rapp Kunjara จึงเอามาเล่าให้ฟังเป็น journal club นะครับ เป็นการศึกษาแบบ meta analysis คือ การรวบรวมการศึกษาต่างๆอย่างเป็นระบบเพื่อขยายความสำคัญของปัญหาให้ชัดเจน เกี่ยวกับผลของการกินไข่ ต่อการเกิดโรคหัวใจและสมอง ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of American College of Nutrition ธันวาคม 2559
https://drive.google.com/open?id=0Bw862GrW7-8LUXZjSi1rYjgtWVE
เหตุที่มาทำการศึกษานี้คือ เราทราบมาแล้วว่าไข่นั้นมีส่วนประกอบของโคเลสเตอรอลสูงพอควร คือไข่ไก่ฟองห้าสิบกรัมหนึ่งฟองมีโคเลสเตอรอล 211 มิลลิกรัม ตามคำแนะนำเรื่องอาหารในปี 2005 แนะนำกินโคเลสเตอรอลจากอาหารไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน และยิ่งเป็นโรคหัวใจให้ไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน แสดงว่ากินไข่แค่หนึ่งฟองต่อวันก็ไม่สามารถเพิ่มโคเลสเตอรอลได้อีก หรือกินไข่วันละสองฟองก็เกินแล้ว
ปัจจุบันในยุคปี 2010 เป็นต้นมาการศึกษาเริ่มยืนยันว่าโคเลสเตอรอลจากอาหารนั้นมีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดน้อยมาก และไม่พบความสัมพันธ์ของอาหารโคเลสเตอรอลสูงกับระดับโคเลสเตอรอลในเลือด และการลดโคเลสเตอรอลในอาหารก็ไม่ได้ลดโรคหัวใจและหลอดเลือด แนวทางการกินอาหารของยุโรปและอเมริกาจึงลดความสนใจเรื่องโคเลสเตอรอลในอาหาร แต่ไปควบคุมเรื่องไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัวแทน ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าส่งผลต่อโคเลสเตอรอลและโรคหัวใจ
ในระยะหลังปี 2010 มีการศึกษาออกมามาก แต่ส่วนมากเป็นการศึกษาแบบ prospective cohort มี clinical trials ไม่มาก และเคยมีการศึกษาแบบนี้ทำจากประเทศจีนในปี 2013 ก็ไม่พบความสัมพันธ์ของไข่กับโรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง OR 0.93 95%CI (0.86-1.09)
การศึกษานี้รวบรวมการวิจัยจนถึงปี 2015 โดยเลือกแต่งานวิจัยที่เป็น propsective cohort ที่มีทำในคนและตัววัดทางสถิติชัดเจน หรือ RCT ที่ทำแบบระเบียบวิธีดีๆ ในการศึกษาทั้งอเมริกา ยุโรป ออสเตรเลีย เอเชีย คัดงานวิจัยที่กลุ่มการศึกษาเฉพาะเจาะจงมากๆออกไป เช่นศึกษาเฉพาะชาวอาบอริจินส์ ในออสเตรเลีย **ตรงนี้จะเป็น selective bias หรือ publication bias ได้ แต่ก็จะทำให้ heterogeneity ไม่มากเกินไป**
โดยใช้ตัวชี้วัดและกลุ่มย่อย ทั้ง qualitative เช่น เกิดโรค ไม่เกิดโรค และเชิงปริมาณ แยกดูเชื้อชาติ อายุ โรคร่วม กินไข่มาก กินไข่น้อย จะมีผลหรือไม่ ผู้วิจัยแสดงให้ดูว่าการศึกษานี้ไม่มีความโน้มเอียง การวัด heterogeneity ก็ยอมรับว่ามีบ้าง แม้แต่จะคัดกรองแล้ว ไอ้ที่คัดกรองมาก็มีความแปรรปรวนกว้างมาก ใครดู Forrest Plot เป็นจะเห็นเลยนะครับว่า ช่วงของข้อมูลกว้างเอามากๆในทุกๆข้อมูลเลย และประชากรที่เอามาคิดในแต่ละชุดการศึกษาก็ไม่ได้มากนัก ***ตรงนี้ต้องใช้ความระมัดระวังในการแปลผลมากๆครับ** เพราะน้ำหนักผลสรุปจะไม่หนักแน่นมากนัก แต่ว่าน่าจะเป็น errors ที่ยอมรับได้เพราะข้อมูลดิบที่ค้นมาทั้งหมดมันก็ออกแนวแบบนี้ทั้งหมด คือ ช่วงข้อมูลแปรปรวนกว้างเหมือนกันหมด
ผลการศึกษา ได้มา 7 การศึกษาของโรคหลอดเลือดสมอง และ 7 การศึกษาของหลอดเลือดหัวใจ ได้ตัวอย่างการศึกษามาประมาณ 300,000 คน ติดตามตั้งแต่ 6-20 ปี การศึกษาทั้งสองมีความหลากหลายพอควร โดยใช้ตัวทดสอบสถิติ p value for heterogeneity และ I square ตามแบบ cochrane พบว่า ในการศึกษาโรคหลอดดลือดสมอง มี p value for heterogeneity 0.23 (ถ้าไม่แปรปรวนจริงๆจะต่ำกว่า 0.1)และ I square 25 ถ้าน้อยกว่า 25 ถือว่าพอใช้ได้ ไม่แปรปรวนมากนัก ส่วนในการศึกษาหลอดเลือดหัวใจ มี p value for heterogeneity 0.67
แบ่งปริมาณไข่ กินไข่มากคือ วันละฟอง กินไข่น้อยคือไม่มากกว่า 2 ฟองต่อสัปดาห์ มาดูผลแต่ละโรคกัน
โรคหลอดเลือดสมอง พบว่าการกินไข่มากมีแนวโน้มลดโอกาสเสี่ยงหลอดเลือดสมอง น้อยกว่ากินไข่น้อยๆ relative risk reduction 12% และ summary risk reduction estimates พบว่าการกินไข่มากๆ ลดความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ SRRE 0.88 ที่ 95%CI (0.81-0.97) แสดงว่าการกินไข่มากๆไม่ส่งผลเสียตรงกันข้ามจะส่งผลดีด้วย แต่นี่คือโดยรวมนะครับ เมื่อทำแยกแต่ละปัจจัยคือทำ sensitivity analysis บางเชื้อชาติก็มีการตอบสนองดังที่กล่าว บางเชื้อชาติก็ไม่ได้ตอบสนองดังนั้น และปัจจัยต่างๆดูเหมือนว่าไม่ได้ต่างกันระหว่างกินไข่น้อยกับกินไข่มาก แต่เอาเป็นว่าดูโดยรวมก็ตอบสนองก็ดีกว่าในกลุ่มกินไข่มากๆ
สำหรับโรคหลอดเลือดหัวใจ พบว่าการกินไข่มากๆหรือกินไข่น้อยๆ ไม่ได้แตกต่างกัน (ภาษาทางสถิติเรียกว่า แตกต่างกัน แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ) SRRE 0.97 ที่ 95% CI (0.88-1.07) วิเคราะห์แจกแจงปัจจัยต่างๆก็ไม่ได้แตกต่าวกัน ระหว่างกินไข่มากหรือกินไข่น้อย
สรุปว่า **กินไข่..โรคหลอดเลือดไม่เพิ่ม** **กินมากกินน้อย..ไม่ทำให้โรคหลอดเลือดเพิ่ม** **กินไข่วันละฟองมีแนวโน้มลดโอกาสเกิดหลอดเลือดสมองด้วย** ผลการศึกษาแบบรวบรวม meta analysis ก่อนหน้านี้ที่เคยมีก็มีแนวโน้มไปในทางเดียวกัน
…อันนี้มีข้อสังเกตนะครับ การศึกษาที่เขาตัดออกไปที่บอกว่าเป็นกลุ่มคนที่มีลักษณะเฉพาะเกินไป เช่น มังสวิรัติ หรือ เป็นคนเผ่าอาบอริจินส์ กลับเป็นกลุ่มที่พบว่ากินไข่มากแล้วโอกาสเกิดโรคมากกว่ากินไข่น้อยๆ
…ข้อสังเกตอีก หลายๆการศึกษานั้นถ้ามองประชากรโดยรวม โอเคไม่ต่างกัน แต่ถ้ามาดูบางกลุ่มกลับพบว่ามีความสำคัญนะ อัตราการเกิดโรคมากขึ้นในกลุ่มที่กินไข่มากๆ หรือบางการศึกษาโดยรวมก็พบว่ากินไข่มากๆ โอกาสเกิดโรคมากกว่า แต่พอมาดูจริงๆแล้ว กลุ่มเบาหวานกลุ่มเดียวที่กินไข่แล้วโอกาสเกิดมากกว่า แต่กลุ่มอื่นๆไปทางตรงข้ามหมด ตรงนี้อาจจะต้องระวังว่าในคนบางกลุ่มอาจจะใช้ความจริงอันนี้ไม่ได้
…และกลุ่มที่ว่าที่พบในหลายๆการศึกษาว่า ผลอาจจะเกิดโรคมากกว่าในกลุ่มกินไข่มากๆ คือกลุ่มคนไข้เบาหวาน บางทีก็เห็นว่ากินไข่มากๆเกิดโรคมากกว่า บางทีผลที่เกิดของหลอดเลือดสมองกับหลอดเลือดหัวใจ ไม่ไปในทางเดียวกัน
การศึกษาที่ผลต่างเหล่านี้บางที ผู้วิจัยก็ไม่ได้เอามารวบรวม ให้เหตุผลว่า ข้อมูลกระจัดกระจายหรือกลุ่มคนที่ศึกษามันเฉพาะมากเกิน (แต่ไปไล่ดู มันก็แปรปรวนและ ขอบข่ายข้อมูลกว้างจริงๆครับ) อันนี้ก็เป็นข้อสังเกตจากทั้งผู้วิจัยและตัวผมเอง อย่าลืมนะครับว่าส่วนมากข้อมูลมาจากการศึกษาแบบ prospective cohort
สำหรับเรื่อง เบาหวานที่ข้อมูลยังสับสนกันอยู่นั้น เดี๋ยวผมจะลงวิเคราะห์วิจารณ์เรื่องการศึกษาที่ศึกษาเรื่องผลของการกินไข่ในคนที่เป็นเบาหวาน ว่าตกลงเพิ่มโรคหลอดเลือดจริงไหม คือ DIABEGG ที่ตีพิมพ์ ใน Amercan Journal of Clinical Nutrition 2015 ก็จะได้ครบทั้งข้อมูลรวมทั้งหมดและข้อมูลที่ยังไม่ลงตัวในเรื่องเบาหวาน ว่าตกลงจริงๆแล้ว การกินไข่มีผลอย่างไร ครบกับคนทุกกลุ่ม
https://drive.google.com/open?id=0Bw862GrW7-8LM2s5ZnBMdzM0Ukk
สุดท้ายผมก็จะสรุปว่า การกินไข่ แม้จะมีโคเลสเตอรอลสูงก็จริง แต่ไม่ได้ส่งผลอะไรกับการเกิดโรคหลอดเลือด ตัวที่เกิดปัญหามากกว่าคือ ไขมันทรานส์และไขมันอิ่มตัว และการกินไข่ก็ได้สารอาหารอื่นๆ โปรตีน วิตามิน เกลือแร่ ที่ไปช่วยหักลบกลบโคเลสเตอรอลที่มาก ทำให้ถ้าเรามองไข่เป็นไข่ ไม่ได้มองเป็นก้อนโคเลสเตอรอล ประโยชน์จากการกินไข่มากกว่าโทษอย่างแน่นอน และราคาถูกอีกด้วย
ใครอยากฟัง..DIABEGG ขอหนึ่งไลค์นะครับ ไว้พิมพ์เสร็จแล้วจะลงให้อ่าน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น