04 สิงหาคม 2559

ยาลดกรดยูริก fabuxostat

ยาลดกรดยูริก fabuxostat

ติดกันมาตั้งแต่ครั้งก่อน เรื่องเก๊าต์ กับยาลดกรดยูริกในเลือด allopurinol เนื่องจากยาตัวนี้มีข้อจำกัดหลายประการและมียาตัวใหม่ที่เข้ามาแทนตรงนี้ได้ คือ Febuxostat เอามารู้จักเรื่องนี้กันหน่อย

ในผู้ป่วยที่มีปัญหากรดยูริกในเลือดสูงหลักๆคือโรคเก๊าต์และภาวะมะเร็งสลายตัว โรคเก๊าต์คือผลึกกรดยูริกไปตกตะกอนในข้อ ทำให้ข้ออักเสบก็ตรงไปตรงมาดีนะครับ กรดยูริกสูงจะสัมพันธ์กับการเกิดเก๊าต์ แต่การเกิดเก๊าต์กำเริบทุกครั่งไม่จำเป็นต้องเกิดจากกรดยูริกสูงเสมอไป ในผู้ป่วยเก๊าต์จะนิยมลดกรดยูริกในเลือดให้ต่ำกว่า 7 ส่วนผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด ซึ่งปริมาณเซลมะเร็งมากมาย เวลาได้รับยาเคมีบำบัด..ตู้มมมม..เซลตายพร้อมกันหมด ชิ้นส่วนของเซลที่เรียกว่า พิวรีน จะออกมามากมายและเจ้าพิวรีนตรงนี้จะถูกกำจัดไปเป็นยูริก เพื่อกำจัดออกจากร่างกายต่อไป เมื่อพิวรีนมาก ยูริกก็มากด้วย
ในคนที่จำเป็นต้องลดยูริก ก็จะใช้ยาที่ลดการสร้างยูริก คือ ยับยั้งการเปลี่ยนสารพิวรีนไปเป็นยูริก หรือ เพิ่มการขับยูริกทางไต เจ้ายาที่เพิ่มการขับยูริกนี้ไตต้องดีและไม่เป็นนิ่ว ดังนั้น ยาลดการสร้างยูริกจึงได้รับความนิยมมากกว่า

ยา allopurinol นั้นเรียกว่าเป็นยาลดการสร้างยูริกยุคแรกๆ ตั้งแต่ปี 1952 ใช้ยาตลอด เป็นยาที่ดีและราคาถูก ลดกรดยูริกได้ดี แต่ทว่า...ตัวมันเอง คาดเดาผลการออกฤทธิ์ได้ยาก ต้องปรับขนาดยาโดยเฉพาะผู้ป่วยไตเสื่อม และที่สำคัญมากคือตัวยาทำให้เกิดปฎิกิริยาภูมิแพ้ได้ง่าย ทั้งแพ้ไม่รุนแรง ผื่น ไข้ ไปจนปานกลาง ตับไตอักเสบ ไปจนถึงรุนแรงที่สุดคือ แพ้แบบหนังลอกเหมือนไฟไหม้ เข้าตาเข้าปาก ที่เรียกกันว่า Stevens-Johnson syndrome หรือลุกลามจนหนังลอกมากๆที่เรียกว่า toxic epidermal necrosis ที่ใครๆเคยเจอจะขยาดไปอีกนาน
ที่สำคัญคือ การแพ้ยา allopurinol นั้นพบว่าสัมพันธ์กับการพบพันธุกรรม HLA B*5801 (homozygous or heterozygous for allele HLA B*5801) ซึ่งพบในคนไทยถึง 8-10% จริงๆมีคนจีนด้วยนะ มิน่าเขาบอกไทยจีนใช่อื่นไกลนะครับ ทัวร์จีนเลยชอบมาไทย พบว่าถ้ามีพันธุกรรมแบบนี้จะมีโอกาสแพ้มากกว่าคนปกติถึง 200 เท่าเป็นอย่างน้อย ทางองค์การอนามัยโลกไม่แนะนำการใช้ในคนไทย คนจีน ที่ตรวจพบ HLA B*5801 นี้นะครับ

บ้านเราก็ตรวจ HLA B*5801 ได้ง่ายๆนะครับ ประมาณ 1 สัปดาห์ ราคาไม่แพง ถ้าพบก็ไม่ควรใช้ แต่ถึงไม่พบก็ต้องสอนให้คนไข้รู้จักอาการแพ้นะครับ
อ้าวแล้วถ้าเกิด พบยีนนี้ขึ้นมาล่ะ....สมัยก่อนก็อาจต้องใช้ยาขับกรดยูริก ซึ่งต้องตรวจประเมินการขับกรดยูริกด้วยการตรวจปัสสาวะ 24 ชั่วโมง ว่าขับกรดยูริกได้ดีหรือไม่ ถ้าการขับกรดยูริกมากอยู่แล้ว ให้ไปอาจไม่เกิดประโยชน์ และ การทำงานของไตต้องดีพอ

febuxostat จึงเป็นยาเก่าที่เพิ่งเข้ามาใหม่ในเมืองไทย เข้ามาเพื่อตอบปัญหาเหล่านี้ มีการศึกษาทั้งการลดกรดยูริกในโรคเก๊าต์ และการป้องกัน tumor lysis syndrome ชื่อการศึกษา FLORENCE ตีพิมพ์ใน Ann Oncol 2015, oct 26th เทียบกับ allopurinol ในขนาดต่างๆกับ febuxostat ขนาด 120 มิลลิกรัมซึ่งเป็นขนาดสูง ปกติจะเริ่มที่ 40 มิลลิกรัม พบว่า สามารถคุมระดับกรดยูริกได้ดีกว่า allopurinol
โอกาสแพ้ยาน้อยกว่า allopurinol มากมาย อาจมีผลข้างเคียงคลื่นไส้อาเจียนเล็กน้อย ไข้ และห้ามใช้ร่วมกับยาเคมีบำบัด azathioprene และยาโรคหืด theophylline

จึงเป็นทางเลือกที่ดีในกรณีผู้ป่วยแพ้ยา allopurinol หรือผลการตรวจพบ HLA B*5801 แบบ homozygous or hertozygous ปัจจุบันเข้ามาจำหน่ายในประเทศ ด้วยราคาที่สูงกว่า allopurinol แบบฟ้ากับเหวลึกทีเดียว
pharmacogenomics เภสัชพันธุศาสตร์ เริ่มเข้ามามีบทบาทกับเราแล้วนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม