16 สิงหาคม 2559

10 ข้อเกี่ยวกับการตรวจประเมินโรคไตด้วยการตรวจโปรตีนในปัสสาวะ

10 ข้อเกี่ยวกับการตรวจประเมินโรคไตด้วยการตรวจโปรตีนในปัสสาวะ

1. การตรวจประเมินโปรตีนที่รั่วมาในปัสสาวะ ถือว่าเป็นการตรวจมาตรฐาน ที่ใช้ประเมินโรคไตเรื้อรังต่างๆ เป็นหนึ่งในเกณฑ์การวินิจฉัยโรคไตเสื่อมเรื้อรัง สามารถตรวจความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่ม ใช้ได้กับโรคไตหรือโรคอื่นที่มาเกี่ยวพันกับไต ที่ใช้บ่อยมากๆคือ โรคเบาหวาน เพื่อตรวจหาภาวะแทรกซ้อนทางไต

2. ตรวจประเมินนี้ สามารถประเมินการทำงานของไตได้ตั้งแต่เริ่มต้น ใช้ติดตามการรักษาได้อย่างดี เป็นการตรวจที่ปลอดภัย ทำได้ง่าย ราคาไม่แพง มีความน่าเชื่อถือ จึงเป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย และถ้าตรวจพบตั้งแต่ระยะต้น เราก็จะได้ให้มาตรการในการชะลอความเสื่อมของไตได้อย่างทันท่วงที

3. ผู้ที่ควรตรวจคือ ผู้ป่วยโรคไต ผู้ป่วยโรคอื่นๆที่อาจมีอาการแสดงทางไต เช่นโรคแพ้ภูมิตัวเอง SLE, โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี โรคติดเชื้อเอชไอวี และที่ถือว่าเป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ต้องทำคือ การตรวจคัดกรองในผู้ป่วยเบาหวานเพื่อติดตามภาวะไตเสื่อมอย่างน้อยๆปีละหนึ่งครั้ง

4. เดิมใช้การตรวจปัสสาวะโดยเก็บ 24 ชั่วโมงมาวัดปริมาณโปรตีน แต่วิธีนี้ยุ่งยาก ปัจจุบันใช้การตรวจปัสสาวะตอนเช้าเอามาจุ่มแถบทดสอบ เพื่อวัดระดับโปรตีนหรือจะเป็นแถบวัดอัลบูมินโดยเฉพาะ วิธีนี้ก็จะบอกเป็น normal ,trace , 1+, 2+ ... ง่ายและทำได้ทุกที่ วิธีที่ยุ่งยากมากขึ้นแต่ก็ยังง่ายกว่าเก็บปัสสาวะยี่สิบสี่ชั่วโมง คือการวัดสัดส่วน โปรตีนหรืออัลบูมิน ต่อสัดส่วนค่าครีอะตินีน วิธีนี้ให้ความแม่นยำพอๆกับการเก็บยี่สิบสี่ชั่วโมงเลย ครับ

5. ใช้ปัสสาวะแรกในตอนเช้าดีที่สุด แต่ถ้าไม่ได้จริงๆก็ไม่เป็นไร ไม่ได้ต่างกันมากนัก และใช้แถบจุ่มตรวจในการคัดกรองได้ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นโปรตีน หรือ แผ่นอัลบูมินก็ได้ ย้ำว่าคัดกรองคือยังไม่ทราบว่าเป็นโรคครับ ความไวใช้ได้ดี มีทุกที่ราคาถูก ผลออกมาเป็น กี่บวกๆ หรือปกติก็ตามแต่ ถ้าออกมาเป็นบวกและต้องการทราบปริมาณชัดเจนต้องใช้วิธีอื่น

6. วิธีวัดปริมาณ ก็ใช้กับการยืนยันว่า กี่บวกๆนั้นเท่าไรกันแน่ หรือในคนที่มีโรคไตอยู่แล้วให้มาตรวจโดยวัดเป็นปริมาณชัดๆจะดีกว่าครับ เราใช้การวัดปริมาณสารสองตัวในปัสสาวะมาเทียบสัดส่วนกัน คือ urine protein creatinine ratio, หรือ urine albumin creatinine ratio หน่วยเป็น มิลลิกรัมต่อหนึ่งกรัมครีอะตินีน

7. โดยทั่วไปในผู้ใหญ่แนะนำใช้ค่า UACR มากกว่า โดยเฉพาะการคัดกรองโรคไตในผู้ป่วยเบาหวาน ความดัน และโรคของ glomerulus การใช้ค่านี้จะสะดวก มีตัวแปรปรวนน้อยกว่า และเฉพาะเจาะจงมากกว่าค่า UPCR แต่ถ้าไม่มี UACR จะใช้ UPCR แทนก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด

8. ค่าของ UACR ที่นิยมใช้ในปัจจุบันคือ 30-300 mg/g ถ้ามากกว่า 300 ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงไตวายเรื้อรังมากขึ้น และใช้ค่านี้ติดตามการรักษาได้ ส่วน UPCR ปัจจุบันไม่นิยมใช้กันมากนักเพราะมีปัจจัยมาก่อกวนค่าให้ปรวนแปรอยู่บ่อยๆ ค่าก็ 150-500 ถ้ามากกว่า 500 ก็เริ่มเข้าสู่โรคไตที่อาจเกิดอันตรายรุนแรง วัดตัวใดก็ตัวหนึ่งนะครับ ไม่มีสูตรแปลงกลับไปกลับมา

9. ข้อจำกัดของ UACR ที่เด่นๆ เรื่องของตัวหาร creatinine ที่จะลดลงในสตรี และเพิ่มในผู้สูงวัย ค่าที่ได้จึงจะผิดจากที่ควรเป็นไปเล็กน้อย ภาวะโภชนาการและยา การติดเชื้อ เลือดปนในปัสสาวะก็อาจส่งผลต่อตัวตั้ง albumin ที่อาจทำให้ค่าแปรปรวนได้

10. อาร์เซนอล แพ้ ลิเวอร์พูล คาบ้านด้วยสกอร์ 3-4 ทั้งๆที่ยิงนำไปก่อน ด้วยรูปเกมอันดุดัน ทีมเวิร์กที่ดี ความสามารถอันเยี่ยมยอดของ คูตินโญ่ และ มาเน่ ทำให้ลิเวอร์พูลประกาศศักดา นัดแรกของฤดูกาลอย่างยิ่งใหญ่

ข้อมูลจาก NKF KDOQI guidelines 2002

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม