ผมลองเขียนอธิบายบทความทางการแพทย์ที่ตีพิมพ์ทุกสัปดาห์ ท่านที่อ่านเก่งอยู่แล้วก็ถือว่าฟังบทความใหม่ๆนะครับ ท่านที่ยังไม่เคยรู้จักก็จะรู้ว่ามันไม่ยากครับ
ผมสรุปมาจาก บทสรุปย่อ(abstract) ของวารสาร JAMA วารสารที่มีผลมากในทางการแพทย์ของโลก เอ่อ คือ ปีนี้ไม่ได้ต่ออายุสมาชิกน่ะครับ เลยไม่มีฉบับเต็ม รอผู้ใจดีมาออกทุนให้
เรื่องนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับการทดลองทางการแพทย์ การวิจัยและทดลองทางการแพทย์ ต้องมีคณะกรรมการจริยธรรม และทำตามข้อกำหนดของการทดลองในคนครับ เกี่ยวกับ การป้องกันการเกิดโรคหัวใจซ้ำในคนที่เคยเป็นโรคแล้ว ทำในโรงพยาบาลใหญ่ๆในออสเตรเลียครับ (ประมาณ โรงพยาบาลศูนย์)
ทางผู้วิจัยเขาสนใจว่าการป้องกันโรคนั้น ต้องอาศัย การติดตามและการกระตุ้นเตือนเป็นประจำจึงจะสำเร็จ จึงได้ทำการทดลองนำคนที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจแล้ว 710 คน ---การกำหนดตัวเลขตัวอย่างนี้ เป็นการคำนวณนะครับ ไม่ได้อยากได้เท่าไร ก็กำหนดเอง--- มาแบ่งกลุ่มแบบสุ่มออกเป็นสองกลุ่ม ( กลุ่มทดลอง 352 คน และ กลุ่มควบคุม 358 คน) กลุ่มควบคุมก็ดูแลกันตามปกติ ให้คำแนะนำ กินยา นัดติดตาม ส่วนกลุ่มทดลองนั้น เขาใช้การส่งข้อความไปเตือนทางมือถือทุกวัน จำนวน 4 ข้อความต่อสัปดาห์ เป็นเวลาทั้งสิ้น หกเดือน เป็นข้อความที่เกี่ยวกับการปฏิบัติตัวตามความเสี่ยงของคนๆนั้น เก็บข้อมูลกันสองปี
สิ่งที่ผู้วิจัยเขาเทียบสองกลุ่มว่าแตกต่างกันไหม คือ ระดับไขมัน LDL, ค่าความดันโลหิต ค่าดัชนีมวลกาย การออกกำลังกาย และ การสูบบุหรี่ โดยเป้าหมายหลัก (primary endpoint) คือ ค่า LDL ก็พบว่า กลุ่มที่ได้รับข้อความจะมีค่าไขมันต่ำกว่า เฉลี่ยที่ 5, ค่าความดันต่ำกว่า เฉลี่ยที่ ลดลง 7.6 ค่าอื่นๆก็ลดลงหมด ที่สำคัญคือได้ใช้การคำนวณทางสถิติแล้วว่า ความแตกต่างของทั้งสองกลุ่มนั้น แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ คือ ต่างกันจริงนะ ไม่บังเอิญ และ ยังวิเคราะห์ด้วยว่า การใช้ข้อความนั้น เข้าใจง่าย 97% ไม่เว่อร์ 86% เรียกได้ว่าส่งผลเปลี่ยนแปลงจริงๆในเชิงวิทยาศาสตร์ ถ้าเราจะเอาความจริงที่ได้จากการทดลองนี้ไปใช้ก็จะเรียกได้ว่าเป็น หลักฐานเชิงประจักษ์ครับ
ถามว่ามีผลจริงๆและเอามาใช้ได้ไหม ต้องเอามาวิเคราะห์อีกหลายขั้นตอน และอาจต้องวัดความสำเร็จจริงๆ ด้วย ไม่ใช่ว่า ค่านั่น ค่านี่ ลดลงจริงๆ แต่ว่า อัตราการป่วยซ้ำ อัตราการตาย ไม่ได้ลดลง อันนี้อาจจะเอามาใช้ได้ยาก หรือ อาจเป็นแค่ปัจจัยเสริม ไม่ใช่ปัจจัยหลัก โหยย..ทำมาตั้งเยอะ..แอดมินบอกว่าอาจใช้ไม่ได้ คนทำมิเสียใจหรือ.. ก็เราว่าตามความจริงเชิงวิทยาศาสตร์ และความคิดวิเคราะห์ เพื่อไม่ให้เกิดการเชื่อข้อมูลง่ายๆ และ หลงคารมผู้ทำวิจัยที่มีผลประโยชน์แอบแฝงครับ (critical appraisal)
แต่ว่าส่วนตัวก็น่าจะมีประโยชน์นะครับ เพราะคนใช้มือถือ 5พันล้านคนทั้งโลก ถ้าได้ผลจริงๆแต่เปอร์เซนต์เดียวก็ตั้ง 50 ล้านคนแล้วครับ
ยากไหมครับ ไม่ยากนะ ส่วนซับซ้อนมากๆ อยากรู้ก็หลังไมค์ครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น