เราเดินไปทดสอบการนอนหลับกันดีไหม...เผื่อว่าคุณภาพการนอนไม่ดี..จะได้รีบรักษา
อย่าเพิ่ง...อ่านนี่ก่อน
เมื่อสองวันก่อน US preventive services task force ได้ประกาศแนวทางในการคัดกรองโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับออกมา น่าสนใจนะครับ ดังนี้
1. โรคทางเดินหายใจส่วนบนอุดกั้นขณะหลับ เป็นสาเหตุที่ทำให้คุณภาพชีวิตแย่ลง ความดันไม่ลด อาจทำให้เกิดอัมพาต เบาหวานแย่ลง สมองไม่ดี โรคหัวใจวายนี่พิสูจน์ไปแล้วว่าไม่ค่อยเกี่ยวกัน โดยรวมการควบคุมโรคเดิมยากขึ้น และถ้าเป็นชนิดรุนแรงจะเพิ่มอัตราการเสียชีวิต
2. ความชุกเกิดประมาณ 10%ของประชากรอเมริกา ในจำนวนนี้ 6.8% เป็นชนิดรุนแรง แนวโน้มจะพบมากขึ้นเพราะอ้วนมากขึ้น อายุมากขึ้นเป็นสังคมผู้สูงวัย ในประเทศไทยผมคิดว่าคงน้อยกว่านี้ครับ เราผอมกว่า สรีระเราดีกว่า แต่ว่าน่าจะเพิ่มขึ้นในอนาคตเหมือนกัน เพราะเราก็อ้วนมากขึ้น
3. ถ้ามีอาการและสงสัยโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (OSA) แนะนำให้ทำแบบสอบถามที่ออกแบบเพื่อตรวจและติดตาม เช่น Epworth Sleepiness Scale ..อื่นๆอีก และเข้ารับการทดสอบการหลับที่เรียกว่า polysomnogram หาจำนวนครั้งที่หายใจน้อยหรือหยุดหายใจในแต่ละชั่วโมง (Apnea Hypopnea Index) เป็นการตรวจมาตรฐาน
4. แล้วถ้าไม่มีอาการที่สงสัยเลย..จริงๆอาการนั้นคือ หลับกลางวันโดยไม่มีสาเหตุอันอธิบายได้..ไม่ใช่ว่าอดนอน ทำกิจกรรมเข้าจังหวะหนัก กินยาที่ง่วงซึม ต้องไม่มีสาเหตุที่ชัดๆ และ หลับแบบไม่ควรหลับเช่น ขับรถติดไฟแดง (เกณฑ์นี่มาจากเมืองนอก อยู่แยกลาดพร้าวเมืองไทยก็หลับนะ) กินข้าวก็หลับ หรือ คุยกับใครอยู่แล้วหลับ
ถ้าไม่มีอาการเหล่านี้ มีแค่กรน ง่วง ไม่สดชื่น ความดันไม่ลง แวบมาในใจจะเป็นไหม ทั้งหมอคิดหรือคนไข้คิด แล้วเดินไปตรวจจะมีประโยชน์ไหม
5. แนวทางบอกมาว่า ตอนนี้ไม่มีข้อมูลเพียงพอว่า "คัดกรองโดยไม่มีอาการ" แล้วจะมีประโยชน์หรือมีโทษ ก็ไม่ได้แนะนำให้ทำนั้นเอง เปลืองเงิน การศึกษาที่ทำทั้งหมด ไม่มีการศึกษาจากการคัดกรอง มีแต่สงสัยอย่างมากว่าจะเป็น แล้วเอาไปตรวจรักษา ในสถานที่ที่เชี่ยวชาญการตรวจการนอนหลับอีกด้วย ..ดังนั้น ถ้าไม่สงสัยจริงๆ ไม่ต้องไปทำครับ ทั้งแบบสอบถาม ทั้งการตรวจแบบไปวัดที่บ้านหรือตรวจเต็มรูปแบบ
6. แล้วถ้าไปตรวจแล้วผลตรวจออกมาเป็นบวก ว่าเป็นล่ะ..ก็ต้องบอกว่าในกรณีที่ไม่มีอาการสงสัยนั้น โอกาสเป็นบวกจริงคือเป็นโรคจริงน้อยมาก เพราะการทดสอบมีความไวไม่มาก..จริงๆความจำเพาะก็ไม่มากด้วย ..โอกาสเป็นโรคจริงก็น้อย และถ้าผลการทดสอบออกมาเป็นลบ โอกาสเป็นลบจริงก็ไม่มากอีกนั่นเอง ไม่ค่อยเกิดประโยชน์
7. อย่างข้อ 6 เกิดตรวจมาแล้วเป็น ทั้งๆที่ไม่มีอาการ จะไปรักษามันผิดไหม.. ก็ต้องบอกว่าอาจเกิดการรักษาโดยไม่จำเป็น การรักษานั้นอาจเป็นการใส่เครื่องดันลมเวลานอน CPAP ..ไม่ใช่ PPAP นะ..หรือการใช้ Mandibular Advancement Device ป้องกันลิ้นตกคางตก อาจมีผลเสียจากการใช้อุปกรณ์ ซึ่งผลเสียก็ไม่ได้รุนแรง ปากแห้ง คอแห้ง ปฏิกิริยากับหน้ากาก
ถึงแม้เป็นโรคจริง..การใช้อุปกรณ์ต่างๆเหล่านี้ ก็ได้ผลไม่มาก จากการทบทวนวรรณกรรมทางการแพทย์ ประโยชน์ที่ได้คือ ลด AHI, ลดคะแนน ESS ..ดูข้อสามนะครับ ..หรือความดันเลือดลดลง แต่ยังไม่พบผลทางคลินิกที่สำคัญ ไม่ว่า อัตราตาย ความพิการจากโรค ที่จะดีขึ้น
8. ในกลุ่มไม่มีอาการ ตรวจก็ไม่เกิดประโยชน์ รักษาหรือไม่รักษาก็ไม่เกิดประโยชน์ ข้อมูลปัจจุบันจึงบอกว่า ไม่ได้แนะนำให้คัดกรองในคนไม่มีอาการ เพราะไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนใดๆเลย
9. ต้องรอการศึกษาและงานวิจัยอีกมากที่จะมาเปลี่ยนแปลงการตรวจรักษานี้ ..ทุกๆสมาคมในอเมริกาก็กล่าวคล้ายกัน ข้อมูลที่มีตอนนี้ ขนาดไม่มากพอ การศึกษาขนาดเล็ก และ ไม่ค่อยได้จากการทดลองจะเป็นการติดตามเสียเป็นส่วนใหญ่
10. อันนี้ผมสรุปเองนะครับ ..ไม่ควรเดินไปตรวจเอง ควรให้แพทย์ทำการซักประวัติและตรวจร่างกาย หาสาเหตุอื่นๆก่อน ถ้าสงสัยจริงๆ ค่อยทำแบบสอบถามและ polysomnogram จึงจะเกิดประโยชน์ และถ้าเป็นโรคก็จะเป็นของจริง รักษาแล้วจะได้ประโยชน์ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น