21 กรกฎาคม 2558

H.pylori กับแผลในกระเพาะอาหาร

H.pylori กับแผลในกระเพาะอาหาร

เมื่อวานนี้งานยุ่งมากครับ และอีกอย่างใช้เวลาเพื่อเรียบเรียงข้อมูลนี้เนื่องจากอ่านมาจากหลายที่ เป็นเรื่องที่ยังเคยติดค้างท่านผู้อ่านเอาไว้นานแล้ว เนื่องจากข้อมูลเป็นเชิงประวัติศาสตร์ใช้เวลาในการค้นเล็กน้อยครับ นั่นคือเรื่องแผลในกระเพาะอาหารและเชื้อแบคทีเรีย Helicobactor pylori ครับ
ก่อนปีคศ.1980 มีความเข้าใจกันมาโดยตลอดว่าแผลในกระเพาะอาหาร (peptic ulcer) นั้นเกิดจากการกินอาหารเผ็ด การปล่อยให้ท้องว่าง กินอาหารไม่เป็นเวลา ดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งโดยสรุปก็คือเกิดความไม่สมดุลกันระหว่างกรดในกระเพาะอาหารและการปกป้องตัวเองจากกรด เป็นสาเหตุของการเกิดแผลและได้รักษาตามแนวทางนี้ตลอดมา

จนเมื่อปี 1980 นักวิทยาศาสตร์ชาวออสเตรเลียสองท่านคือ Barry Marshall และ Rubin Warren ได้ค้นพบเชื้อแบคทีเรียที่อยู่ในแผลกระเพาะ แต่การตรวจพบนี้ได้มาจากการตัดชิ้นเนื้อไม่แน่ใจว่าเป็นแบคทีเรียตัวที่ก่อโรคจริงหรือไม่ จนในช่วงเทศกาลอีสเตอร์ ท่านทั้งสองได้พบเชื้อแบคทีเรียที่โตขึ้นในจานเพาะเลี้ยงโดยบังเอิญ ค้นไปค้นมามันคือแบคทีเรียที่แยกได้จากชิ้นเนื้อในกระเพาะ และได้ศึกษายืนยันว่าเป็นแบคทีเรียตัวใหม่ ตัวก่อโรคจริงซึ่งก็คือ H.pylori (พอเพาะเชื้อได้ก็เลยเอาไปส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนครับ) ไม่ใช่เชื้อ campylobactor อย่างที่เคยคิดกัน
เจ้าแบคทีเรียตัวนี้มันมีความพิเศษหลายอย่างครับ อย่างแรกเลยคือมันมีเกราะป้องกันตัวเองจากกรด ในกระเพาะเรากรดรุนแรงมากนะครับแบคทีเรียอะไรก็ตายเรียบ เจ้านี่กลับมีเอนไซม์ urease ที่คอยทำให้รอบตัวมันไม่เป็นกรด จึงอยู่รอดได้ อาวุธอย่างที่สองของมันคือ มันมีหางแส้ (flagella) ที่ยาวและเคลื่อนที่ได้ดีมาก ตัวมันจึงทะลุทะลวงผ่านเยื่อเมือกที่คอยเคลือบกระเพาะ ไม่ให้กรดมากัดกระเพาะ และทะลุทะลวงลงไปถึงเยื่อบุกระเพาะที่มีสภาพความเป็นกรดไม่รุนแรง อาวุธชิ้นที่สามคือระบบนำร่อง GPS ที่ดีเลิศ มันสามารถพาตัวเองไปสู่บริเวณของกระเพาะอาหารที่ไม่ค่อยหลั่งกรดคือบริเวณ gastric antrum ทำให้ตัวมันอยู่ในที่ฮวงจุ้ยดี ออกลูกหลานมากมาย เกิดการอักเสบต่อเนื่องเรื้อรังจนเกิดเป็นแผลในกระเพาะอาหาร นำพาไปสู่การรักษาที่พลิกโฉมความเข้าใจโรคนี้อย่างสิ้นเชิงจากโรคไม่ติดเชื้อกลับกลายเป็นโรคติดเชื้อ‬ พาไปสู่การตรวจหาเชื้อ H.pylori เพื่อจะได้กำจัดให้หมดโดยวิธีตรวจหาเอนไซม์ urease จากชิ้นเนื้อที่ตัดจากการส่องกล้อง (CLO test : campylobactor-liked organism test) หรือการตรวจจากลมหายใจ(urease breath test) และใช้การรักษาโดยยาฆ่าเชื้อ amoxicillin และ clarithromycin ร่วมกับยาลดกรดในขนาดสูง (proton pump inhibitor) ที่เรียกว่า "triple therapy" ‬

แต่เส้นทางของนักวิทยาศาสตร์ทั้งสองท่านไม่ง่ายนัก หลังจากค้นพบแล้วเขาได้ไปนำเสนอ แต่ทางสมาคมโรคทางเดินอาหารของออสเตรเลียไม่ได้เห็นความสำคัญแต่อย่างใด ท่านจึงต้องส่งงานไปให้ทางวารสาร LANCET พิจารณาด้วยตัวเองและเดินทางไปทำโรดโชว์ตามที่ต่างๆ จนสุดท้ายก็ได้นับการยอมรับในงาน Campylobactor workshop ที่เมืองบรัสเซล ประเทศเบลเยี่ยม ในช่วงปี 1983 พร้อมกันกับปลายปีนั้นทางวารสาร LANCET ก็ได้ตีพิมพ์งานของท่านทั้งสอง ในปี 1984 หลังจากท่านทั้งสองเป็นที่ยอมรับ ทางสมาคมโรคทางเดินอาหารและรัฐบาลออสเตรเลียจึงให้การยอมรับและสนับสนุนทุนวิจัย (เหมือนประเทศสารขันธ์เลยครับ ไม่ส่งเสริมแต่จะเอาผลงานท่าเดียว) หลังจากนั้นจึงเกิดการวิจัยโรคนี้และH.pylori กันอย่างกว้างขวางทั้งในประเทศและทั่วโลก คุณ Marshall นี่ท่านลงทุนกินเชื้อเข้าไปแล้วทดลองกับตัวเองเลยนะครับ ดีนะที่หายดี จนปี 1990 ก็ได้กำเนิดการรักษาที่ทรงประสิทธิภาพมากคือการใช้ triple therapy อย่างที่กล่าวไปข้างต้น นำเสนอโดย Rauws และ Tytgat ในงาน world congress of Gastroenterology และในปี 1994 WHO ได้ประกาศให้แบคทีเรีย H.pylori เป็นสารก่อมะเร็งหลังจากที่พบความสัมพันธ์ชัดเจนในการเกิดโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองที่กระเพาะอาหาร (MALT lymphoma)

สุดท้ายในปี 2005--Barry Marshall และ Rubin Warren ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาและการแพทย์ เนื่องจากความสำเร็จในการค้นพบ H.pylori และเปลี่ยนการรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหารไปอย่างสิ้นเชิง
ครับ..ความรู้ทางการแพทย์นั้นสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ตลอด เมื่อมีข้อมูลที่น่าเชื่อถือมากกว่ามาหักล้างเหตุผลเดิม ไม่ได้เป็น "อกาลิโก" ดังนั้นบุคลากรทางการแพทย์จึงต้องตื่นตัวหาความรู้และทบทวนตัวเองอยู่ตลอดเวลานะครับ

 ด้วยความปรารถนาดีจาก "อายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม