11 กันยายน 2558

ความเข้าใจในการรักษาไวรัสตับอักเสบ

ความเข้าใจในการรักษาไวรัสตับอักเสบ

สุดสัปดาห์นี้ลองเปลี่ยนบรรยากาศการฟังจากอธิบาย มาเป็นการแก้ต่างกันบ้าง..ไม่ต้องงงครับ ว่าแก้ต่างให้ใคร แก้ต่างให้กับคนทั่วไปที่เข้าใจผิดหรือไม่รู้เกี่ยวกับการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซึ่งผมจะพูดโดยรวมทั้งตับอักเสบบี และตับอักเสบซี ครับ

อย่างแรก ต้องรักษาทุกคนไหม..หลายๆท่านก็อยู่ในภาวะนี้ คือ เจาะเลือดเจอเชื้อ ทำไมหมอไม่รักษา ทางการแพทย์เราเก็บข้อมูลจากการศึกษาทดลองเป็นร้อยๆ ก็พบว่ามีผู้ป่วยบางกลุ่มบางประเภทที่จะได้ประโยชน์จากการรักษา และกำหนดเป็นแนวทางเอาไว้ ง่ายๆคือ การติดเชื้อนั้นต้องเรื้อรัง และ มีการทำลายตับพอสมควร ก็จะวัดปริมาณเชื้อ ความสามารถของเชื้อในการขยายพันธุ์ การอักเสบของตับจากการตรวจอัลตร้าซาวด์ หรือการวัดความยืดหยุ่นของตับ การตรวจเลือดดูค่า ALT ปัจจัยหลักทั้งหลายนี้เป็นข้อตัดสินเบื้องต้นว่าควรรักษาหรือไม่ การตอบสนองดีไหม
ส่วนประเด็นปลีกย่อยอื่นๆ ก็มีนะครับ เช่น เป็นโรคร่วมด้วย อย่างเช่นเป็น HIV ผู้ป่วยที่ต้องรับยาเคมีบำบัดก็ต้องให้การักษาไวรัสตับอักเสบบีก่อน กรณีย่อยๆแบบนี้พิจารณาเป็นรายๆไป
เป็นคำตอบที่ว่าไม่จำเป็นต้องรักษาทุกรายแต่ติดตามทุกราย

อย่างที่สอง การใช้ยารักษา หลายๆท่านที่รักษาจะได้รับยาที่ต่างกัน ผลการรักษาและผลข้างเคียงก็จะต่างกัน ขึ้นกับปริมาณเชื้อ สายพันธุ์เชื้อ ภาวะการทำงานของตับ เป็นประเด็นที่เอามาคิดครับ เช่นถ้าอายุน้อย การอักเสบมาก ก็อาจเลือดใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอร์รอน แต่ถ้าอายุมาก ตับแข็งพอควรก็คงจะได้ยากิน ลามิวูดีน หรือ ทีโนโฟเวียร์ การเลือกยานี่สำคัญครับ เพราะจะเล็งแต่ประโยชน์แห่งการรักษาอย่างเดียวไม่ได้ เรื่องผลข้างเคียง โอกาสการดื้อยาในอนาคตเป็นสิ่งที่ต้องเอามาคิด
สิทธิการรักษามีผลไหม..มีแน่ๆครับ ถ้าท่านเป็น มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก เจ้าของเฟซบุ๊ก คงไม่ต้องกังวลเรื่องนี้ แต่การใช้ยาที่ราคาแพง อย่างการรักษาไวรัสซีที่ต้องใช้ยาฉีดอินเตอร์เฟอร์รอนร่วมกับยากิน ไรบาวาริน ก็ใช้เงินต่อเดือน 30000-40000 บาท รักษาหายแต่ไร่นาก็คงหายไปด้วย ทางสิทธิการรักษาจึงให้ผู้ป่วยทุกสิทธิเข้าถึงยาได้ จริงอยู่ว่าคงต้องมีกฎเกณฑ์ และคงไม่ได้ยาทุกตัว ( หมายถึง เรา เลือกเองไม่ได้ ) แต่ทางภาครัฐก็อาศัยข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์มาแล้วนะครับ ว่าการักษาแบบที่รัฐให้นั้น ไม่ด้อยมาตรฐาน มีประสิทธิภาพ

อย่างที่สาม บางทีไม่หายแต่หมอก็หยุดการรักษา เอ่ออ..จริงๆแล้วอาจแค่หยุดให้ยา แต่ไม่ได้หยุดรักษา โดยเฉพาะการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ที่ต้องใช้ยาราคาแพง และผลข้างเคียงสูง ไม่ว่าจะเป็นยาฉีด อินเตอร์เฟอร์รอน หรือ ยากินชนิดใหม่ sofosbuvir, boceprevir จะมีการติดตามผลที่ใกล้ชิดว่าใช้ยาแล้ว เชื้อโรคน้อยลงไหม ถ้ามีแนวโน้มไม่ลดลงหรือดื้อยา การศึกษาบอกว่าการรักษาต่อ ไม่เกิดประโยชน์ จึง เป็นผลต่อนโยบายว่าควรหยุดเพื่อไม่ให้สูญเสียงบประมาณด้วย
ประโยคที่ผ่านมาสำคัญนะครับ เราไม่ได้หยุดรักษาเพราะกลัวเปลืองอย่างเดียว แต่มันมาจากข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า การรักษาต่อไปจะไม่มีประโยชน์ต่างหาก

อย่างสุดท้าย (จริงๆแล้วมีหลายอย่างมากๆ แต่เอามาแต่เน้นๆ..เนื้อๆ..) ถ้าผมบอกว่า เรามีเกณฑ์การรักษา มียาที่ดี มีสตางค์จ่ายให้ เราทั้งหลายควรไปตรวจหาไวรัสกันไหม คำตอบเลยนะครับ ควรอย่างยิ่งครับ เพื่อจะได้เข้าสู่กระบวนการรักษาได้เร็ว หรือถ้าท่านยังไม่ถึงเกณฑ์การรักษา อย่างน้อยก็ได้ "เช็คสเตตัส" ของตัวเอง เนื่องจากสองโรคนี้ มันมีช่วงที่ไม่แสดงอาการ หรือที่นิยมเรียกว่า เป็นพาหะ พอเราไม่มีอาการ เราก็ไม่ระวังตัวเอง ไม่ป้องกันการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น --ทางเพศสัมพันธ์-- ไม่ระวัง เลยได้รับเชื้อมาเพิ่ม --ก็ทางเพศสัมพันธ์อีก--- ไม่ดูแลตัวเอง ดื่มเหล้า ทำลายตับ --แหม อันนี้ ไม่ต้องเป็นตับอักเสบมันก็ไม่ควรดื่มอยู่แล้ว---
คำถามที่ผมยกมาเขียนวันนี้ เป็นคำถามจริงที่ผู้ป่วยตั้งคำถามมา ทั้งเคสตัวเอง และที่ได้รับปรึกษามาครับ

ที่มาข้อมูล : แนวทางการรักษาตับอักเสบ ประเทศไทย 2015
: Sleisenger, GI textbook 10th ed

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม