26 ตุลาคม 2561

เราไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนกับคนไข้ทุกคน

เราไม่จำเป็นต้องให้ออกซิเจนกับคนไข้ทุกคน
เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนควรทราบ บางครั้งเราเห็นว่าคนไข้เข้ามาในโรงพยาบาลจะได้รับการใส่สายออกซิเจน หรือเวลาคนไข้เหนื่อยก็มักจะเข้าใจว่าออกซิเจนทำให้หายเหนื่อย แต่ความจริงมันไม่เป็นแบบนั้นเลย
ในช่วงสองถึงสามปีมานี้ มีหลายการศึกษาทางการแพทย์ที่เป็นแบบการทดลองเลยนะครับ ว่าการให้ออกซิเจนในโรคต่าง ๆ ในระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนที่ระดับต่าง ๆ มีผลต่ออัตราการเสียชีวิตอย่างไร ผลการรักษาอย่างไร การศึกษาที่ทำออกมามาก ๆ คือ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมองตีบเฉียบพลัน โรคระบบทางเดินหายใจกำเริบเฉียบพลัน การศึกษาวิจัยแต่ละฉบับอ่านยาก ต้องอาศัยความรู้เรื่องสถิติมาก แต่....วารสารนี้ที่ตีพิมพ์ใน British Medical Journal ได้สรุปคำแนะนำการให้ออกซิเจนมาเป็นแบบอินโฟกราฟฟิก สีพาสเทลสวย ๆ ที่สำคัญอ่านฟรีด้วย ใครที่สนใจผมทำอ้างอิงและลิงก์มาให้ด้านล่างแล้ว เป็นมิติใหม่ของวารสารการแพทย์เลย
และขอสรุปคร่าว ๆ ว่า
ในการเจ็บป่วยเฉียบพลันทั่ว ๆ ไป ไม่มีหลักฐานว่าการให้ออกซิเจนจนความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วเกิน 97% จะเกิดประโยชน์ (ในกรณีมีความจำเป็นต้องได้ออกซิเจน) และมีหลักฐานว่าทำให้อัตราการเสียชีวิตเพิ่มด้วย
ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง หรือหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน ถ้าความอิ่มตัวออกซิเจนปลายนิ้วเกิน 92% การให้ออกซิเจนไม่เกิดประโยชน์และมีโอกาสเพิ่มอัตราการเสียชีวิต (ตัวเลขจะวิ่งอยู่ที่ 90-92%)
บางภาวะยิ่งต้องระวังเช่น ถุงลมโป่งพอง หรือภาวะหายใจล้มเหลวจากแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์คั่ง ยิ่งให้ออกซิเจนมากยิ่งเป็นผลเสีย แต่บางภาวะเช่นลมรั่วในเยื่อหุ้มปอดหรือพิษจากแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ จะต้องใช้ออกซิเจนความเข้มข้นสูง ตั้งเป้าความอิ่มตัวที่ระดับ 100%
สิ่งที่ต้องคำนึงด้วยเช่น การใส่สายออกซิเจนก็จำกัดการเคลื่อนที่ เพิ่มโอกาสการติดเชื้อ เพิ่มโอกาสเกิดเลือดกำเดาไหล และมีค่าใช้จ่ายที่เกิด (โดยไม่จำเป็น) นอกจากนี้การให้ออกซิเจนจะต้องมีการติดตามผลจากการให้ออกซิเจน ว่าให้เพราะอะไร จะเลือกขนาดการรักษาเท่าไร ตอนนี้ได้เป้าหมายหรือยัง ต้องปรับแต่งอย่างไร สมควรหยุดหรือยัง มีผลข้างเคียงเกิดหรือยัง
ไม่ใช่ให้แล้วให้เลย รักษาใจหมอ เพิ่มความอุ่นใจให้ผู้ป่วยและญาติ แต่ว่าจริง ๆ อาจไม่มีประโยชน์และเกิดโทษด้วยซ้ำ ออกซิเจนเป็นหนึ่งในการรักษาที่ "ไม่สมเหตุสมผล" มากที่สุดอันหนึ่งในประวัติศาสตร์การรักษา จนมาถึงปัจจุบันและอาจจะผิดพลาดต่อไปอีกหากเราไม่ทบทวนแก้ไข
ให้ออกซิเจนเมื่อต้องให้ ถ้าจะใช้ทบทวนก่อน
ออกซิเจนไม่ใช่โดราเอมอน คิดให้ดีก่อนจะให้กับใคร
ที่มา...แนะนำอย่างแรงให้อ่าน บุคลากรทางการแพทย์ทุกระดับอ่านได้ และฟรี
Siemieniuk Reed A C, Chu Derek K, Kim Lisa Ha-Yeon, Güell-RousMaria-Rosa, Alhazzani Waleed, Soccal Paola M et al. Oxygen therapy for acutely ill medical patients: a clinical practice guideline BMJ 2018; 363 :k4169
https://www.bmj.com/content/363/bmj.k4169…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม