30 มกราคม 2560

การแพทย์เฉพาะราย

อนาคตข้างหน้า อาจจะอีกไม่เกินสิบปีนี้ เราคงได้เห็นโฉมหน้าการเปลี่ยนแปลงทางการแพทย์ครั้งใหญ่ การแพทย์ที่ออกแบบมาเฉพาะราย จริงๆเรื่องพวกนี้มีมาสักระยะแล้วนะครับ ในหลัก 10 ปี แต่ว่าเทคโนโลยีขณะนั้นอาจทำได้แค่ฝันไปก่อน เมื่อมา ณ วันนี้ เกิดปรากฏการณ์นี้ที่ชัดเจน เป็นรูปธรรม และเริ่มเอามาใช้มากขึ้น
   เพจเราได้เคยรายงานเรื่องนี้เป็นระยะๆนะครับ ทั้งเรื่อง พันธุกรรมต่อโรคหัวใจ พันธุกรรมต่อการออกฤทธิ์ของยา การแพ้ยา allopurinol, carbamazepine และได้แนะนำเพจทางการแพทย์ที่เขียนรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ คือ Cancer Precision Medicine ของคณะทำงานด้านนี้ในเมืองไทยเรา  มาเห็นอีกครั้งในบทความ Medicine gets Personal ในนิตยสาร the economist ฉบับพิเศษที่จะออกมาทุกต้นปีคือ the world in 2017 : Planet Trump

   ตอนนี้เรามีแนวทางการรักษาและการศึกษาที่มีพื้นฐานมาจากการสุ่มตัวอย่างประชากรตามหลักสถิติมาศึกษาและแปลผลไปว่าในประชากรจริงๆ จะเป็นอย่างไรและควรทำอย่างไร ซึ่งทางการแพทย์เรายอมรับความผิดพลาด คือไม่ได้ตรงกับที่ศึกษาประมาณไม่เกิน 5% แล้วเอามาใช้กับประชากรทั้งหมด นี่คือสิ่งที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้   แต่ว่าคนไม่ได้เหมือนกันทุกคน เหมือนกับที่ทุกคนมีลายนิ้วมือต่างกัน ม่านตาต่างกัน ในหนังนั้นจะเปิดประตูได้ต้องสแกนม่านตาให้ตรงกับฐานข้อมูล แนวคิดเดียวกัน จะให้การรักษาแบบนี้หรือให้ยานี้เมื่อ รหัสประจำตัวทางพันธุกรรมของคุณ ตรงกับข้อมูลที่บอกว่ามีประโยชน์ การรักษาจะเกิดขึ้นกับทุกๆสาขาการแพทย์ แต่ว่าตอนนี้ที่มีข้อมูลและเอามาใช้มากคือ โรคมะเร็ง
    เช่น แต่ก่อนเราศึกษามาแล้วว่ามะเร็งเต้านม ต้องผ่าตัด ให้ยาฮอร์โมนและให้ยาเคมีนะ โอกาสเป็นซ้ำจะลดลง เมื่อก้อนเท่านี้ อยู่ตรงนั้น ต่อมน้ำเหลืองกี่ต่อม...ก็รักษาได้ดีมาก  ต่อมาเราเริ่มมาหาตัวรับฮอร์โมนว่าถ้ามีตัวรับฮอร์โมน บางกรณีก็ไม่ต้องให้ยาเคมีบำบัด เพื่อหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงจากยาเคมีบำบัด แต่ฮอร์โมนก็ยังมีผลต่ออีกหลายอวัยวะ ต่อมาได้พัฒนาการตรวจหาตัวรับ HER2 ที่ถ้ามีการกลายพันธุ์ของตัวรับนี้ ก็จะให้ยาเป็น targeted ตรงไปที่เซลที่มีการกลายพันธุ์เลย เป็นการรักษาแบบนำวิถี ตรงเป้า

   แต่ความจริงต่อมาเราก็รู้อีกว่า ก้อนมะเร็งที่เห็นนั้นมันไม่ได้เหมือนกันทั้งหมด มีการกลายพันธุ์หลายแบบ มีโปรตีนหลายชนิดที่หลากหลาย นำมาสู่การตรวจหาสารพันธุกรรมที่เป็นต้นกำเนิดการกลายพันธุ์เลย และบอกได้เลยว่า มีการกลายพันธุ์ที่ตรงไหน จะรักษาแบบใด ผลการรักษาจะดีไหม การตรวจนี้จะละเอียดแม่นยำมาก ถ้าการตรวจนี้พัฒนาให้รวดเร็ว แม่นยำ จะคัดเลือกคนไข้มาทำการรักษาแบบต่างๆได้แม่นขึ้น คนนี้ให้เคมีสูตร ก นะ คนนี้ให้สูตร ข ตามด้วย ค  นะ คนนี้ไม่ต้องให้เคมีนะ ให้ยาตัวนี้ไปออกฤทธิ์ตรงโปรตีนนี้เลย หรือคนไข้คนนี้ไม่ต้องรักษาเพราะไม่มีการรักษาใดที่เกิดประโยชน์

  ปี 2015 โอบามาประกาศลุยตรงนี้ชัดเจน ต้องการ precision medicine ทำให้งานวิจัยและอุตสาหกรรมยาและการตรวจแบบนี้พัฒนามาก เช่น ชุดการตรวจ MammaPrint หรือ Oncotype Rx และพัฒนาการตรวจ liquid biopsy คือเจาะเลือดไปตรวจหาสารพันธุกรรมที่ผิดปกติที่จะบ่งชี้มะเร็งที่อยู่ในกระแสเลือด ไม่ใช่สารบ่งชี้มะเร็งที่เราตรวจกันทุกวันนี้นะครับ ultra-deep sequencing
   รวมไปถึงการพัฒนายารักษาที่จะเอาสารพันธุกรรมที่ปรับแต่งแล้วเข้าไปบรรจุใหม่ผ่านตัวพาคือไวรัส ทำให้ได้สารพันธุกรรมใหม่ใส่กลับเข้าไปเพื่อไปออกฤทธิ์ตรง DNA ที่กลายพันธุ์เลย ในต่างประเทศมีการใช้ในการศึกษาทดลองแล้ว

   ผมละชื่อบริษัท ชื่อยา ไม่อยากให้มองเป็นเรื่องทางการค้า อยากให้มองว่าอีกไม่นานโฉมหน้าทางการแพทย์จะเปลี่ยนไป นักเรียนแพทย์ต้องเรียนเรื่องพวกนี้ แพทย์ยุคเก่าแบบผมต้องเรียนรู้ใหม่ คนไข้ก็จะได้ข้อมูลใหม่ๆ แต่ว่าจะเอามาใช้ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดหรือไม่ อันนี้เป็นศาสตร์และศิลป์ ที่เป็น precision doctor-patient relationship ครับ
..
..ก้มหน้าก้มตา ซักประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจแล็บพื้นฐาน ยาราคาไม่แพง ..ต่อไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม