11 มกราคม 2560

Constipation the series ว่าด้วยเรื่องท้องผูก (2)

การปฏิบัติตัวเพื่อรักษาอาการท้องผูกเรื้อรัง

การรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังที่สำคัญต่อจากตอนที่แล้วคือต้องหาสาเหตุและแก้ไขปัญหาที่สาเหตุก่อน อย่างเช่นถ้ามีก้อนอุดตันอาจต้องผ่าตัดเอาก้อนออก หรือถ้าเกิดจากยาอาจต้องปรับลดขนาดยาหรือเปลี่ยนชนิดยา

ส่วนที่สองคือการรักษาอาการ การรักษาอาการจะเป็นจุดที่คนให้ความสำคัญมากเพาะเห็นผลเร็ว ทำให้ชีวิตสบายขึ้นเร็ว จนบางครั้งลืมที่จะมาสืบค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของโรค

ขอกล่าวถึงการปฏิบัติตัวก่อนนะครับ เพราะประสิทธิภาพสูง ราคาไม่แพง และยังทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นด้วย สิ่งแรกที่ต้องคิดแน่ๆคือเรื่องอาหาร อุจจาระนั้นไม่ได้มีแต่กากอาหารเท่านั้น มีส่วนประกอบของเซลในลำไส้ที่หลุดลอก น้ำดี ออกมาในทางเดินอาหาร แต่การจับตัวเป็นก้อนที่ดี มีขนาดพอดี นุ่ม ก็คงต้องอาศัยอาหารที่มีกากใยสูง เป็นตัวช่วยยึดเกาะให้เป็นก้อนสวยๆ fiber ในอาหารนั้นแบ่งเป็น ละลายน้ำได้และที่ไม่ดูดซึมไม่ละลาย เจ้ากากใยทั้งสองชนิด...ย้ำทั้งสองชนิด...นี่แหละเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้อุจจาระคุณภาพดี (จริงยังแบ่งย่อยออกเป็น ferment ได้เร็วและได้ช้าอีกด้วย) และการเคลื่อนที่ของกากดีขึ้น

อาหารที่มี fiber สูงๆก็ผักสีสันต่างๆ ผักกินใบ ผลไม้เช่นฝรั่ง แอบเปิ้ล (ฝรั่งถูกกว่ามาก แนะนำฝรั่งนะครับ) เมล็ดธัญพืช ลูกเดือย ข้าวกล้อง ถั่วเมล็ดแข็งต่างๆ ลูกพรุน
การศึกษาทางการแพทย์พบว่าทั้งไฟเบอร์ที่ละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ มีผลกับเรื่องท้องผูกทั้งสิ้น ส่วนการใช้ยาหรืออาหารเสริมไฟเบอร์นั้น มีการศึกษาเปรียบเทียบไม่มาก แต่โดยรวมๆแล้ว การใช้ไฟเบอร์จากอาหารจะดีกว่าเพราะมีสารอื่นๆที่ปรับการทำงานลำไส้ มีส่วนผสมของทั้งไฟเบอร์ที่ละลายและไม่ละลายน้ำในสัดส่วนที่ดี ...มีครบทั้งสองไฟเบอร์..

สัดส่วนไฟเบอร์ที่แนะนำคือ 15-20 กรัมต่อวันต่อพลังงาน 2000 กิโลแคลอรี แต่ถ้าจะใช้รักษาท้องผูกอาจต้องใช้มากถึง 20-40 กรัมต่อวัน

อาหารไฟเบอร์สูงสัดส่วนต่ออาหาร 100 กรัมจะมีไฟเบอร์มากกว่า 3 กรัม อย่างที่ยกตัวอย่างในย่อหน้าก่อน ถ้าจำพวกผักต่างๆ จะจัดเป็นเส้นใยปานกลางเท่านั้น 1-3 กรัมต่อน้ำหนัก 100 กรัม คิดคร่าวๆ ก็กินผักสุกวันละ 6 ทัพพี หรือ ผักมื้อละหนึ่งทัพพี ผลไม้หนึ่งส่วนต่อมื้อ รวมกับสัดส่วนของข้าวก็เพียงพอแล้ว และถ้าต้องการไฟเบอร์มากจริงๆ กินข้าวกล้องเลยครับ การโหมกินผักมากๆอาจได้ไฟเบอร์มากก็จริงแต่สัดส่วนอาหารอย่างอื่นจะขาดไปด้วย ท้องผูกมากๆกินข้าวกล้องเลยครับ

ไฟเบอร์อย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอาศัยน้ำมาทำให้อุจจาระนุ่ม ถ่ายออกง่ายด้วย ควรดื่มน้ำอย่างน้อย 1.5 ลิตรต่อวัน ก็คือขวดลิตรปัจจุบันนี่แหละครับ เสริมด้วยการออกกำลังกายแบบปานกลาง คือให้เหนื่อยจนร้องเพลงไม่ไหว รวมๆกัน 150 นาทีต่อสัปดาห์
จะเห็นว่าคำแนะนำข้างต้นคือคำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพดีตามที่หลายๆประเทศหลายองค์กรได้ออกมาแนะนำกัน เพจเราก็ได้แนะนำกันไปหลายครั้งแล้วนั่นเองครับ

หัวข้อที่ควรเข้าใจต่อไปคือ สุขนิสัยที่ดีของการขับถ่าย คือเราไม่ควรกลั้นอุจจาระนั่นเองครับ ความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระอาจมีมาวันละสองสามครั้ง แต่ถ้าเราต้องกลั้นเอาไว้เช่น กำลังบรรยาย กำลังติดต่อลูกค้า พอจะไปถ่ายออกอาจหมดอารมณ์ไปแล้ว ยิ่งพวกท้องผูกเรื้อรังนี่ อาจจะมีอารมณ์แค่สัปดาห์ละสองสามครั้งครับ พอกลั้นบ่อยๆก็พาลออกยากนั่นเอง แต่ถ้ามันต้องกลั้น จำเป็นก็ห้ามไม่ได้ครับ เราหันมาฝึกลำไส้ให้อยากถ่ายก็ได้ครับ

ปกติมนุษย์เราจะมี gastrocolic reflex คือเมื่อมีอะไรตกถึงท้อง ก็จะไปกระตุ้นลำไส้ทำให้เกิดความรู้สึกปวดถ่ายครับ เราให้ตรงนี้มาช่วยคือ พอตื่นเช้ามาให้ดื่มนม ดื่มน้ำ หรือกินอาหารเช้า แล้วจะอยากถ่ายอุจจาระ ก็ไปจัดการเลยครับ ทำบ่อยๆก็จะสร้างนิสัยการขับถ่ายที่ดี ลดโอกาสท้องผูกได้มาก แต่ตื่นเช้าหน่อยนะครับ จะได้มีเวลาสร้างอารมณ์และความรู้สึก ทำแบบนี้บ่อยๆ ลำไส้ก็จะเชื่อฟังเราครับ ยิ่งกลั้นมากๆ เจ้า reflex อันนี้จะช้าลงลดลงนะครับ ท้องผูกมากขึ้นไปอีก

ในกรณีที่เป็นมากๆอาจจะต้องใช้วิธีการฝึกกล้ามเนื้อ ฝึกหูรูดที่เรียกว่า biofeedback training ที่ยากมากและมีอยู่ใน รร.แพทย์ครับ

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงยานะครับ เป็นตอนจบ ก่อนจบเอาลิงค์เรื่อง ไฟเบอร์กับทางเดินอาหารมาให้ครับ .. ฟรีเช่นเคย

http://www.nature.com/…/journal/v108/n5/full/ajg201363a.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม