10 มกราคม 2560

Constipation the series ว่าด้วยเรื่องท้องผูก (1)

Constipation the series ว่าด้วยเรื่องท้องผูก

อ่านหนังสือเรื่อง ambulatory medicine “the survivors” โดยอาจารย์แพทย์จากสามสถาบัน จุฬา รามา ศิริราช รู้สึกว่าเขียนดีมากๆเลยครับ เป็นประเด็นที่เอาไปใช้ได้จริง และทันสมัย ผมหยิบหนึ่งเรื่องที่อ่านแล้วประทับใจเข้าใจ เอามาเล่าและขยายความให้ฟังแบบง่ายๆในสไตล์เพจของเรา ให้ทุกคนอ่านเข้าใจ คือ เรื่อง ท้องผูกเรื้อรัง (chronic constipation) เขียนโดยท่านบรรณาธิการ อ.พจมาน พิศาลประภา และ อ.สมชาย ลีลากุศลวงศ์ จากค่ายศิริราชครับ

เมื่อไรเรียกว่าท้องผูก...จำง่ายๆเลยว่าถ่ายอุจจาระน้อยกว่าสามครั้งต่อสัปดาห์ และถ้าเป็นแบบนี้มาเกิน หกเดือน จะเริ่มคิดแล้วว่ามันเรื้อรัง ส่วนมากก็จะมีอุจจาระเป็นก้อนแข็ง ต้องเบ่ง เกณฑ์การวินิจฉัยจริงๆ เรียกว่า ROME III criteria ที่แพทย์ต้องไปอ่านเพิ่มนะครับ ยิ่งน้องๆเรซิเดนท์เฟลโล่ต้องรู้เลยนะครับ
คนเราอาจจะมีความแปรปรวนของการถ่ายอุจจาระได้เสมอครับแต่ก็คงจะไม่เรื้อรังนาน ถ้ามีถ่ายเหลวเรื้อรัง แสดงว่าต้องมีสาเหตุครับ ต้องหาสาเหตุนะครับ ไม่ควรใช้แต่เพียงยาระบายให้อาการดีขึ้นแล้วจบไป

สาเหตุจากอะไร...สาเหตุมีหลายสิบ แบ่งเป็นสาเหตุจากตัวลำไส้เอง และสาเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกโดยที่ตัวลำไส้ยังปกติดี มากล่าวถึงสาเหตุตรงๆจากลำไส้กันก่อน ง่ายๆก็ลำไส้ตันครับ เช่นมีก้อน หรือระบบประสาทที่หูรูดก้นทำงานผิดปกติไม่ยอมคลายตัว มีแผลที่ลำไส้ก็จะทำให้กล้ามเนื้อเกร็งท้องผูกได้ กล้ามเนื้อหูรูดหดเกร็งตัวผิดปกติ หรือเกิดจากการเคลื่อนที่ของลำไส้ผิดปกติ เคลื่อนที่ช้าเกิน เคลื่อนที่ไม่สัมพันธ์กัน ส่วนมากก็จะเป็นโรคของระบบประสาทและสารสื่อประสาทของระบบทางเดินอาหาร ระบบทางเดินอาหารของคนเรามีระบบประสาทที่ค่อนข้างเป็นเอกเทศแยกออกมาจากระบบประสาทอัตโนมัติอื่นของร่างกายพอสมควร มีการรับส่งกระแสประสาทและสารสื่อประสาทที่ค่อนข้างสมบูรณ์ในตัว (ส่วนใหญ่คือสารซีโรโทนิน) ดังนั้นการวัดการทำงานของระบบประสาทในช่องท้องและทางเดินอาหารจึงต้องอาศัยการสืบค้นที่เฉพาะแบบครับ

จะเห็นว่าสาเหตุต่างๆนั้นถ้าไม่ไปแก้ไขที่ตัวต้นทางนั้นจะไม่หายจากการท้องผูกเลย การใช้ยาระบายอาจดีขึ้นเป็นครั้งเป็นคราวไปเท่านั้น
สาเหตุอื่นๆที่ส่งผลทำให้เกิดท้องผูก ที่พบบ่อยๆก็ยาที่ส่งผลต่อระบบประสาท ยาต้านโรคซึมเศร้าtricyclic antidepressant ยารักษาพาร์กินสันlevodopa ยาแก้แพ้chlorpheniramine ยากันชักphenytoin ยาลดปวดกลุ่มมอร์ฟีน

โรคต่างๆที่พบบ่อยที่อาจมีอาการท้องผูกร่วมด้วยก็เบาหวาน ไทรอยด์ต่ำ ภาวะแคลเซียมในเลือดเกิน โรคพวกนี้ก็ทำให้การทำงานของลำไส้และทวารหนักแปรปรวน

ดังนั้นการวินิจฉัยที่ดีที่สุดคือการซักประวัติและการตรวจร่างกายครับ เพื่อถามอาการและโรคร่วมต่างๆ การตรวจที่สำคัญคือการตรวจร่างกายทางทวารหนัก การตรวจดูลำไส้ตรง อาจต้องใช้นิ้วตรวจหรือกล้องส่อง ส่วนใหญ่เราก็จะได้การวินิจฉัยแล้ว มีไม่กี่โรคเท่านั้นที่จะต้องการการตรวจพิเศษซึ่งทำได้ไม่กี่ที่ เช่นการวัดการบีบตัวของลำไส้ (anorectal manometry) การวัดแรงบีบของทวารหนัก การวัดเวลาใช้ในการขับอุจจาระ (colon transit time) หรือการส่องกล้องลำไส้ใหญ่เมื่อจำเป็น ขอย้ำว่าการตรวจพิเศษใช้น้อยมากและใช้เมื่อสงสัยจริงๆเท่านั้น เพราะการตรวจนั้นยุ่งยากแปลผลยากมาก ทำได้ไม่กี่ที่และแพง แถมเกือบทั้งหมดวินิจฉัยได้จากประวัติและการตรวจร่างกาย สุภาพสตรีอาจต้องมีการตรวจช่องคลอดและมดลูกด้วยนะครับเพราะมดลูกอยู่ชิดกับลำไส้ตรงก่อนไปสู่ทวารหนัก

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นว่าปัญหาท้องผูกเรื้อรังเป็นสิ่งที่ต้องสืบค้นและแก้ไขปัญหานะครับ บางโรคก็รุนแรงเช่นเนื้องอก มะเร็ง บางโรคก็สามารถรักษาที่สาเหตุได้ ส่วนใหญ่ที่เรามักจะทำกันเสมอคือ ใช้ยาระบายเป็นครั้งคราวไป ซึ่งเป็นการรักษาปลายเหตุและอาจทำให้เกิดลำไส้ทำงานแปรปรวนอีกด้วยครับ

ตอนต่อไปจะว่าว่ากันถึงวิธีปฏิบัติตัวเพื่อรักษาอาการท้องผูกและยารักษาอาการท้องผูกครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม