18 ตุลาคม 2562

(colonic diverticulum)

ผนังลำไส้ใหญ่โป่งพองเป็นกะเปาะ (colonic diverticulum)
ลำไส้ใหญ่เป็นอวัยวะที่เกิดโรคได้มากเมื่อเข้าสู่วัยที่สูงขึ้น ไม่ว่าหลอดเลือดผิดปกติ ติ่งลำไส้ เนื้องอก มะเร็ง วันนี้เราจะพูดถึงกะเปาะที่ยื่นจากผนังลำไส้ คำว่ากะเปาะนี้คือส่วนที่โป่งยื่นออกไปจากผนังด้านใน ยื่นออกไปสู่ผนังด้านนอก แตกต่างจากติ่งลำไส้ที่ยื่นจากผนังลำไส้เข้ามาในโพรงช่องว่างลำไส้ ทำไมอยู่ดี ๆ จึงมีกะเปาะโผล่ออกมาได้
เพราะผนังลำไส้อ่อนแอลงตามวัย หรืออาจมีพันธุกรรมบางอย่างที่เกิดขึ้น แต่เหตุผลหลักคือผนังอ่อนแอตามวัยที่เพิ่มขึ้น เราพบว่าจุดที่มักจะยื่นออกไปนั้นคือจุดที่หลอดเลือดจากภายนอกแทงทะลุจากด้านนอกเข้ามาเลี่้ยงในลำไส้ จุดนั้นเป็นจุดอ่อนแอ ขาดเลือดและบกพร่อง เมื่อไปรวมกับการเคลื่อนที่ลำไส้ที่ลดลงในผู้สูงวัย ต้องเบ่งอุจจาระ มีจุลชีพในลำไส้ที่ผิดปกติไป เป็นองค์ประกอบที่ทำให้เกิดกะเปาะยื่นออกไป ซึ่งจะยื่นได้สองลักษณะ
คือ ยื่นแบบเป็นหลุมเป็นแอ่ง ส่วนที่ยื่นออกไปมีผนังลำไส้ครบทุกชั้น อีกแบบคือโป่งเป็นกะเปาะเฉพาะเยื่อบุด้านใน เหมือนมีหลุมแล้วเอาแผ่นยางปิดปากหลุมแล้วดันเฉพาะแผ่นยางลงไป เรียกว่า pseudodiverticulum และกะเปาะที่เกิดส่วนมากก็เกิดแบบนี้ครับ แล้วเกิดกะเปาะแล้วอย่างไร
ทำให้เกิดเลือดออกทางเดินอาหารได้ เกือบหนึ่งในสี่ของเลือดออกทางเดินอาหารส่วนล่างมาจากสาเหตุนี้ ทำให้เกิดการอักเสบ ติดเชื้อหากมีการอุดตัน มีอุจจาระไปตกค้างแล้วมีแบคทีเรียไปสร้างนิคมอยู่ที่นั่น มีอาการติดเชื้ออักเสบ อาจโป่งพอง มีหนองหรือแตกออกจนเป็นอันตรายได้ สำหรับเลือดออกนั้น อาการจะชัดเจนมีการรักษาที่ชัดเจนคือ หาจุดเลือดออกแล้วหยุดมันเสีย ปัจจุบันนิยมใช้การสวนสายสวนหลอดเลือดแล้วถ่ายภาพดูว่าเลือดออกที่ใด หลังจากนั้นฉีดสารไปอุดหลอดเลือด แต่ถ้าเลือดออกมาก ๆ จะใช้การผ่าตัดแทน
สำหรับการอักเสบจะมีอาการปวดท้อง มักปวดด้านล่างมากกว่าด้านบน ซ้ายมากกว่าขวา มีไข้ มีอาการท้องอืด ไม่ผายลม หากอาการไม่รุนแรงที่เรียกว่า Symptomatic Uncomplicated Diverticular Disease (SUDD) ส่วนมากจะให้ยาฆ่าเชื้อครอบคลุมเชื้อในช่องท้องและให้พักลำไส้ อาการจะดีขึ้นได้ และอาการต้องแยกจากอีกหลายโรค ความสำคัญคือต้องมีการถ่ายภาพรังสี แนะนำเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ และมีการตรวจเลือดที่บ่งชี้เรื่องการอักเสบ ใช้ในการแยกโรคอื่น ๆ โดยเฉพาะอักเสบในอุ้งเชิงกราน
ถ้าอักเสบมาก ๆ หรือมีหนองจะกดเจ็บ หรือคลำได้ก้อน หรือถ้าก้อนแตกจะมีเยื่อบุช่องท้องอักเสบรุนแรง การรักษาคือการผ่าตัดครับ
คราวนี้ถ้าไม่อักเสบ ไม่มีเลือดออก แค่ตรวจพบเฉย ๆ เท่านั้น หรือเคยเป็นมาแล้ว เราอาจจะชลอการเกิดกะเปาะเพิ่ม และป้องกันการอักเสบได้โดยการกินอาหารที่มีเส้นใยมาก ๆ ทั้งเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำเพื่อเป็นกากอาหารให้มีก้อนอุจจาระ ถ่ายคล่อง เพิ่มการเคลื่อนที่ลำไส้ และเส้นใยที่ละลายน้ำ เพิ่มการเคลื่อนที่และเป็นอาหารของจุลิทรีย์ในลำไส้ (ปัจจุบันเราไม่เรียก normal flora แล้ว เราเรียกว่า gut microbiota) งานวิจัยต่าง ๆพบว่าช่วยได้จริง โดยแนะนำให้กินอาหารที่มีเส้นใยสูงอย่างน้อย 30 กรัมต่อวัน แนะนำข้าวกล้อง ผัก ผลไม้ ถั่วเมล็ดแข็ง ถ้าไม่ได้จริง ๆ ค่อยเพิ่มอาหารเสริมไฟเบอร์
การใช้ Probiotics คือเชื้อโรคอันมีคุณประโยชน์ต่อลำไส้นั้นมีที่ใช้ในกรณีที่กินอาหารไฟเบอร์สูงแล้วยังได้ผลไม่ดีหรือเกิดซ้ำบ่อย ไม่ว่าจะเป็น Lactobacillus หรือ Bifidobacterium ที่มีจำหน่ายในไทยแล้ว หรือใช้ยา Rifaximin เพื่อป้องกันการเกิดซ้ำได้ ทั้งสองวิธีนี้ผลดีสู้อาหารไฟเบอร์ไม่ได้ครับ
ถ้าท่านไม่ทราบว่ามีกะเปาะหรือไม่ ผมแนะนำกินอาหารที่หลากหลาย เพิ่มผัก ผลไม้ ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อไม่ให้ท้องผูกและการเคลื่อนที่ของลำไส้ทำได้ดี รวมทั้งออกกำลังกายประจำเพื่อเพิ่มการเคลื่อนที่ลำไส้ด้วย สุดท้ายคำแนะนำต่าง ๆ ก็ดูจะคล้าย ๆ กันนะเนี่ย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม