น้ำในช่องท้องนั้นมีสาเหตุหลากหลายมากกว่าน้ำในช่องอก หรือในเยื่อหุ้มหัวใจมากนัก ตามตำรามีการแยกหลายอย่าง ตามผลการตรวจทางเคมีที่ตรวจพบ เช่น จากตับแข็ง จากการติดเชื้อในช่องท้อง จากแรงดันเลือดดำจากหัวใจสูง จากโรคไต เนโฟรติก จะบอกสาเหตุได้ ก็เช่นเคยครับต้องเจาะตรวจ ส่วนอาการของน้ำในช่องท้องจะไม่ซับซ้อนนะครับ เพราะน้ำมากท้องก็จะโป่งให้เห็นชัดเจน เคาะได้ระดับน้ำ หรือทำการตรวจอัลตร้าซาวนด์ก็จะเห็นน้ำชัดเจน
การเจาะตรวจน้ำในช่องท้องนั้นง่าย ไม่ซับซ้อน ผลข้างเคียงแทรกซ้อนน้อยมาก ไม่ต้องใช้เครื่องมือพิเศษ ยกเว้นน้ำน้อยมากหรือถูกขังไว้เฉพาะที่ อาจต้องใช้เครื่องอัลตร้าซาวนด์ช่วยนำทาง ส่วนมากเจาะในท่านอนหงาย ระดับประมาณเส้นรอบสะดือ ตัดกับขอบซิกส์แพค เมื่อใส่เข็มเจาะเข้าไปจนได้น้ำก็อาจแค่ดูดไปตรวจ 30 ซีซี หรือต่อสายระบายออกมาให้น้ำออกมาสัก 4-6 ลิตร และถ้าเอาออกมากกว่า 6 ลิตร จะต้องให้สารแอลบูมินทางหลอดเลือด เพื่อปัองกันความดันโลหิตต่ำ ไม่จำเป็นต้องใช้แรงดูดสุญญากาศเหมือนการเจาะปอดหรือเจาะใจ เพราะแรงดันในท้องสูงกว่าแรงดันอากาศข้างนอก น้ำจะไหลออกมาเอง ลมจะไม่รั่วกลับเข้าไป จึงมีความปลอดภัยสูงครับ
อันตรายที่อาจพบคือ ไปโดนหลอดเลือด หรือไปโดนอวัยวะภายในต่างๆ ทุกๆคนไม่ได้มีอวัยวะภายในตรงกันเป๊ะๆครับ จึงมีโอกาสที่จะเกิดได้ ถึงแม้ว่าตรวจสอบตำแหน่งอย่างดีแล้วก็ตาม
เช่นกันครับ ต้องเข้าใจว่าการเจาะท้องเป็นแค่การลดอาการแน่น และใช้เพื่อเป็นการวินิจฉัย ไม่ได้เป็นการรักษาที่สาเหตุแต่อย่างใดครับ ยิ่งเจาะบ่อยๆ ก็จะยิ่งมีโอกาสเกิดการติดเชื้อมากขึ้นครับ
ยังย้ำคำเดิมครับ เมื่อจำเป็นต้องทำ ผู้ป่วยก็ต้องได้รับการเจาะ และอาจต้องเผื่อใจถึงโอกาสผิดพลาด หมอเองก็ต้องเจาะและระมัดระวัง ไม่ให้เกิดข้อผิดพลาด เมื่อทราบใจเขาใจเรา การรักษาก็จะทรงประสิทธิภาพมากๆ และ โอกาสเข้าใจผิดพลาดก็จะน้อยลงครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น