05 สิงหาคม 2559

การแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงจากยา allopurinol ทำนายได้โดยการตรวจยีน HLA-B*58:01

การแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงจากยา allopurinol ทำนายได้โดยการตรวจยีน HLA-B*58:01

ขอบคุณ อาจารย์ @Wichittra Tassaneeyakul ที่อนุญาต ให้นำข้อมูลจากงานวิจัยของอาจารย์มาลงเพจเพื่อเป็นประโยชน์กับทุกคนนะครับ เกี่ยวกับเรื่อง allopurinol และการแพ้ยา สัมพันธ์กับ HLA B*58:01 ผมจะทิ้งช่วงโพสต์เอาไว้หนึ่งวัน เพื่อไม่ให้โพสต์อื่นมาดันโพสต์นี้ลงไป ทุกคนเอาไปใช้เพื่อเกิดประโยชน์แก่คนไข้และสังคมได้ครับ
ในนามของสมาชิกเพจและผู้ป่วยที่จะได้รับอานิสงส์จากงานของอาจารย์ ผมขอขอบพระคุณอาจารย์จากใจจริงครับ

Allopurinol เป็นยาลดกรดยูริกที่นิยมใช้รักษาโรคเกาต์ (gout) หรือใช้ในผู้ป่วยที่ได้รับยาเคมีบำบัดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการที่เลือดมีระดับกรดยูริกสูง ยานี้เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด Stevens-Johnson syndrome (SJS), Toxic epidermal necrolysis (TEN) รวมทั้ง drug rash with eosinophilia and systemic symptoms (DRESS)/hypersensitivity syndrome (HSS)
ในราวปี 2005 Hung และคณะได้ศึกษาความสัมพันธ์ของลักษณะทางพันธุกรรมของยีน HLA กับการเกิดการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงจากการใช้ยา allopurinol ในผู้ป่วยชาวจีนไต้หวันเชื้อสายฮั่น โดยแบ่งเป็น SJS จำนวน 13 ราย, SJS/TEN overlap จำนวน 5 ราย, TEN จำนวน 3 ราย, DRESS จำนวน 30 ราย และผู้ป่วยที่ใช้ยา allopurinol แต่ไม่มีอาการแพ้จำนวน 135 ราย พบว่าผู้ป่วยที่เกิดการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงจาก allopurinol ทุกราย (ร้อยละ 100) มียีน HLA-B*5801 ในขณะที่มีเพียงร้อยละ 15 ของ ผู้ป่วยที่ใช้ยานี้แต่ไม่มีอาการแพ้ยา โดยผู้ที่มียีน HLA-B*58:01 จะมีความเสี่ยง (ค่า Odds ratio) ต่อการเกิด SJS/TEN จากการใช้ยา allopurinol สูงถึง 580 เท่า (1) นอกจากนี้จากรายงานการวิจัยผู้ป่วยชาวยุโรป พบว่ามีเพียงร้อยละ 55 ของผู้ป่วยที่เกิด SJS/TEN จากยา allopurinol ที่มียีน HLA-B*58:01 (55%) และผู้ป่วยชาวยุโรปที่มียีน HLA-B*58:01 มีความเสี่ยงต่อการเกิด SJS/TEN จากการใช้ยา allopurinol สูงถึง 80 เท่า (2) ในทำนองเดียวกันการศึกษาในประชากรญี่ปุ่นที่พบว่า มีผู้ป่วยที่เกิด SJS/TEN จาก allopurinol จำนวน 4 คน จากจำนวนทั้งหมด 10 คนที่มียีน HLA-B*58:01 และเมื่อเปรียบเทียบกับกับความชุกของยีนนี้ในประชากรทั่วไป (0.61%) พบว่าผู้ที่มียีนดังกล่าวจะมีความเสี่ยงต่อการเกิด SJS/TEN มากกว่าผู้ที่ไม่มียีนนี้ 40.83 เท่า (3)

สำหรับประชากรไทย ผู้เขียนและคณะได้รายงานการศึกษาในผู้ป่วยชาวไทย ที่เกิด SJS/TEN จากยา allopurinol จำนวน 27 ราย พบว่าผู้ป่วยทุกราย (ร้อยละ 100) มียีน HLA-B*58:01 แต่พบยีนนี้ในผู้ป่วยกลุ่มที่ไม่มีการแพ้ยาเพียง 7 ราย จากจำนวนทั้งหมด 54 ราย (ร้อยละ 12.96) และพบว่าผู้ป่วยที่มียีน HLA-B*58:01 มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาชนิด SJS/TEN จากยา allopurinol สูงกว่าผู้ที่ไม่มียีนนี้ถึง 384 เท่า (4) ปัจจุบันผู้เขียนและคณะได้รวบรวมข้อมูลและตับอย่างดีเอ็นเอของผู้ป่วยที่แพ้ยา allopurinol แบบ SJS/TEN/DRESS จำนวน 85 รายพบว่าร้อยละ 96.47 ของผู้ป่วยกลุ่มนี้มียีน HLA-B*58:01 ขณะที่พบยีนนี้ในผู้ป่วยกลุ่มควบคุมที่ไม่แพ้ยา เพียงร้อยละ 3.53 เท่านั้น เมื่อคำนวนค่าความเสี่ยง พบว่าผู้ป่วยที่มียีน HLA-B*58:01 มีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้ยาแบบรุนแรงจากการใช้ allopurinol ถึง 210 เท่า (ข้อมูลอยู่ในช่วงของการเตรียมตีพิมพ์)

ในปีค.ศ 2012 American College of Rheumatology ได้กำหนดแนวทางในการรักษาโรคเกาต์ (Guidelines for Management of Gout) โดยการแนะนำให้ตรวจ HLA-B*58:01 genotype ของผู้ป่วยก่อนการเริ่มยา โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่มีรายงานว่ามีความชุกของยีนนี้สูง และกลุ่มประชากรที่มีรายงานว่าความสัมพันธ์ระหว่างยีน HLA-B*58:01 กับการเกิดการแพ้ยานั้นมีค่าสูง เช่น ประชากรชาวจีนเชื้อสายฮั่น, ไทย และเกาหลี (โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะ Chronic kidney disease ร่วมด้วย) เป็นต้น (5)
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าการเกิด SJS/TEN จากการใช้ยา allopurinol มีความสัมพันธ์กับยีน HLA-B*58:01 สูงมาก และประมาณ ร้อยละ 12-17 ของประชากรไทยที่จะมียีนนี้ ดังนั้นยีน HLA-B*58:01 น่าจะมีประโยชน์ในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยชาวไทยที่มีความเสี่ยงที่จะแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงจากยา allopurinol
ค่าตรวจมีราคาตั้งแต่ 1,000 ถึง 2,500 บาทค่ะ ตรวจได้หลายที่ที่ภาควิชาเภสัชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มข หรือที่หน่วยการแพทย์เฉพาะบุคคล รพ. รามา หรือกรมวิทยาศาสตร์ ก็ตรวจได้ค่ะ
เจาะเลือดตอนไหนก็ได้ใส่หลอด EDTA ส่งมาตรวจได้ค่ะ ดูใน website หน่วยงานที่ตรวจได้เลยค่ะ
http://pharmacology.md.kku.ac.th/…/34/suda/phar_service.html

1. Hung SI, Chung WH, Liou LB, Chu CC, Lin M, Huang HP, et al. HLA-B*5801 allele as a genetic marker for severe cutaneous adverse reactions caused by allopurinol. Proc Natl Acad Sci U S A 2005; 102:4134-9.
2. Lonjou C, Borot N, Sekula P, Ledger N, Thomas L, Halevy S, et al. A European study of HLA-B in Stevens-Johnson syndrome and toxic epidermal necrolysis related to five high-risk drugs. Pharmacogenet Genomics 2008; 18:99-107.
3. Kaniwa N, Saito Y, Aihara M, Matsunaga K, Tohkin M, Kurose K, Sawada J, Furuya H, Takahashi Y, Muramatsu M, Kinoshita S, Abe M, Ikeda H, Kashiwagi M, Song Y, Ueta M, Sotozono C, Ikezawa Z, Hasegawa R. HLA-B locus in Japanese patients with anti-epileptics and allopurinol-related Stevens-Johnson syndrome and toxic epidermal necrolysis. Pharmacogenomics 2008; 9: 1617-22.

4.Tassaneeyakul W, Jantararoungtong T, Chen P, Lin PY, Tiamkao S, Khunarkornsiri U, Chucherd P, Konyoung P, Vannaprasaht S, Choonhakarn C, Pisuttimarn P, Sangviroon A. Strong association between HLA-B*5801 and allopurinol-induced Stevens-Johnson syndrome and toxic epidermal necrolysis in a Thai population. Pharmacogenet Genomics 2009; 19: 704-9.

5. Khanna D. 2012 American College of Rheumatology Guidelines for Management of Gout. Part 1: Systematic Nonpharmacologic and Pharmacologic Therapeutic Approaches to Hyperuricemia. Arthritis Care & Research2012;64:1431-46.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม