07 กุมภาพันธ์ 2559

ความงามของการฝึกสอนแพทย์

ขอพาท่านย้อนเวลากลับไป 18 ปีก่อน ไปที่การราวด์วอร์ดอายุรศาสตร์ที่โรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่ง ผมอยากเล่าความหลังให้ท่านได้เห็นความงามของการฝึกสอนแพทย์ครับ วันเวลาจะเริ่มประมาณ 0645 น ของทุกๆวอร์ดสามัญ แต่ละทีมนั้นจะมี นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 4 และ 5 ทำงานร่วมกับนักศึกษาแพทย์หลักประจำทีมนั้นคือนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หกหรือนักศึกษาแพทย์เวชปฎิบัติ โดยนักศึกษาแพทย์จะได้รับมอบหมายให้ดูแลผู้ป่วยประมาณ 3-4รายต่อคน ส่วนนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หกนั้นต้องทราบผู้ป่วยทั้งหมดในหอนั้นหรือในสายย่อยๆนั้น

เช้ามานักศึกษาแพทย์ปีที่ 4 และ 5 ก็จะไปติดตามความเป็นไปของผู้ป่วยที่ตนเองได้รับมอบหมาย อาการเมื่อคืนวัด สัญญาณชีพ เจาะเลือดและติดตามผลเลือดที่เกิดขึ้นเมื่อคืน นักศึกษามีผู้ป่วยในความดูแลไม่มากจึงสามารถลงลึกในรายละเอียดได้มาก ตัวเลขต่างๆที่ยิบย่อย เขาจะรู้และจำได้ครับ การตรวจร่างกายเบื้องต้น มีนักศึกษารวมกัน 5 คนก็รับผิดชอบเกือบหมดสายแล้วครับ ส่วนพี่ใหญ่คือนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่หกนั้นส่วนมากต่อสายการดูแลผู้ป่วยจะมีกันสองคน แบ่งกัน ช่วยกันคู่คิด คู่ถามกัน นศพ.ปีหกนี้ก็จะเก็บข้อมูลรายละเอียดข้อมูลที่ซับซ้อนขึ้น ประมวลผลจากข้อมูลที่น้องปีสี่และปีห้าตรวจได้มาคิดรวบยอดภายในเวลาอันรวดเร็ว และคิดต่อไปถึงแนวทางการรักษา ขั้นตอนนี้น้องก็จะแสดงความรับผิดชอบต่อผู้ป่วยตัวเองให้พี่ๆเห็น แสดงผลทักษะการตรวจร่างกายและแปลผลแล็บให้พี่ๆฟัง พี่ก็จะช่วยขัดเกลาหรือสอนน้องๆ เพื่อตรวจสอบข้อมูลนั้นด้วย จะสอนกันตรงนี้ พี่ก็จะใช้ประสบการณ์และวิชาการที่ตัวเองก็จะต้องไปอ่านมาเกี่ยวกับผู้ป่วยมาสอนน้องๆ ขั้นตอนนี้จะน่ารักมาก พี่สอนน้อง และน้องๆผู้หญิงก็มักจะได้รับการดูแลอย่างดี

เมื่อถึงเวลา 0700 ถึงเวลาจริงๆแล้ว ก็จะมีแพทย์ประจำบ้านอายุรศาสตร์ ซึ่งจบแพทย์แล้วมาเรียนเฉพาะทาง นำทีมตรวจผู้ป่วยในสายการดูแลของตนทุกคน พอเริ่มเตียงใด นักศึกษาแพทย์ปี4หรือ5 และปีหก ก็จะร่วมกันนำเสนอการติดตามผู้ป่วยรายนั้น แพทย์ประจำบ้านจะฟังและตรวจสอบความถูกต้องถ้ายังไม่ถูก ยังไม่ครบ ก็จะสอนและตรวจให้ดูเพิ่มเติม รวมถึงสอนการรักษา การแก้ปัญหาผู้ป่วยต่างๆ และอาจมีการถามตอบ สอนวิชาการสั้นๆเกี่ยวกับผู้ป่วยรายนั้นๆ สอนการรักษาและเซ็นรับรองการรักษา เพราะน้องๆนักศึกษาแพทย์ยังรักษาผู้ป่วยด้วยตัวเองไม่ได้เนื่องจากยังไม่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนั่นเอง ก็จะตรวจไปทีละคนจนครบ

ขณะที่เริ่มการตรวจนั้น ก็จะเริ่มมีแพทย์ประจำบ้านชั้นปีที่สองมาตรวจผู้ป่วยพร้อมกับ แพทย์ต่อยอดสาขา คือเป็นการดูแลผู้ป่วยเฉพาะลงไปอีก เพราะในโรงเรียนแพทย์เน้นการเรียนเป็นหลัก ผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีปัญหาเฉพาะด้านหลายด้าน เช่นต้องปรึกษาทีมแพทย์สาขาโรคหัวใจ และโรคปอด ในช่วงเวลานี้ก็จะมีแพทย์ประจำบ้านปีสองที่ศึกษาเกี่ยวกับโรคต่างๆในเชิงลึกและมีแพทย์ฝึกอบรมเฉพาะสาขา (เฟลโลว์)คอยให้คำแนะนำ มาตรวจผู้ป่วยและมาให้คำปรึกษาให้ทีมด้วย ทีมการรักษาในแต่ละสายก็จะมีข้อมูลในการรักษาคนไข้มากขึ้น ตัดสินใจได้ถูกต้องแม่นยำขึ้น

ช่วงสุดท้ายก็จะมีพี่ใหญ่ แพทย์ประจำบ้านชั้นปี่ที่สามประจำหอผู้ป่วยนั้นๆ คอยตอบคำถามและให้คำปรึกษา ตัดสินใจเรื่องการดูแลในกรณีซับซ้อน ตัดสินใจการจำหน่ายหรือรับผู้ป่วยและปรึกษาต่างแผนก คอยสอนและให้คำปรึกษาโดยที่มีน้องๆคอยช่วยทำงานเป็นการแลกเปลี่ยนกัน
งดงามจริงๆครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม