08 กันยายน 2558

โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง

"โรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง" โรคที่ยังอยู่กับสังคมไทยอีกนาน ที่บอกแบบนี้เพราะว่า สาเหตุที่พบบ่อยมากๆ (จริงๆอยากเพิ่มไม้ยมกอีก 10 ไม้ แต่อย่าเลยส่งเสริมภาษาไทยดีกว่า) คือการสูบบุหรี่ครับ และคนไทยก็มีคนที่เป็นโรคนี้อีกมาก และรอคิวจะเป็นโรคนี้อีกมากเช่นกันครับ

แต่ก่อนเราชอบเรียกโรคนี้ว่าถุงลมโป่งพอง ซึ่งเป็นจริงแค่ครึ่งเดียว อีกครึ่งหนึ่งมันเป็นหลอดลมอักเสบเรื้อรังครับ รวมกันสองอันนี้ เรียกว่าหลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง มันจึงมีส่วนผสมทั้งหลอดลมอักเสบเรื้อรัง คือ ไอ มีเสมหะ หลอดลมตีบลง และมีส่วนผสมของถุงลมโป่งพองคือ พื้นที่แลกเปลี่ยนแก๊สลดลง เหนื่อยมากขึ้น ปอดขยับได้น้อย สุดท้ายอาการจะคล้ายๆ กับโรคหอบหืด และก็จะรักษาคล้ายๆกัน อ้าว...ถ้างั้นมันต่างกันอย่างไร

   โรคหอบหืดนั้น เวลากำเริบจะหนักมาก แต่ แล้วเมื่อหายจะกลับเหมือนเดิมเลย ( จริงๆแล้วก็ประมาณ 95-99%) ส่วนถุงลมโป่งพองจะมีความเสียหายถาวร ถึงแม้ช่วงปกติก็จะยังพบการตีบแคบของหลอดลมอยู่ตลอด
   โรคหอบหืดส่วนมากจะกำเริบโดยไม่มีสาเหตุ ส่วนโรคถุงลมโป่งพองนั้นส่วนมากจะกำเริบจากการติดเชื้อที่หลอดลมครับ
โรคหอบหืดเกิดจากปฏิกิริยาของร่างกายตอบสนองผิดปกติ ทำให้หลอดลมไวมากต่อการกระตุ้น และเรื้อรัง ส่วนโรคถุงลมโป่งพองจะเกิดจากการถูกกระตุ้นด้วยสารระคายเคืองเป็นเวลานาน ทำให้ไปกระตุ้นการอักเสบของหลอดลม ตัวกระตุ้นนั้นคือ ควันบุหรี่ ไอเสีย ใยหิน เป็นต้น
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเวลากำเริบก็หอบมาก หายใจมีเสียงวี้ดๆ จนถึงหายใจล้มเหลวได้เช่นกัน
 
แนวทางการวินิจฉัยโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังนั้น ในปัจจุบัน ต้องใช้ประวัติที่มีการสัมผัสสารกระตุ้นเรื้อรัง เช่นสูบบุหรี่ มีอาการเข้าได้ และ..และ ปัจจุบันตาม GOLD guidelinesที่เป็นมาตรฐานการรักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังทั่วโลก ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องทำการตรวจสมรรถภาพปอดว่าเข้าได้กับ หลอดลมอุดกั้นเรื้อรัง เอาละสิที่ผ่านมาเราไม่ค่อยได้ทำการทดสอบนี้เสียด้วย เพราะว่าเครื่องมือยังไม่แพร่หลาย และต้องการผู้ควบคุมที่มีประสบการณ์และผ่านการอบรมจากสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย

     การตรวจสมรรถภาพปอดนี้ ไม่ใช่การเป่าท่อสั้นๆที่เป็น peak flow นะครับ แต่มันจะเป็นเครื่องใหญ่ต่อกับคอมพิวเตอร์วัดทั้งแรงสูดและแรงเป่า วัดความจุปอด ค่าความเร็วลม รวมถึงมีการทดสอบใช้ยาพ่นขยายหลอดลมแล้วดูว่าตอบสนองต่อยาพ่นหรือไม่  ถ้ามีการตอบสนองดีก็ช่วยบอกว่าน่าจะเป็นหอบหืดมากกว่า ( FEV1/FVC < 70% , change in FEV1 or FVC lessthan 12% or 200 ml ) ในวงเล็บคือเกณฑ์ไม่ตอบสนองนะครับ

   แต่เนื่องจากเราไม่มีเครื่องวัดสมรรถภาพปอดทุกโรงพยาบาลดังนั้นการใช้อาการยังสามารถวินิจฉัยได้ดี มีการศึกษาทำในสวีเดนตีพิมพ์ในวารสาร respiratory medicine เดือนเมษายน ปี 2010 แสดงให้เห็นว่า ประมาณ หนึ่งในสามของผู้ป่วยเท่านั้นที่ได้รับการวินิจฉัยยืนยันจากการตรวจสมรรถภาพปอด แต่ก็สามารถรักษาได้ดีเหมือนเดิม แต่การตรวจยังจำเป็นเพื่อแยกโรคอื่นๆออกไปครับ ในความเห็นส่วนตัวของผม ถ้าทำได้ควรตรวจสมรรถภาพปอดทุกรายครับ 0แต่ถ้าทำไม่ได้จริงๆ ก็ไม่ได้เป็นข้อโต้แย้งว่าจะไม่รักษาโรคหลอดลมอุดกั้นเรื้อรังนี้ครับ


   ส่วนการรักษานั้นหลักๆเลยคือต้องเอาสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรคออกไปก่อน คือหยุดสูบบุหรี่ครับ อันนี้สำคัญมากๆ ถ้าไม่ทำไม่หาย การใช้ยาพ่นเป็นลำดับขั้นตอน ค่อยๆปรับขึ้นตามระยะของโรค ( ส่วนโรคหอบหืดเราจะให้ยามากๆก่อน แล้วค่อยปรับลดลงครับ ) เพื่อลดการกำเริบและ รักษาคุณภาพชีวิตที่ดี สังเกตว่าเป้าหมายการรักษาไม่ใช่ "หายขาด" นะครับ และต้องทำกายภาพบำบัดเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพปอดที่ดี วิธีแกว่งแขนที่ฮิตๆกัน ก็ใช้ได้นะครับ และต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปีครับ

มีทั้งวิชาการ และการประยุกต์ ค่อยๆเรียนกันไปนะครับ เป็นสาระที่เพลิดเพลิน ไม่เบื่อ และ ไม่สะเปะสะปะจนเกินไป ข้อมูลทั้งหมดมาจาก GOLD guidelines 2011 ครับ สามารถดาวน์โหลดตัวเอกสาร แผ่นพับ สื่อการสอนต่างๆได้ฟรีครับ ที่ www.goldcopd.org
พรุ่งนี้ครบรอบ สามเดือน ที่เปิดเพจมา แฟนเตรียมตัวนะครับ พรุ่งนี้เจอกัน
เครดิตภาพ www.globalasthmareport.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม