13 สิงหาคม 2559

แนวทางการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป (2)

แนวทางการตรวจสุขภาพสำหรับประชาชนทั่วไป (2)

ตอนที่สองของเรื่องราว แนวทางการตรวจสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ปี 2559
เผื่อใครยังไม่ได้อ่านตอนแรก ผมได้พูดถึงหลักการและเหตุผล ความน่าเชื่อถือ ของการตรวจสุขภาพและได้แถมลิงค์เอาไว้ให้ ใครยังไม่ได้โหลดให้โหลดนะครับ เอามาประกอบบทความนี้ ผมไม่ได้มาเล่าให้ฟังหรือแปลไทยเป็นไทยนะครับ ผมมาวิจารณ์ครับ

http://www.dmthai.org/news_and_knowledge/1777

เอกสารนี้จะมีการตรวจตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชราครับ เนื่องจากว่าเพจเราเป็นเพจอายุรแพทย์ ผมก็จะกล่าวถึงเฉพาะแนวทางของผู้ที่อายุ 18-59 และตั้งแต่ 60 คือผู้สูงวัยนั่นเองครับ ไม่ได้วิจารณ์ทุกตัวนะครับ เอาเฉพาะที่เป็นประเด็นและที่มีหลักฐานหนักแน่น เท่านั้นครับ มาดูข้อมูลในวัยทำงานก่อนนะครับ 18-59 ปี

การคัดกรองและถามคำถามสุขภาพคร่าวๆ เป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้วเพื่อคัดหาประเด็นผิดปกติ ทั้งเรื่องอาหารการกิน การออกกำลังกาย เหล้า บุหรี่ เพศสัมพันธ์ วัคซีน อันนี้จะเน้นวัคซีน บาดทะยัก-คอตีบ ควรฉีดถ้าไม่เคยฉีดหรือเกิน 10 ปีแล้ว การทำการทดสอบ audit เรื่องการติดเหล้า หรือ Fagerstrom เพื่อตรวจการติดบุหรี่ ทำเมื่อการคัดกรองเจอว่าเสี่ยงเป็นโรคครับ การตรวจร่างกายนั้น แนะนำอยู่หลายระดับ ที่ชัดเจนคือเรื่องการวัดความดันโลหิต เพราะนี่คือฆาตกรเงียบจริงๆครับ ถ้าไม่วัดไม่รู้ อันนี้ตรงกันทั้งโลกเลย อีกอย่างที่มีคำแนะนำชัดเจนคือ การตรวจเต้านมโดยบุคลากรทางการแพทย์ อายุ 30-39 ตรวจสองปีครั้ง เกิน 40 ตรวจทุกปี ข้อมูลทั่วโลกออกมาตรงกันว่า การตรวจเต้านมด้วยตัวเองนั้นมีความไวต่ำมากครับ ย้ำว่านี่คือภาพรวมนะครับ ในแต่ละรายถ้ามีประสบการณ์หรือคลำเป็นก็จะแม่นยำพอใช้ และมีความต่างจากประเทศอเมริกาและยุโรป ที่เขาเห็นว่าแม้กระทั่งมือแพทย์ก็ไม่ได้ไวไปกว่ามือคนไข้ และแนะนำการใช้ mammogram มากกว่าตรวจคัดกรองด้วยมือ http://www.cancer.org/…/breast-cancer-early-detection-acs-r…
ซึ่งก็ขอย้ำครับว่า ตรวจในคนปกตินะ ไม่มีก้อน ถ้าคลำก้อนได้แล้วก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปเลย ไปเจาะหรือตัดได้เลย

การตรวจอีกสองอย่างคือ การตรวจ Pap Smear หามะเร็งปากมดลูก ตั้งแต่สามสิบเริ่มทำได้เลย ถ้าอายุเกิน 65 และตรวจปกติมาต่อกันสามครั้งก็เลิกตรวจได้ ในความเห็นส่วนตัว ผมเห็นว่านี้ล่ะเป็นการตรวจที่สำคัญและต้องทำ แม้จะได้รับ วัคซีนมะเร็งปากมดลูกก็ตาม และการตรวจฟันสุขภาพช่องปากก็ทำทุกปี

การตรวจทางห้องแล็บที่สำคัญ คือ การตรวจระดับไขมันในเลือด การตรวจคัดกรองเลือดในอุจจาระสำหรับมะเร็งลำไส้ใหญ่ สองอันนี้มีการศึกษารับรองมากครับ ในส่วนของไขมัน..ที่เราเคยเถียงกันว่าต้องงดอาหารไหม ก็ไม่ต้องงดนะครับ ที่แนะนำให้ตรวจเพราะอุบัติการณ์โรคหลอดเลือดตีบจากไขมันเพิ่มขึ้นมาก และเรามีการจัดกลุ่มคนไข้ตามความเสี่ยงที่ดีและยากลุ่ม Statins ที่ลดความเสี่ยงได้มหาศาล ลดภาระการรักษาได้มากลดอัตราตายได้มาก และคนเหล่านี้ก็จะได้ไปสร้างประโยชน์แก่มนุษยชาติต่อไป แนะนำตรวจ total cholesterol และ HDL แต่ในความเห็นของผมในการตรวจคัดกรองครั้งแรกนั้น ควรตรวจให้ครบครับทั้ง triglyceride และ LDL ด้วย เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ตรวจทุกๆ 5 ปี เมื่อได้ค่าอย่าลืมไปเข้าสูตรตาราง thai cv risk หรือ ASCVD risk นะครับ

แล็บที่สองคือ การตรวจ fecal occult blood test ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่จะเริ่มตั้งแต่ 50 ปี ตรวจทุกปี เว้นคนที่มีประวัติมะเร็งในครอบครัวนั่นเป็นอีกกลุ่มครับ การตรวจแบบนี้ราคาไม่แพง คัดกรองได้ดีเมื่อพบแล้วต้องไปตรวจโดยวิธีที่จำเพาะต่อไป ผมขอเพิ่มส่วนตัวนะครับตรวจทุกปีนี่ มันยุ่งยากและไม่จูงใจเลย ผมสนับสนุนการทำ CT colonoscope ทุก 5 ปีหรือ การทำ colonoscope ทุก 10 ปี ไปจนอายุ 75 ปีจะดีกว่าครับ

แล็บที่สาม ตรวจเบาหวาน แนะนำตั้งแต่อายุ 35 ปี คัดกรองทุกห้าปี ยกเว้นมีอาการหรือประวัติครอบครัว ถึงแม้ระดับคำแนะนำจะเป็นแค่ case series แต่ผมว่าการตรวจไม่แพงและสามารถตรวจเบาหวานได้ในระยะต้น สามารถรักษาได้ง่ายกว่ากลุ่มที่เป็นเบาหวานมานานๆ จากผลการศึกษาเบาหวานทุกตัวกล่าวเช่นนั้นครับ สมควรทำครับ
ส่วนการตรวจที่เหลือ จะทำหรือไม่ทำก็คงบอกความแตกต่างได้ยากเพราะผลการศึกษาไม่มากครับ ผมคัดเอามาแต่ที่ได้ประโยชน์ชัดครับ ใครอยากตรวจมากกว่านี้ก็ได้แต่ว่าต้องระมัดระวังในการแปลผลมากๆนะครับ ยิ่งตรวจมากจะยิ่ง..สับสน

สำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปี นี่เป็นกลุ่มที่มักจะมาตรวจสุขภาพกันมากเลย ลูกหลานเป็นห่วงครับ แต่ว่าอยากให้พิจารณาดูก่อนว่ามีโรคเดิมอยู่หรือไม่ #ถ้ามีโรคเดิมอยู่บางทีการตรวจก็ไม่ได้ข้อมูลมากกว่าเดิม หรือบางครั้งอาจสับสนเพราะค่าที่ใช้ตรวจอาจคนละค่ากับที่ใช้ติดตามผล และทุกครั้งกับการตรวจผู้สูงวัยอาจต้องคิดล่วงหน้าไปก่อนนิดนึงว่า ถ้าตรวจเจอแล้วจะทำอะไรต่อ หลายๆครั้งพอตรวจพบก็แล้วต้องทำอะไรต่อไปก็มักจะได้คำตอบที่ว่า แก่แล้วถึงเจอก็ไม่ทำอะไร อันนี้ คุณค่าการตรวจจะลดลงครับ

กลุ่มผู้สูงวัยจะมีแบบคัดกรองภาวะที่เป็นแบบสอบถามมากขึ้นครับ อันได้แก่ แบบประเมินโภชนาการ(MNA) แบบคัดกรองกระดูกพรุน (OSTA) แบบคัดกรองโรคซึมเศร้า (2Q หรือ PHQ9) แบบประเมินสมอง IQCODE แบบประเมินมากมาย คือจะเน้นเรื่องการทำงานมากกว่าตัวโครงสร้างร่างกายที่เสื่อมอยู่แล้ว ถ้าผลการคัดกรองออกมาว่าเป็นบวก ก็อย่าเพิ่งผลีผลามสรุปว่าเป็นโรคนะครับ ต้องทำการทดสอบที่เฉพาะกับภาวะต่างๆเพิ่มเติม การคัดกรองจะใช้วิธีที่ไวมากๆต่อโรคครับ เรียกว่าถ้าผลออกมาเป็นลบ โอกาสเป็นโรคก็ต่ำมากครับ
การตรวจร่างกายและการตรวจแล็บก็จะเหมือนกลุ่มคนวัยทำงานครับ คือทำได้ทุกตัวนั่นแหละ แต่ที่มีประโยชน์มากๆมีผลการศึกษาชัดเจนก็อย่างที่อธิบายไปในเรื่อง 18-59

และต่อไปนี้คือการตรวจที่ไม่แนะนำอีกต่อไป..หลักฐานมากมายก็การคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากนะครับ เลิกทำได้ และการใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์ปอดตรวจคัดกรองหาโรคใดๆก็ตาม เลิกทำได้ครับ ขนาดใช้เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ยังไม่ไวเลย
ส่วนการตรวจคัดกรองเหล่านี้ก็ควรเลิกครับ การตรวจระดับยูริก การตรวจเอ็นไซม์ตับ การตรวจคัดกรองไตโดยใช้ค่า BUN การตรวจคัดกรองค่า triglyceride
การตรวจไตรกลีเซอไรด์นี้ ส่วนตัวเห็นแย้งเล็กน้อย ผมคิดว่าควรตรวจประเมินในครั้งแรกครับ หลังจากนั่นถ้าไม่ผิดปกติก็ไม่ต้องตรวจต่อไป ความจริงคือไตรกลีเซอไรด์ก็มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดนะครับเพียงแต่ว่าการลดไตรกลีเซอไรด์มันไม่ได้ทำให้โรคหัวใจและหลอดเลือดดีขึ้นมากมาย ไม่เหมือนกับการลด LDL ครับ (best benefit in high TG level and low HDL level)

สรุป สองตอนแบบนี้นะครับ ใครใคร่อ่านฉบับเต็มก็โหลดเอานะ
ผมคิดว่าเนื้อหาที่เขียนของผมมันยากและยังมีการอธิบายแบบทดสอบคัดกรองอีก...เลยมีความคิดว่าจะลอง..#LIVE#.. อธิบาย แบบการทดสอบคัดกรองและตอบคำถาม ไม่รู้ว่าจะมีคนอยากฟังไหมน่ะสิครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม