26 กรกฎาคม 2558

คุณรู้ไหมโลกมีสองด้านเสมอ‬

คุณรู้ไหมโลกมีสองด้านเสมอ‬ 

เมื่อผู้ป่วย บอกว่า ไปรักษาโรคนี้โน้นนั้น มาจากที่นี่ ที่โน่น ที่นั่น แล้วไม่ดีขึ้น ขอเริ่มใหม่ได้ไหม คนเป็นหมอ จะได้ฟังเรื่องราวและข้อผิดพลาด รวมทั้งการตอบสนองของการรักษาของหมอคนก่อนๆๆ ทำให้วินิจฉัยง่าย ให้ยาที่จะไม่พลาดอีก แล้วคนไข้ล่ะ รู้หรือไม่ว่าการตรวจวันนี้มันไปอธิบายโรคที่ผ่านการรักษามาแล้วไม่ได้หรอก และยาที่ให้อาจเป็นยากลุ่มเดียวกันแต่คนละยี่ห้อเท่านั้น โรคที่ได้รับการวินิจฉัยวันนี้ก็อาจจะเป็นคนละเรื่องกันที่เคยรักษามา
เมื่อผู้ป่วย มีอาการอะไรสักอย่างแล้วมาตรวจเทสต์ทุกอย่าง หรือบางคนซื้อแพ็กเกจตรวจสุขภาพเลย คนเป็นหมอ ก็อาจไม่ได้ใช้ผลการตรวจเหล่านั้นเลย หรือบางทีมีผลการตรวจบางอย่างที่มันผิดปกติ แต่ไม่ตรงกับสิ่งที่เกิด คนไข้อาจถูกยัดเยียดโรคไปให้ เช่นปวดหลัง แต่พบมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ก็จะพาลไปพูดและรักษาไวรัสซี..แล้วปวดหลังล่ะ !! แล้วคนไข้ล่ะ ลงทุนตรวจไปตั้งมากมายเพราะเชื่อว่าเทคโนโลยีมันตอบทุกอย่างได้ อยากได้สุขภาพที่ดี อาจได้โรคกลับไปแทน ผมได้ยินมามาก "วันนี้ไม่ส่งตรวจเอกซเรย์เข้าอุโมงค์หรือ เห็นทุกคนบอกว่าเข้าแล้วรู้หมดทุกโรค"

เมื่อผู้ป่วยเข้ามาขอความเห็นที่สอง โดยตั้งใจว่าหมอหลายๆคนจะพูดเหมือนกันหรือไม่ คนเป็นหมอ ก็จะรู้สึกประหม่า ไม่กล้า ไม่คม ไม่เฉียบ คิดหรือพูดก็จะต้องระวังไม่ให้กระทบกระเทียบความรู้สึกของหมอด้วยกัน คนไข้อาจไม่ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเลย แล้วคนไข้ล่ะ บางทีอาจได้ความสับสนจากข้อมูลที่ให้หมอแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำแนะนำของหมอแต่ละคนก็จะต่างกัน เชื่อใครดีล่ะ?? (จริงๆผมแนะนำให้เอาข้อมูลแต่ละที่ไปด้วย จะได้เกิดความต่อเนื่องในการรักษาและเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย)
เมื่อผู้ป่วยเข้ามาโรงพยาบาลเอกชน โดยตั้งใจว่าจะได้การรักษาที่ดีกว่า ยาดีกว่า คนเป็นหมอ ก็อาจใช้ทรัพยากรอย่างสิ้นเปลือง ทำอะไรที่ไม่จำเป็นหรือเกินจำเป็น เพื่อรักษาความคาดหวังมากกว่ารักษาคนไข้และโรค ค่ารักษาจึงแพงเอาๆ ทั้งๆที่จริงๆผลการรักษาอาจไม่ต่างกัน แล้วคนไข้ล่ะ ได้การรักษาหรือการตรวจที่ดูเหมือนดีจากความสวยงามและราคา ทำให้พอใจ แต่อาจไม่เกิดประโยชน์มากนักหรือบางทีเกิดโทษ ผมเคยพบผู้ป่วยติดเชื้อปอดอักเสบในชุมชนที่ตอบสนองต่อยาง่ายๆ แต่กลับได้รับยาฆ่าเชื้อกลุ่ม carbapenem ที่เก็บไว้ใช้กับเชื้อดื้อยาใน รพ. ประมาณว่าแรงดี หมอสบายใจ คนไข้สบายใจ ผลที่เกิดแพ้ยา และเชื้อดื้อยา

    เมื่อผู้ป่วยอาการหนักจำเป็นต้องได้รับการปรึกษาจากหมอหลายๆคน หลายๆสาขา คนเป็นหมอ ก็เบาแรง มีคนมาช่วยดูหลายคน ตัวเองไม่ต้องดูปัญหามากนัก ความคิดรอบคอบจะลดลง แล้วคนไข้ล่ะ อาจรู้สึกอุ่นใจที่มี superdoctor มากมายมาดูแล แต่จริงๆในที่ทีระบบไม่ดีนัก ผู้ป่วยอาจถูกฉีกเป็นส่วนๆ ดูแลแต่ละส่วนอย่างดี แต่ไม่มีใครเอามาประกอบเหมือนเดิมเลย งานใครงานมัน เหมือนแยกอะไหล่รถไปซ่อมในที่ที่เจ๋งที่สุด แต่ถ้าไม่เอามาประกอบให้ลงตัว สุดท้ายอะไหล่ขั้นเทพอย่างไร รถก็วิ่งไม่ได้อยู่ดี

โลกสองด้าน มีให้คิดแต่อย่าวิจารณ์ดังๆนะครับ เดี๋ยวจะมีคนตามไปปรับทัศนคติ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม