22 มกราคม 2560

อาหารคงค้างในกระเพาะ

โพสต์นี้เอาใจพยาบาลเลยนะครับ (แต่ก็อ่านได้ทุกคนเหมือนเดิมนะ) ... ก่อนจะให้อาหารทางสายยางมื้อต่อไป ดูดอาหารเดิมในกระเพาะ ยังไม่หมดเลย..จะทำอย่างไรดี งดมื้อนี้ ลดปริมาณ ใส่ของเก่ากลับเข้าไป จะทำอย่างไรดี

  ก่อนที่จะให้อาหารมื้อถัดไป ระยะเวลาห่างจากมื้อแรก 3-5 ชั่วโมง เราคาดหวังว่าในกระเพาะคงจะไม่มีอาหารเดิมหลงเหลือแล้ว ในความเป็นจริงคือ ในกระเพาะคนเรามี "ของ" เข้าและออกตลอดเวลา ทั้งจากน้ำลายและสารคัดหลั่งจากกระเพาะ ถ้าเราคิดว่าเข้าออกสม่ำเสมอจะมีปริมาณสมดุลในกระเพาะ 150-200 ซีซี อยู่แล้ว (ในความเป็นจริงก็มีๆหายๆ ไม่ได้สม่ำเสมอ)

   คราวนี้ถ้าเราคิดว่า ดูดของเหลือขึ้นมาได้ 250 ซีซี ในความเป็นจริงอาจจะมีอาหารเดิมหลงเหลือแค่ 30-50 ซีซี เท่านั้น ในทางปฏิบัติการแยกว่าเป็นอาหารเหลือหรือสารคัดหลั่งทำยากนะครับ ดังนั้น การดูดอาหารก่อนจะให้ครั้งต่อไป จึงอาจไม่ได้ ถูกต้องแม่นยำเสมอไป
  หรือแม้กระทั่งวิธีการดูดก็อาจไม่ตรงได้ เช่น มีอากหารเหลือจริงแต่ปลายสายโค้ง ลอยอยู่เหนืออาหาร ก็จะดูดได้ลม แปลความว่าไม่มีอาหารเหลือ ทั้งๆที่เต็มไปหมด หรือผู้ป่วยเอียงตะแคง ก็อาจเปลี่ยนตำแหน่ง การดูดหรือการปล่อย มีผลทั้งสิ้นครับ
  ย่อหน้านี้ต้องการสื่อให้ทราบว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีที่จะประมาณอาหารที่เหลือได้ชัดเจนทั้งวิธีปฏิบัติและค่ามาตรฐาน เป็นที่มาว่า ทำไมปัจจุบันจึงไม่แนะนำโดยเฉพาะ ASPEN 2015 ไม่แนะนำให้วัดเลย

   ปริมาณอาหารที่คงค้างมีความสำคัญคือ เมื่อตรวจพบก็จะเป็นสัญญาณว่าผู้ป่วยมีปัญหาการเคลื่อนที่และการดูดซึมของทางเดินอาหารผิดปกติที่เรียกว่า feeding intolerance หรือไม่ และต้องให้แพทย์ที่ดูแลหาสาเหตุและรักษาครับ  การศึกษา ณ ปัจจุบันแสดงให้เห็นชัดเจนว่า อาหารคงค้าง 200 ซีซี 300 ซีซี 500 ซีซี การเกิดการสูดสำลักหรือปอดอักเสบ ไม่ได้แตกต่างกัน
  และผลจากการศึกษาที่ค่อนข้างไม่สนับสนุนการวัดอาหารคงค้าง คือ เมื่อเราดูดตรวจบ่อยแต่ว่าไม่มีเกณฑ์ที่ชัดเจนนัก สิ่งที่เกิดคือ ทำให้คนไข้ได้พลังงานและสารอาหารน้อยลง ใช้เวลานานขึ้นกว่าจะถึงเป้าหมายพลังงานที่ต้องการ เพราะจะทำให้ทีมดูแลกังวล มีการชะลอการให้อาหาร  ปัจจุบันการดูแลผู้ป่วยเราจะพยายามให้อาหารทางปากให้เร็วที่สุดสามารถลดผลข้างเคียงแทรกซ้อนต่างๆได้มากครับ

   ปัจจุบันก็ควรวัดปริมาณคงค้างนะครับ เพื่อติดตามเรื่องการเคลื่อนที่ของลำไส้ที่เป็นสัญญาณอันหนึ่งของความผิดปกติของร่างกาย ถ้าเกิน 500 ซีซี ควรงดอาหารมื้อนั่นไปก่อน หาสาเหตุและแก้ไข  ถ้าระหว่าง 250-500 ซีซี ก็สามารถให้อาหารต่อได้ อาจต้องปรับอัตราการให้ช้าลง หรือแบ่งปริมาณย่อยๆ หลายครั้ง รวมทั้งหาสาเหตุและแก้ไข
  การหาสาเหตุและแก้ไขเป็นสิ่งสำคัญนะครับ ไม่ว่าเกลือแร่ผิดปกติ แรงดันในช่องท้อง ผลจากยาต่างๆ ถ้าจำเป็นอาจต้องให้ยาเพิ่มการเคลื่อนที่ลำไส้ (prokinetic drug)
  ส่วนถ้าน้อยกว่า 250 ซีซี ก็ไม่เป็นไร ครับ   ผลสรุปตรงนี้ผมคิดว่าสมเหตุสมผล ไม่มากหรือน้อยเกินไป มาจาก SCCM,ASPEN และ บทความของ อ.สรวิเชษฐ์ที่ มข. ลงในวารสาร Thai Journal of Parenteral and Enteral Nutrition

  อาหารที่ดูดออกมา ถ้าไม่มากเกิน 250 ซีซีก็ใส่กลับได้นะครับ แต่การดูดและการใส่คืนต้องสะอาดพอครับ ในสิ่งที่ดูดออกมาจะมีเกลือแร่ที่สำคัญอยู่ด้วย แต่ถ้าไม่มั่นใจเรื่องความสะอาดก็ใส่อาหารชุดใหม่ที่เตรียมมาจะดีกว่าครับ
   ปัญหาการขาดสารอาหารในโรงพยาบาลเป็นสิ่งที่เราละเลยกันมากนะครับ เพราะสิ่งที่เราให้ กับ สิ่งที่คนไข้ได้ อาจจะไม่ตรงกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม