23 กันยายน 2558

น้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ


ต่อกันด้วยซีรี่ส์น้ำครับ คราวนี้คงไม่มีใครสับสนระหว่าง "น้ำใจ" กับ "น้ำในเยื่อหุ้มหัวใจ" เหมือนอย่างบทความที่แล้ว เอาล่ะ --- ก็มาหลับตาจินตนาการกันอีกครับ หัวใจบีบเลือดก็เหมือนลูกยางแดงดูดน้ำมูกเด็ก มีจังหวะดูดลมเข้าเป่าลมออก คล้ายหัวใจดูดเลือดเข้า ปั๊มเลือดออก แต่ถ้าเราบีบไม่ปล่อยก็เหมือนมีน้ำมากดเบียดไม่ปล่อย จะดูดเลือดเข้าก็ไม่ได้จะปั๊มเลือดออกก็ไม่ดี ทำให้เลือดไหลเวียนผิดปกติและเกิดอาการต่างๆ จากเลือดไปเลี้ยงไม่พอครับ

ผู้ป่วยที่มีน้ำมาขังเฉียบพลัน จะเจ็บอกรุนแรง ต้องนั่งโน้มตัวมาข้างหน้าจะดีขึ้น หายใจหอบ เหนื่อยมาก ความดันโลหิตต่ำลง ส่วนมากเกิดจากการอักเสบของเยื่อหุ้ม เช่นติดเชื้อไวรัส หรือ เลือดออกในเยื่อหุ้ม เช่นเป็นผลข้างเคียงหลังการสวนสายสวนหัวใจ หรือ อุบัติเหตุ ส่วนพวกที่เป็นเรื้อรังก็จะมีอาการเหนื่อยง่าย นอนหงายไม่ค่อยได้ จะสะสมน้ำเรื่อยๆ หัวใจพอปรับตัวได้จนน้ำมากจริงๆก็จะหอบครับ สาเหตุที่พบบ่อยๆคือ ติดเชื้อไวรัส วัณโรค มะเร็งแพร่กระจาย ไตวาย การตรวจร่างกายที่ผิดปกตินั้น ยกให้คุณหมอไปทบทวนเอาเองครับ pulsus paradoxus, distance heart sound, increase venous pressure

การวินิจฉัยยืนยันใช้การตรวจรังสีเอกซเรย์ทรวงอก และ การตรวจคลื่นความถี่สูงไม่ว่าจะเป็นอัลตร้าซาวนด์ หรือ การทำเอคโค่คาร์ดิโอแกรม (อืม คาร์ดิโอ คือ โรคหัวใจ คาร์ออดิโอ คือ เครื่องเสียงรถยนต์ ใกล้เคียงกันมาก ) ก็จะยืนยันการวินิจฉัยได้ย่างรวดเร็ว และการรักษาคงต้องเจาะใจเพื่อเอาน้ำไปวิเคราะห์ครับ
การเจาะแบบเร่งด่วน อันนี้ไว้ช่วยชีวิตเวลาน้ำมากๆ จนระบบหัวใจล้มเหลว คุณหมอบางท่านที่อยู่ในที่ที่ไม่มีอุปกรณ์มากมาย ก็สามารถทำได้ ท่านอาจจะตกใจเมื่อเห็นคุณหมออายุรกรรม หรือ หมอห้องฉุกเฉิน ใช้เข็มยาวๆจิ้มไปที่ปลายกระดูกสันอก ทะลุเข้าเยื่อหุ้ม โดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์พิเศษใดๆ แล้วดูดน้ำออกมามากที่สุด ขณะน้ำออกมาผู้ป่วยก็จะดีขึ้นแบบทันตาเห็นครับ ในที่ที่มีอุปกรณ์มากๆ เช่น ใช้อัลตร้าซาวนด์ นำทางเข็มไปในทิศทางที่แม่นยำ หรือใช้เอกซเรย์ดู ก็จะแม่นยำ ลดโอกาสที่จะไปโดนเส้นเลือดได้

ส่วนการเจาะระบายน้ำในกรณีไม่เร่งด่วน ก็มักจะใส่เข็ม ใส่ลวดตัวนำสาย แล้วใส่สายระบายขนาดประมาณหลอดดูดยาคูลท์ ตามสายลวดเข้าไปจนได้ตำแหน่งเหมาะสม แล้วถอดสายลวดออกเหลือแต่ท่อระบาย ต่อเข้ากับกระปุกสุญญากาศเพื่อดูดน้ำออก หรือบางหมอบางท่านก็ปรึกษาคุณหมอผ่าตัดเพื่อผ่าตัดระบายน้ำออกมา แต่จากผลการศึกษาหลายๆอันก็สรุปว่าการใส่สายระบายกับการผ่าตัดนั้น ผลการรักษาไม่ต่างกันมากนัก

ส่วนมากที่ทำการเจาะมักเป็นหัตถการช่วยชีวิต คือถ้าไม่เจาะก็จะอันตรายมาก เราจึงรับความเสี่ยงการเกิดผลข้างเคียงได้ ตอนแอดมินเจาะมากๆนั้น เคยมีนักเรียนแพทย์ถามว่า แหมถ้าเจาะเข้าหัวใจหล่ะ ทำอย่างไร ( คิดถึงเพลง แทงข้างหลังทะลุถึงหัวใจ ) ก็ไปค้นคว้ามาว่าไม่เป็นไร ถอดเข็มออกก็ไม่มีอันตราย ที่เสี่ยงจริงๆ คือมือแม่นมากๆเจาะโดนเส้นเลือดแดงที่วางตัวอยู่ที่ผนังหัวใจต่างหาก อันนี้ต้องผ่าด่วนครับ

เช่นเคยครับ บทความนี้ทำขึ้นเพื่อให้ท่านผู้อ่านทราบว่ามีการเจาะใจ ที่ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าจำเป็นก็ต้องทำ และ เพื่อให้แพทย์ได้ตระหนักว่า เมื่อจำเป็นก็ต้องทำเพื่อรักษาชีวิตผู้ป่วย สามารถทบทวนวิธีการเจาะที่ถูกต้องได้จาก
www.nejm.org ในหมวดวีดีโอหัตถการทางการแพทย์ครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม