18 พฤศจิกายน 2560

โรคหัวใจและควันบุหรี่

โรคหัวใจและควันบุหรี่ ... คำแนะนำอันดับหนึ่งของทุกๆแนวทาง
ก่อนหน้านี้เราพูดถึงนักฆ่าหมายเลขหนึ่งของโลกไปแล้ว ..ความดันโลหิตสูง..เราย้อนมาดูนักฆ่าหมายเลขสามของโลกบ้าง บุหรี่ วันก่อนเราได้เรียนรู้ว่าการสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดแดงในสมองแตกสองเท่าถ้าเทียบกับคนไม่สูบ วันนี้มาดูเรื่องหลอดเลือดหัวใจบ้าง
เมื่อสักไม่กี่เดือนผมเคยนำเสนอแนวทางในการดูแลผู้ป่วยหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันของยุโรป หากใครพลิกดูจะพบว่าคำแนะนำการปฏิบัติตัวข้อหนึ่งเลยคือ เลิกบุหรี่
ความเป็นจริงคือไม่ว่าคุณจะเป็นคนสูดควันบุหรี่เอง หรือว่าเป็นคนที่สูดทางอ้อมเพราะใกล้ชิดคนสูบบุหรี่ คุณเสี่ยงทั้งคู่ มีการศึกษายืนยันเป็นการศึกษาขนาดใหญ่ที่ชื่อว่า Tromso Study ศึกษาข้อมูลความสัมพันธ์ของผู้สูบบุหรี่ทั้งมือหนึ่งและมือสองกับอัตราการเกิดโรคหัวใจ ทำในประเทศนอร์เวย์ ต้องบอกก่อนว่าประเทศในแถบยุโรปเหนือนั้นเขาพัฒนาเรื่องการลดละเลิกบุหรี่อย่างจริงจัง จนจะเป็นพิมพ์เขียวให้กับทั้งโลกนี้ได้
ตั้งโจทย์ว่าติดตามคนที่สูบบุหรี่ไปสิบเอ็ดปี ตั้งแต่ปี1974 หลังจากติดตามและปรับตัวแปรต่างๆตามวิชาสถิติแล้วพบว่า แค่คุณสูบคุณเสี่ยง ยังสูบอยู่นั้นความเสี่ยงเพิ่ม 1.5-2.0 เท่าถ้าเทียบกับไม่สูบ หญิงชายเสี่ยงพอๆกัน สูบมากเสี่ยงมากกว่าสูบน้อย
คนที่เลิกแล้วก็ยังเสี่ยง (เพราะเคยสูบนั่นเอง) แต่เสี่ยงน้อยลง เป็น 1.2-1.5 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่สูบเลย ชายจะเสี่ยงกว่าหญิงเล็กน้อย เลิกนานๆความเสี่ยงก็ลดลง แต่ยังมากกว่าคนที่ไม่เคยสูบอยู่ดี
ประเด็นคือตรงนี้ ถ้าคุณเป็นกลุ่มคนที่ได้รับควันมือสองคุณเสี่ยงด้วย ตั้งแต่ 1.0-1.3 เท่า ..นี่ขนาดไม่สูบนะแค่อยู่ด้วยเฉยๆ และถ้าอยู่ด้วยกันมาเกิน 20 ปี ความเสี่ยงโรคหัวใจของคุณจะมากกว่าอยู่กับคนไม่สูบบุหรี่ #อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ# และยิ่งอายุน้อยก็ยิ่งเสี่ยงมาก เพราะได้รับควันต่อเนื่องนาน และควันบุหรี่มือสองนี้ผลชัดในเด็ก
***ก่อนไปต่อ ขอตรงนี้ก่อนบ้านไหนมีเด็ก ขอเลิกสูบเถอะครับ ความเสี่ยงจะไปตกอยู่กับเด็กโดยที่เขาไม่รู้เรื่องเลย***
ไม่ใช่การศึกษานี้อย่างเดียว หลายๆการศึกษาที่เป็นการศึกษาไปข้างหน้าพบว่า เมื่อสูบบุหรี่คุณเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดชัดเจน ไม่ว่าจะสูบแค่ไหน หรือหยุดไปแล้วก็ตาม และยังสร้างความเสี่ยงให้คนที่ไม่สูบอีกด้วย
ระยะหลังเริ่มมีการศึกษาติดตามด้วยว่า ในคนที่สูบบุหรี่แล้วตัดสินใจหยุดบุหรี่ก่อนจะเกิดโรคหัวใจ โอกาสการเกิดโรคหัวใจน้อยลงกว่าคนที่ยังสูบต่อไป ...อันนี้ก็ดูตรงไปตรงมาดีนะ แต่มันก็มีข้อมูลยืนยันหนักแน่นมากขึ้น แม้ว่าจะไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
ส่วนที่มีนัยสำคัญชัดๆคือกลุ่มคนที่เป็นโรคแล้ว หากยังไม่เลิกบุหรี่ โอกาสเกิดซ้ำมากกว่าคนที่เลิกอย่างชัดเจน
ดังนั้น..คิดดีๆก่อนจะเริ่มสูบ
ดังนั้น ..คิดดีๆก่อนจะจุดสูบ
ดังนั้น..คิดดีๆ ก่อนจะพ่นควัน
ดังนั้น...ถึงเวลาเลิกแล้วหรือยัง
ยังไม่จบนะ เราจะมาว่ากันต่อว่า แม้ข้อมูลเป็นเยี่ยงนี้แต่เรากลับไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร ผมจะเอาข้อมูลการศึกษาใหม่ๆมาประกอบบทความ เราจะได้รู้ทัน ป้องกัน ภัยจากบุหรี่ ฆาตกรหมายเลขสามของโลกมิลเลนเนียม
อยากอ่านต่อ ขอใจ ไลค์สักคนละดวงนะ พ่อจ๋าแม่จ๋า...จาก ลุงหมอ เลียบด่วน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความที่ได้รับความนิยม