12 กุมภาพันธ์ 2559

อาการปวดศีรษะจากยา

เวลาเราปวดหัว เราจะรับประทานยาแก้ปวดเพื่อหวังผลลดอาการปวดศีรษะและสบายขึ้น แต่ทราบไหมครับว่า การใช้ยาแก้ปวดมากเกินไปก็ทำให้ "ปวด" ได้เช่นกัน

อาการปวดศีรษะแบบปฐมภูมิ คือ ไม่มีสาเหตุอื่นๆ เช่น ไมเกรน หรือจากกล้ามเนื้อตึง ถ้าเรากินยาแก้ปวดต่อเนื่องนานๆ ไม่มีช่วงเว้นหรือกินเพื่อกันปวด จะเกิดอาการปวดศีรษะแย่ลงเมื่อใช้ยา เรียกว่า medication-overused headache จะคล้ายๆกับติดยาครับ เพราะใข้ขนาดเดิมไม่ได้ผลเลยต้องเพิ่มขนาดไปเรื่อยๆ อาการก็หนักขึ้นเรื่อยๆ ทำให้เลิกยาไม่ได้สักที คราวนี้ล่ะครับผลข้างเคียงต่อตับต่อไต ต่อกระเพาะของยาแก้ปวดก็จะปรากฏขึ้น

ไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนนะครับว่าเกิดจากอะไร ปัจจุบันเชื่อว่าเป็นพันธุกรรม (Val66Met polymorphisms) และสารสื่อประสาท ซีโรโทนิน ...ช่างมันเถอะครับ แต่อาการและสิ่งที่จะบอกว่าน่าจะเกิดภาวะนี้ขึ้นคือ
1. อาการปวดศีรษะเกิดมากกว่าเดือนละ 15 วัน
2. ใช้ยาแก้ปวดเฉียบพลันมากกว่า 3 เดือน
3. อาการปวดแย่ลงเมื่อกินยามากเกิน
(4) อาการปวดลดลงหรือเป็นปกติในสองเดือนหลังหยุดยา ข้อสี่นี้อาจทำได้ยาก ปัจจุบันเราไม่ใช้แล้ว แต่ผมว่าเป็นการวินิจฉัยที่ดีนะ

ไม่ว่าจะใช้ยาอะไรก็เป็นได้ครับ แต่ยาที่เกิดภาวะนี้มากสุดคือยารักษาไมเกรน
แล้วจะทำไงล่ะ "กินมากก็ปวด ไม่กินก็ปวด" ประโยคนี้ผมว่าเป็นประเด็นเลยนะ ที่จะบอกว่าเป็นโรคนี้ เราแนะนำแบบนี้ครับ

อย่างแรก ให้มีวันพักยาบ้าง กินยาเท่าที่จำเป็น ปวดรุนแรงจึงกิน ไม่กินเพื่อกันปวด หรือกินมากเกิน จะเลือกหยุดแบบหักดิบได้..ถ้าไม่ใช่ยา กลุ่มฝิ่นและอนุพันธ์เช่นมอร์ฟีน หรือ ยากดประสาทกลุ่ม benzodiazepines..
อย่างที่สอง พอหยุดยาแล้วเกิดปวดขึ้นมาก็ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่น ขนาดต่ำๆไม่นานนัก ไม่งั้นเดี๋ยวติดยาตัวใหม่อีก
อย่างที่สาม ใช้วิธีอื่นด้วยเช่นใช้ยากันชักป้องกันไมเกรนในกรณีปวดบ่อยๆ ออกกำลังกาย ฝึกสมาธิ นอนให้พอ

สุดท้ายหมอควรเข้าใจอาการปวดของคนไข้ และคนไข้ก็ควรจะเชื่อฟังการปรับยาของหมอครับ โรคนี้จะหายได้ต้องปรบมือสองข้างพร้อมกันครับ

เครดิตภาพ au.lifestyle.yahoo.com

ที่มา *BMJ. 2010;340:c1305
* lancet neurol 2004;3:475
* MOH ใน maximizing medical-care efficiency อ.อนันต์ ศรีเกียรติขจร จุฬาฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม