"วันนี้ไม่ว่างนะ มีนัดกับหมอ" ไม่ใช่แค่คุณที่ตั้งใจไปหาหมอ หมอเองก็รอคุณด้วย มาดูเหตุผลกันนะครับว่าทำไมหมอก็อยากเจอคุณ
1. การติดตามการรักษาเป็นหนึ่งในขั้นตอนการวินิจฉัยแยกโรค บางทีหมอเองก็ยังแยกอีกสองสามโรคไม่ออก การติดตามอาการจะช่วยให้แยกโรคได้ชัดเจนขึ้นนะครับ ตัวอย่างเช่น เพื่อนชายผมคนหนึ่ง ติดตามไปเรื่อยๆ ตอนแรกก็แยกยากครับ ตอนนี้..แหม่..ชัดเจน ความชายมันจางลงเยอะเลย
2. ติดตามการตอบสนองต่อโรค ให้ยาไปแล้วตอบสนองไหม แนะนำการปฏิบัติตัวแล้วมีอุปสรรคอะไรหรือไม่ โรคบางโรคให้ยาไปสักสัปดาห์น่าจะดีขึ้นนะ การนัดติดตามก็จะทราบว่า ยาได้ผลไหม เชื้อดื้อยาไหม ตัวอย่างเช่น ซื้อกุหลาบสีแดงให้สาวเจ้าช่อหนึ่ง อีกอาทิตย์หนึ่งตามไปดู อ้าว..กลายเป็นดอกดาวเรืองของใครล่ะเนี่ย อย่างนี้ท่าทางจะไม่ตอบสนอง
3. ติดตามผลข้างเคียงของโรคหรือการรักษา รักษาไปแล้วมีผลข้างเคียงไหม โดยเฉพาะโรคที่เสี่ยงการเกิดผลข้างเคียง เช่น เย็บแผลเอาไว้แผลอาจเกิดหนอง ต้องนัดมาดูว่าจะเกิดหนองหรือเปล่า หรือให้ยาที่อาจทำให้ไตเสื่อมก็ต้องนัดมาเจาะเลือดดู ตัวอย่างเช่น ลองออกข่าวดูซิว่า ปีหน้าคงไม่ได้เลือกตั้ง แล้วดูซิว่าอีกสัปดาห์ปฏิกิริยาว่าอย่างไร มีผลข้างเคียงไหม...เอ่อ.ถ้าเพจปลิวไป ก็สวัสดีลาก่อนนะครับ
4. ปรับยา ยาบางตัวต้องปรับนะครับ ไม่ใช่ว่าให้แล้วให้เลย เช่นยากันเลือดแข็ง warfarin ให้ยาแล้วต้องมาเจาะเลือดปรับยากันบ่อยๆ ถ้าไม่มาตามนัดบางทียาเกินระดับ เลือดออกได้ง่ายๆเลย ตัวอย่างเช่น เวลาขับรถตู้ก็ต้องมีการมาปรับจูนเครื่องเป็นระยะๆ ถ้าละเลยไม่ยอมมาเข้าศูนย์ เช็คเบรคปรับตั้ง...ก็อย่างที่เห็น
5. ควบคุมการรักษาให้ได้เป้า โรคหลายโรคโดยเฉพาะโรคเรื้อรัง หมอเรามีเป้าหมายการรักษาครับ การนัดมาก็เพื่อปรับแต่งการรักษาให้บรรลุประสิทธิผล ชัดๆคือเบาหวาน เป้าหมายคือ HbA1C น้อยกว่า 7 ก็นัดมาติดตามถามไถ่ ทำไมไม่ได้ล่ะครับ ยากินไหม ลืมไหม หรือกินยาก หลายเวลา หรือว่าคุมอาหารไม่ได้ หิวจัด ก็ต้องนัดมาปรับแต่งการรักษาให้ได้เป้า ตัวอย่างเช่น เป้าหมายจะจีบน้องใหม่ ดาวิกา ให้ได้ ก็ต้องปรับแต่งการพูดจา การแต่งตัว เป็นระยะ ไม่ใช่ไม่พัฒนาแต่งตัวเหมือนไปออกรบสงครามซีเรียทุกที มันก็แห้ว
6. นัดมาเพื่อให้เกิดความสม่ำเสมอการรักษา นัดมานั้นเท่ากับ หมอยังอยากเห็นคนไข้สม่ำเสมอ รักษาตัวต่อเนื่อง ชัดๆอีกแล้ว ผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี แม้จะได้ตามเป้า ไม่มีผลข้างเคียง แต่ก็นัดมาเพื่อให้คนไข้ได้ตระหนักถึงการรักษาต่อเนื่อง ถ้าไม่นัดนี่อาจหลุดไป ขาดยา ไม่ดูแลตัวเอง โรคคงจะกำเริบอีก ตัวอย่างเช่น บางหน่วยงานที่ขยันติดตามงาน ออกเส้นตายมาหลายเส้น แม้ทราบดีว่าผลเป็นอย่างไร ก็ยังออกเส้นตาย เพื่อให้รู้ว่า ยังใส่ใจเธออยู่นะจ๊ะ
7. สร้างสัมพันธ์ที่ดีระหว่างหมอกับคนไข้ ติดตามเห็นหน้า ถามสารทุกข์สุกดิบ เพื่อให้เขาศรัทธาและเชื่อมั่น ไม่ใช่เป็นแค่ ผู้ป่วยกับผู้รักษา ผู้ซื้อบริการกับผู้..ขาย..เอ้ย ผู้ให้บริการทางการแพทย์ ลดช่องว่างของหมอกับคนไข้ บางคนหายแล้วพาลูกมารักษากับผม..ลูก 5 ขวบ เอ่อ..ได้ครับ ไม่เป็นไร..งั้นคุณน้องไปหาหมอเด็กคนนี้นะ ผมว่าดีที่สุดสำหรับลูกของ คุณน้องเลย เดี๋ยวฝากให้ ....***ครับ อย่าทำลายความหวังใคร***
หมอก็อยากพบคนไข้นะครับ เหตุผลทั้งเจ็ดข้อมันรวมๆกันเรียกว่า...DOCTOR PATIENT RELATIONSHIP ความสัมพันธ์อันดีของหมอกับคนไข้
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
บทความที่ได้รับความนิยม
-
คำถามจากทางบ้าน : น้ำอสุจิมีมดตอม แบบนี้ เป็นเบาหวานไหม อย่างแรกคนที่ถามคำถามนี้เป็นสุภาพสตรี ต้องนับถือในความช่างสังเกตสิ่งรอบตัวจริง ๆ ค...
-
Acute pancreatitis จากที่ตอนที่แล้ว เราได้กล่าวถึงตับอ่อนอักเสบในภาพรวม สำหรับโพสต์วันนี้ขอเล่าถึงในภาพลึกในเชิงปฏิบัติบ้างนะครับ ตามสัญญา...
-
ปฏิบัติการ I/O สะท้านโลก I/O ทางการแพทย์เราคือ intake -- output ปริมาณสารน้ำเข้าออกในร่างกาย ไม่ได้เกี่ยวกับปฏิบัติการข่าวสารอันเลื่องลื...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น