27 กุมภาพันธ์ 2559

การวินิจฉัยเบาหวาน

การวินิจฉัยเบาหวาน

เบาหวานต้องวินิจฉัยโดยมีผลเลือดเสมอ ผู้ป่วยหลายๆคนมาปรึกษาผมโดยเอาผลเลือดหนึ่งแผ่นมาด้วย แต่คงวินิจฉัยได้ยาก วันนี้จึงอยากมาเล่าการตรวจเลือดเพื่อการวินิจฉัยเบาหวานครับ ตามเกณฑ์ที่เราใช้กันทุกวัน ADA guideline 2016
การตรวจวินิจฉัยเบาหวานต้องทำตามเกณฑ์ที่ถูกต้องนะครับ เพราะผู้ป่วยต้องรักษาไปตลอดชีวิต การตรวจนั้นมีหลายแบบตามความสะดวก ตามความน่าจะเป็นตามอาการที่พบ เราใช้การตรวจ 4 อย่างเพื่อวินิจฉัยครับ

1. การตรวจเลือดขณะที่งดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง พอดื่มน้ำได้บ้างนะครับ ในคำแนะนำเขียนว่า งดพลังงาน 8 ชั่วโมง แล้วมาเจาะเลือด ใช้เจาะปลายนิ้วไม่ได้นะครับ ถือเอาค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

2. ถ้ามีอาการของเบาหวานชัดเจน เช่น กินจุ หิวน้ำมากๆ น้ำหนักลด ปัสสาวะบ่อย ความเสี่ยงชัดเจน ก็เจาะเลือดตรวจเวลาใดก็ได้ ถือเอาค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

3. ใช้การทดสอบให้ดื่มน้ำตาลกลูโคส 75 กรัมละลายน้ำ แล้วรอสองชั่วโมงหลังจากนั้นก็เจาะเลือดติดตาม ถือเอาค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเป็นเกณฑ์ ซึ่งมักทำต่อเนื่องกับการทดสอบในข้อหนึ่ง
ขั้นตอนนี้จะคล้ายๆกับการวินิจฉัยเบาหวานจากการตั้งครรภ์ โดยทำการทดสอบในข้อหนึ่งและข้อสาม และเพิ่มการตรวจเลือดที่ชั่วโมงที่หนึ่งหลังกินน้ำตาลด้วย เป็นเจาะก่อนกินน้ำตาลหนึ่งครั้ง ให้กินน้ำตาล หลังจากนั้นอย่าเพิ่งกินอะไรรอเจาะเลือดอีกครั้งอีกหนึ่งชั่วโมงและสองชั่วโมง โดยใช้ค่าน้ำตาลที่มากกว่า 92,180,153 ตามลำดับเวลา ค่าใดค่าหนึ่งก็ได้ (HAPO study)

4. ใช้การตรวจค่า HbA1c ที่เป็นน้ำตาลอิ่มตัวที่เกาะกับเม็ดเลือดแดง บอกเป็นค่าเฉลี่ยของน้ำตาลตลอดช่วง 8-10 สัปดาห์ที่ผ่านมา ค่าน้ำตาลตัวนี้ไม่แปรปรวนในช่วงเวลาต่างๆของวัน เจาะเลือดเวลาใดก็ได้ แต่ต้องระมัดระวังการแปลผลในคนที่โลหิตจางด้วยครับ และห้ามใช้อุปกรณ์การวัด HbA1c จากปลายนิ้ว ให้ใช้การเจาะเลือดจากหลอดเลือดไปทดสอบโดยวิธีที่ได้มาตรฐานและการรับรองจาก องค์กร NGSP , www.ngsp.org โดยใช้ค่าที่มากกว่าหรือเท่ากับ 6.5% เป็นเกณฑ์ครับ

ไม่ว่าใช้การทดสอบใด ก็จะต้องทดสอบโดยวิธีเดียวกันสองครั้ง ต้องเกินเกณฑ์ทั้งสองครั้ง ในกรณีเกินแค่อันเดียวอาจนัดมาทดสอบซ้ำในอีกสามเดือนถัดไป ครับ และถ้าปกติดีแต่ยังมีความเสี่ยงเช่นมีพ่อแม่พี่น้องเป็นเบาหวาน อ้วนมาก เคยคลอดบุตรน้ำหนักตัวมาก หรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดต่างๆ ก็ควรตรวจซ้ำทุกสามปีครับ

การรักษาโรคให้หาย ป้องกันโรคได้ดี ต้องมาจากการวินิจฉัยที่ถูกต้องแม่นยำก่อนนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม