25 กันยายน 2558

ความดันโลหิตสูง silent killer

ความดันโลหิตสูง silent killer

ความดันโลหิตสูง เป็นฆาตกรเงียบตัวจริงเสียงจริงครับ จับตัวยากด้วย เราจะมาทำความเข้าใจการวินิจฉัยโรคความดันโลหิตสูงอย่างง่ายๆแต่ครบถ้วนกันครับ
ถามอย่างแรกความดันโลหิตสูงมีอาการไหม...คำตอบคือไม่มีครับ .. เป็นโรคทางอายุรศาสตร์ที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้จากประวัติ ต้องอาศัยการวัดค่าความดันโลหิตเท่านั้น บางท่านคิดว่าความดันขึ้นทำให้ปวดหัว ความเป็นจริงคือปวดหัวต่างหากที่ทำให้ความดันขึ้น ดังนั้นเราจึงมักจะพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงเวลาเขามาตรวจโรคอื่นหรือตรวจร่างกายครับ และที่สำคัญเวลาที่ท่านมาโรงพยาบาลด้วยสาเหตุใดๆ เช่น ปวดท้อง หกล้ม เป็นหวัด ภาวะตึงเครียดทางกายเหล่านี้ ทำให้เกิดความดันโลหิตสูงได้ ดังนั้นถ้าจะวินิจฉัยให้แม่นยำแล้วล่ะก็ ต้องวัดตอนที่ไม่มีการเจ็บไข้ได้ป่วยครับ
ความสำคัญที่สุดของการวินิจฉัย คือ วิธีวัดความดันที่ถูกต้องครับ อย่างแรกที่ต้องเน้นย้ำกันก่อนเลยคือ การวัดความดันในสถานพยาบาลนั้น ความดันโลหิตของท่านจะมีแนวโน้มสูงเนื่องจากความตึงเครียดหลายประการ เช่น หมอหล่อ พยาบาลดุ หาที่จอดรถไม่ได้ คิวรอตรวจยาวมาก เวลาท่านวัดแล้วสูง เขาจึงให้พัก 10-20 นาทีแล้ววัดซ้ำไงครับ ปรากฏการณ์นี่เรียกว่า white coat effect
ทางการแพทย์เราเชื่อความดันที่บ้านมากกว่าครับ ไม่ว่าจะติดเครื่องวัด 24 ชั่วโมง หรือวัดเป็นครั้งๆที่บ้าน แล้วมาดูค่าเฉลี่ย เราเรียก home blood pressure monitoring ปัจจุบันเครื่องดันความดันใช้ง่ายเป็นแบบอัตโนมัติ สอดแขนแล้วกดปุ่ม อ่านค่าได้เลย แต่ก็จะมีทริกเล็กน้อยดังนี้ครับ

1. ควรวัดความดันตอนตื่นนอน ก่อนลุกไปไหน
2. เลือกขนาดแถบวัดให้เหมาะ คือ กว้างอย่างน้อย สองในสาม หรือครึ่งหนึ่ง
ของความยาวต้นแขน
3. รัดให้พอดี ง่ายๆคือรัดแล้ว ยังสอดนิ้วลงไปได้หนึ่งนิ้ว
4. เครื่องจะอยู่ระดับใดก็ได้ แต่แถบรัดต้องอยู่แนวเดียวกับหัวใจ (ตัวอย่างง่ายๆ
ห้ามยกมือก่ายหน้าผากแล้ววัด)
5. ตรวจสอบความแม่นยำกับร้านที่ท่านไปซื้อมาทุกปี

เกณฑ์มาตรฐานทั่วไปคือค่าเกิน 140/90 เป็นโรคความดันโลหิตสูง บางแนวทางอาจใช้ตัวเลขที่ต่ำกว่านี้ถ้าเป็นค่าที่วัดจากที่บ้าน แต่ช่างมันเถอะครับ ให้พวกแพทย์ประจำบ้านเขาจำไปสอบเท่านั้น เอาค่า140/90 นี่หล่ะครับ เมื่อวินิจฉัยได้แล้วสิ่งสำคัญอีกอย่างที่จะมาบอกวันนี้คือ จะต้องดูว่าความดันโลหิตสูงนั่นมีสาเหตุหรือไม่ กว่า 90% ความดันที่ตรวจเจอกันไม่มีสาเหตุที่ชัดเจนครับ เรียกว่า essential hypertension ก็ใช้การปรับชีวิต และใช้ยาเพื่อลดความดัน ลดความเสี่ยง

ที่ต้องหาคือ ความดันโลหิตสูงอันมีสาเหตุจากโรคอื่น เนื่องจากถ้ารักษาโรคต้นกำเนิดได้ทันเวลา ระดับความดันก็จะเป็นปกติแบบหายขาดครับ โรคพวกนี้มักจะมี "ข้อสังเกต" เช่น อายุน้อยๆ มีอาการผิดปกติของฮอร์โมนเช่น อ้วนเร็วๆ หญิงมีหนวดดก อาการของระบบประสาทอัตโนมัติเช่น เป็นลม หน้าแดงมาก เหงื่อออกจัดๆ หรืออาการทางไตเช่นปัสสาวะมีฟองปน หรือผลเลือดผิดปกติ เช่นค่าโปตัสเซียมในเลือดต่ำ เป็นต้น จะต้องหาข้อสังเกตของโรคกลุ่มนี้ทุกครั้ง เมื่อหาแล้วไม่พบ จึงเรียกได้ว่าเป็นโรคความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ และเข้าสู่กระบวนการรักษาความดันตามปกติครับ

ก่อนที่จะได้โรคความดันโลหิตสูงมาเป็นโรคประจำตัว...ต้องชัดเจนก่อนครับว่าใช่และถูกต้อง
รักและหวังดี จาก แอดมิน ณ แอนฟิลด์

ที่มา - NICE hypertension guideline 2012
- JNC 8
- thai hypertension guideline 2012

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม