28 กรกฎาคม 2558

ไตเสื่อมจากสารทึบรังสี

ไตเสื่อมจากสารทึบรังสี

   สนุกสนานตามกันนะครับ สำหรับอายุรศาสตร์ ง่ายนิดเดียว ในช่วงสัปดาห์นี้ แอดมินก็เมามันในการหาข้อมูล ทบทวน บอกต่อ ส่วนท่านผู้อ่านก็ติดตามกันตลอด บทความเมื่อวานคนอ่านเยอะมาก ไม่รู้ว่าผมเขียนดีหรือเจ้าหมอโอ๊ตมันหล่อกันแน่ เอาล่ะครับ ต่อจากเมื่อวานเลย คนไข้จากหน้าจอนั่นแหละครับ ผมต้องส่งเขาไปตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ที่มีการฉีดสารทึบรังสี จึงจะมาเล่าเรื่อง เจ้าสารทึบรังสีนี่อาจทำให้ไตเสื่อมได้ครับ (Contrast-induced Nephropathy)
    ปัจจุบันเราใช้สารทึบรังสีเพื่อช่วยในการวินิจฉัยโรคเพิ่มมากขึ้น ทั้งการถ่ายภาพรังสีเอกซเรย์ การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือด ซึ่งสารทึบรังสีนี้โดยโครงสร้างก็มีอันตรายต่อไตโดยจะไปทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง จึงเกิดภาวะไตบาดเจ็บเฉียบพลันได้ โดยทั่วไปใช้เกณฑ์การวินิจฉัยเมื่อค่าระดับครีอะตินีนในเลือดเพิ่มขึ้น 25% หรือ 0.5 เมื่อเทียบกับก่อนฉีด ภายใน 72 ชั่วโมง (european society of urogenital radiology ปี2542) หรือพูดง่ายๆคือ ‎ไตแย่ลงภายในสามวัน‬ ยังกะคำสาปเลยครับแย่ลงในสามวัน ผู้ป่วยส่วนมากก็จะหายดี แต่ก็มีบางส่วนที่จะต้องรักษาอาการไตวาย คนไข้ที่จะต้องรักษาภาวะนี้มีน้อยมากๆนะครับ และส่วนใหญ่จนถึงเกือบทั้งหมดจะพบในผู้ที่เสี่ยงต่อการเกิดไตวายอยู่แล้ว จึงเกิดมาตรการการป้องกันและคัดกรองขึ้นครับ (เพราะมันป้องกันได้ครับ) ท่านก็ไม่ต้องกังวลจนกลัวการฉีดสารทึบรังสีนะครับ บางอย่างก็จำเป็นต้องตรวจครับ เรามาดูกันว่าใครเสี่ยง ท่านหรือเปล่า ???‬

1.กลุ่มที่ไตเสื่อมอยู่เดิม โดยเพาะวัดการกรองของไตได้น้อยกว่า 60 (eGFR<60) บางตำราบอกว่า 45 นะครับ ไอ้เจ้าค่านี้ทางโรงพยาบาลเขาจะคำนวณให้ท่านตอนเจาะเลือดครับ

2.กลุ่มผู้สูงอายุ โดยเฉพาะ 70 ปี

3. กลุ่มที่ภาวะการทำงานของร่างกายยังไม่เป็นปกติ เช่นยังช็อกอยู่ หัวใจบีบตัวไม่ดี พวกนี้ควรรอให้ดีก่อนครับ

ส่วนเรื่องการขาดสารน้ำในตัวอยู่เดิม การได้รับยาที่อันตรายต่อไตอยู่ก่อนเช่นยาลดความดันกลุ่ม"อีปริ้ว"หรือ"ซาทาน" โรคเบาหวาน กลุ่มความเสี่ยงอันหลังๆนี้มีการศึกษาน้อยครับ เป็นแต่เพียงความเห็นของผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ จะเห็นว่ากลุ่มคนที่จะเกิดไตมีปัญหาจากการฉีดสารทึบรังสีมีไม่มากนะครับ แต่ถ้าเกิดก็จะวุ่นวาย เสียเงิน เสียเวลา ‎และเสียดายเนื่องจากป้องกันได้นะ‬
    ปัจจัยที่มีผลมากจริงๆคือ ปริมาณสารครับ ฉีดมากฉีดบ่อยก็จะเกิดมาก (ควรเว้น 72 ชั่วโมงครับ) ชนิดของสารทึบรังสีครับ ถ้าใช้ชนิดที่เข้มข้นเท่ากับเลือดของเราหรือบางมีเข้มข้นน้อยกว่าเลือดของเราก็จะช่วยลดโอกาสเกิดอันตรายได้ครับ และการฉีดเข้าหลอดเลือดแดงก็จะมีโอกาสเกิดอันตรายมากกว่าหลอดเลือดดำ ดังนั้นการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจ ฉีดสีที่ขา หรือที่สมอง ก็จะอันตรายกว่าฉีดทางเลือดดำที่ใช้ในการถ่ายเอกซเรย์ต่างๆครับ

   แล้วการป้องกันล่ะ--มีไหม--มีครับ (KDIGO) ผมจะไม่ลงรายละเอียดมากนักนะครับ มันจะเป็นการติวท่านไปสอบวุฒิบัตรไป ไม่ใช่เรื่องสนุกๆ การป้องกันทำในคนกลุ่มเสี่ยงครับ ที่มีการศึกษายืนยันคือ การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำก่อนฉีดสีง่ายๆก็น้ำเกลือเรานี่แหละครับ ก่อนและหลังฉีดสี -- การใช้ยา N-acetylcysteine ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระแบบกิน ก่อนและหลังการฉีดสี --ส่วนการหยุดยาที่ใช้อยู่ในกรณีที่ยานั้นอาจเป็นผลเสียต่อไต ยังไม่มีข้อกำหนดชัดเจนครับ แต่ส่วนตัวแล้วหยุดไปเถอะครับถ้าหยุดได้
วันนี้เครียดหน่อย หลังเฮฮามาหลายวัน สลับๆกันครับ

อ้างอิง *อายุรศาสตร์ทันยุค 2557 ,ศิริราช
อ.นัฐสิทธิ์ ลาภปริสุทธิ
*nephrology board review 2013, สมาคมโรคไต
อ.อดิศว์ ทัศณรงค์
*KDIGO official website and guidelines


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม