18 สิงหาคม 2558

เครื่องช่วยหายใจ ventilator

  ท่านเคยได้ยินเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจและการช่วยหายใจมาแบบใดบ้าง-- หลายๆท่านอาจเคยได้ยินว่ามันทรมานหรือทำเมื่อผู้ป่วยแย่ หรือ ค่าใช้จ่ายสูงแต่สุดท้ายก็ไม่หายอยู่ดี แต่ว่าในยุคสมัยนี้การใช้เครื่องช่วยหายใจมีแนวคิดที่เปลี่ยนแปลงไป และเทคนิคการใช้ก็เปลี่ยนแปลงไปใช้มากให้ปลอดภัย และสบายกับผู้ป่วยมากขึ้นครับ จะขอกล่าวถึงเครื่องช่วยหายใจสองแบบ เป็นแบบที่ผมแบ่งเองครับคิดว่าท่านๆน่าจะเข้าใจได้ง่ายครับ

  แบบที่หนึ่ง คือแบบไม่ต้องใส่ท่อเข้าไปที่หลอดลม เรียกแบบ noninvasive ครับ ก็จะใช้หน้ากากขนาดกระชับกับใบหน้า ทั้งแบบครอบปากและจมูก (fullface mask) หรือแบบครอบจมูก (nasal mask) แล้วใช้สายรัดกับศีรษะใช้กระชับ ไม่มีลมรั่วตามร่องแก้ม เพื่อให้เครื่องช่วยเป่าลมเข้าไป ช่วยให้ผู้ป่วยหายใจได้ดีขึ้น ตามอัตราที่อายุรแพทย์ตั้งเครื่องเอาไว้
   ความสำคัญอยู่ที่ว่า ต้องใช้เครื่องช่วยในขณะที่ผู้ป่วยยังไม่แย่มาก พอที่จะใช้แรงตัวเองให้ผสานกับเครื่องได้ เพื่อจะได้ไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจซึ่งทรมานกว่า ดังนั้นฝากไปถึงน้องๆหมอนะครับ เราควรใส่เครื่องนี้ให้ผู้ป่วยตั้งแต่เนิ่นๆ หรือท่าจะให้ดีก็ใส่ที่ห้องฉุกเฉินเลย ถ้ารอให้แย่ก่อนแล้วตัดสินใจใส่จะไม่ค่อยสำเร็จครับ ..ข้อบ่งใช้จริงๆคือผู้ป่วยโรคถุงลมโป่งพองที่อาการกำเริบเฉียบพลันครับ แต่ปัจจุบันก็มีการประยุกต์ใช้ในโรคหอบหืดเฉียบพลัน โรคหัวใจวายน้ำท่วมปอด โรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ เอ่อโรคทางเดินหายใจอุดกั้นขณะหลับ (OSA) เป็นการใช้เครื่องนี้ ในระยะยาวที่บ้านนะครับ ไม่ได้เป็นการใช้ฉุกเฉินแต่หลักการก็เหมือนกัน เวลาท่านใช้เครื่องนี้ท่านจะถอดออกชั่วคราวเพื่อกินอาหารหรือพูดคุย อาบน้ำอาบท่า มีความสุขพอควรในการใช้เครื่องช่วยหายใจครับ

    แบบที่สอง คือต้องใช้ท่อหลอดลมคอและต่อกับเครื่องครับ การใส่ท่อนี้จะทรมานและมีผลข้างเคียงสูงคือ ติดเชื้อที่ปอดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ และคอหอยมีพังผืดและตีบแคบจากการใช้เครื่องช่วยหายใจนานๆครับ การใส่ท่อและการช่วยหายใจแบบนี้ แน่นอนว่าคงจะลำบากกว่าแบบแรกแต่ถ้าจำเป็นตามข้อบ่งชี้ หรือในที่ที่ไม่มีหน้ากากครอบ ก็คงต้องใช้ครับ
   แต่ปัจจุบันเราก็ได้พัฒนาโปรแกรมที่ใช้กับเครื่องช่วยหายใจให้สะดวกกับผู้ใช้ และสบายกับผู้ป่วยมากขึ้น เช่นโปรแกรม ASV, Intelligent ASV ที่คำนวณความต้องการช่วยและช่วยตามความต้องการ ของผู้ป่วยครับ ก็จะเห็นว่าผู้ป่วยที่ใช้เครื่องแบบนี้ก็จะสบาย ไม่ดิ้นไม่หอบไม่ไอต้านเครื่องมากนัก เรียกว่าเป็นการ "ช่วยหายใจ"ไม่ได้เป็นการ"สั่งให้หายใจ"เหมือนแต่ก่อนครับ ทำให้ถอดเครื่องได้เร็วขึ้นครับ เช่นกันครับ ก็ควรใส่ในเวลาที่เหมาะสมเช่นกัน ปล่อยให้แย่เกินไปก็อาจแก้ไม่ทัน แต่พิเศษกว่าแบบแรกคือถ้าใส่เร็วมากเกินไปก็อาจมีผลข้างเคียงมากครับ

อยากจะเปลี่ยนความคิดของหมอทุกท่านและผู้อ่านทุกท่านว่าการใส่เครื่องช่วยหายใจไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย ถ้าเราใช้ให้ ‎ถูกต้องและถูกเวลา‬ และติดตามอย่างใกล้ชิดครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม